xs
xsm
sm
md
lg

BGRIM หั่นเป้ารายได้ใกล้เคียงปี 62 เหตุพิษโควิดฉุดลูกค้าชะลอผลิต-พัฒนาโรงไฟฟ้าล่าช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บี.กริม เพาเวอร์หั่นเป้ารายได้ปีนี้โตใกล้เคียงปี 62 จากเดิมที่เคยคาดเติบโต 10-15% ต่อฮุบโรงไฟฟ้า SPP ในไทย 2-3 โรง กำลังผลิตรวม 300 เมกะวัตต์ คาดรู้ผลชัดเจนในปีนี้

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทฯ ปรับลดเป้าหมายรายได้และกำไรปี 2563 ลงเป็นโตเล็กน้อยหรือใกล้เคียงปีก่อนที่มีรายได้ 4.46 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 2.33 พันล้านบาท จากเดิมที่เคยตั้งไว้ว่าบริษัทจะมีรายได้ปีนี้เติบโต 10-15% สืบเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ชะลอการผลิตในช่วง เม.ย.ที่ผ่านมานี้ก่อนจะกลับมาผลิตตามปกติในเดือน พ.ค.นี้ และการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าต้องล่าช้ากว่าแผนเฉลี่ยโครงการละ 2-3 เดือน

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทฯ ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าเพิ่มเติมรวม 30 เมกะวัตต์ (MW) ตามสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า โดยขณะนี้ได้มีการจ่ายไฟฟ้าไปแล้ว 14 เมกะวัตต์ และจะทยอยจ่ายไฟฟ้าอีก 16 เมกะวัตต์ในครึ่งปีหลัง รวมทั้งจะรับรู้รายได้จากการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เข้ามาเต็มปีของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 677 เมกะวัตต์

นางปรียนาถกล่าวถึงแผนการลงทุน 5 ปี (2563-67) ว่า บริษัทฯ ไม่เปลี่ยนแปลงงบการลงทุน 5 ปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ 7-7.5 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้รองรับการลงทุนพัฒนาโครงการในมือ และการเข้าซื้อกิจการ (M&A) โดยบริษัทฯ มองโอกาสเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลม ประเทศเกาหลีใต้ กำลังการผลิตเกือบ 200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปีนี้ รวมถึงยังมองโอกาสของโรงไฟฟ้าพลังงานลม ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในประเทศเวียดนาม โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์-ก๊าซธรรมชาติ และ Transmission and Distribution System (T&D) ในประเทศกัมพูชา

ส่วนประเทศมาเลเซีย ปัจจุบัน BGRIM ยังอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และก๊าซธรรมชาติ ขนาด 200 เมกะวัตต์ และขยายกำลังผลิตเพิ่มอีก 150 เมกะวัตต์ ซึ่งมีความล่าช้าจากการล็อกดาวน์ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

สำหรับประเทศไทย บริษัทก็อยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 2-3 แห่ง กำลังการผลิตรวม 300 เมกะวัตต์ คาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปีนี้

ดังนั้น บริษัทมั่นใจบรรลุเป้าหมายกำลังการผลิตที่ 5 พันเมกะวัตต์ในปี 2565 จากปีนี้มีกำลังผลิตอยู่ที่ 3,058 เมกะวัตต์

วันนี้ (27 พ.ค.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณาอนุมัติให้ใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ให้กับบริษัทฯ แล้ว หลังจากบริษัทมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ และปรับลดตัวเลขปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เหลือ 6.5 แสนตันต่อปีตามที่ กกพ.แนะนำ โดย LNG นำเข้ามาเพื่อป้อนโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ที่สร้างทดแทน SPP เดิมที่หมดอายุจำนวน 5 โรง และมีสิทธิ์ในการค้าส่ง LNG ด้วย

ปัจจุบันราคา LNG ตลาดจรต่ำมากเฉลี่ย 2 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ขณะที่ราคาก๊าซฯ ที่บริษัทซื้อจากปตท.เฉลี่ย 260 บาท/ล้านบีทียู แต่ปลายปีนี้ราคาก๊าซฯ ที่รับจาก ปตท.จะปรับลดลงมาอยู่ที่ 223 บาท/ล้านบีทียูตามสูตรโครงสร้างราคาก๊าซฯ ที่สะท้อนตามราคาน้ำมัน


กำลังโหลดความคิดเห็น