xs
xsm
sm
md
lg

BGRIM มั่นใจไม่เข้าข่ายรัฐเลื่อนจ่ายไฟ SPP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



BGRIM คาดไม่ได้รับผลกระทบการเลื่อนรับซื้อไฟฟ้า SPP ตามที่กระทรวงพลังงานพิจารณา เชื่อว่าส่วนใหญ่เป็น SPP ไบโอแมส ประเภท SPP Hybrid Firm ที่จะทยอยจ่ายไฟในช่วง 1-2 ปีนี้มีต้นทุนค่าไฟสูง ขณะที่โครงการ SPP Replacement จำนวน 5 โครงการของบริษัทฯ จ่ายไฟให้ลูกค้าโรงงานเป็นส่วนใหญ่ และขายให้ กฟผ.แค่ 30 เมกะวัตต์/โรง หากเข้าข่ายเลื่อนจ่ายไฟกระทบลูกค้าโรงงาน 130 ราย

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงานเตรียมเจรจากับผู้ประกอบการกิจการโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก หรือ SPP (กำลังผลิตไฟฟ้า 10-90 เมกะวัตต์) ให้เลื่อนกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) เพื่อบริหารจัดการไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงในปี 2563 จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในเรื่องนี้ว่าจะให้เลื่อน COD โรงไฟฟ้า SPP ประเภทเชื้อเพลิงชนิดใด

ในเบื้องต้นทราบว่า กระทรวงพลังงานอาจจะพิจารณาเจรจากับเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ของโรงไฟฟ้า SPP ที่มีกำหนด COD ในช่วงปี 2563-64 และโครงการที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงให้เลื่อนกำหนด COD ออกไป 1-2 ปี ซึ่งน่าจะเป็นโรงไฟฟ้าไบโอแมสประเภท SPP Hybrid Firmที่มีค่าไฟสูง 3.66-4 บาท/หน่วย แต่โรงไฟฟ้า SPP ที่ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงมีค่าไฟอยู่ระดับ 2.80 บาท/หน่วย ขึ้บกับต้นทุนค่าก๊าซฯ

ดังนั้น บริษัทฯ คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเจรจาเลื่อนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโรงไฟฟ้า SPP เนื่องจากในช่วงปี 2563-64 บริษัทไม่มีโรงไฟฟ้าที่จะเข้าสู่ระบบ ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ได้รับการต่ออายุสัญญา หรือ SPP Replacement จำนวน 5 โครงการ กำลังผลิตรวม 700 เมกะวัตต์ ของ BGRIM นั้นมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แค่ 30 เมกะวัตต์ต่อโรง แต่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ จึงไม่สามารถเลื่อนกำหนด COD ออกไปได้ มิฉะนั้นจะกระทบกัต่อลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมทั้ง 130 ราย

ปัจจุบัน BGRIM มีโรงไฟฟ้า SPP ในมือทั้งหมด 20 โรงรวม กำลังการผลิตติดตั้ง 2,520 เมกะวัตต์ ดำเนินการ COD แล้วทั้งหมด 15 โรงเหลืออีก 5 โรงที่ทยอย COD ในปี 2565 และอยู่ระหว่างศึกษาเข้าซื้อกิจการอีก 2 โรงไฟฟ้า SPP ในประเทศไทยอีก 2 โรงรวมกำลังการผลิตกว่า 200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น