"กุลิศ" สั่งการ กฟผ. จัดทำแผนนำเข้าแอลเอ็นจี ล็อตใหม่ รับแผนนำเข้าระยะยาวเพื่อหนุนการเป็น Shipper รายที่ 2 ของประเทศ เล็งป้อนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ทดแทน ชุดที่ 1 หลังเริ่มทดสอบนำเข้า 2 ล็อต โดยล็อตแรกจะเข้ามา 28 ธ.ค.นี้ ได้ราคาต่ำ กดค่าไฟถูก พร้อมถกบอร์ด กฟผ. 26 ธ.ค.นี้ สรุปความคืบหน้าแผนลงนามกับ ปตท. ในสัญญา Global DCQ
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ไปจัดทำแผนการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ล็อตใหม่ (ล็อตที่ 3 เป็นต้นไป) เพื่อรองรับแผนการนำเข้าแอลเอ็นจี ระยะยาว ตามแนวนโยบายส่งเสริมกิจการก๊าซฯเสรีของประเทศ ที่ต้องการให้กฟผ. เป็นผู้ให้บริการจัดหาและนำเข้า (Shipper)รายที่ 2 ของประเทศ ในการทดสอบระบบโครงสร้างพื้นฐานตามข้อกำหนดของรัฐบาลที่เปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้คลัง และท่อก๊าซของ บมจ. ปตท. ( TPA)โดยให้เสนอบอร์ด กฟผ. พิจารณาภายใน ม.ค.63
"หาก กฟผ.จะนำเข้าแอลเอ็นจีล็อตใหม่ ก็ต้องไปจัดทำแผนงานมาให้ชัดเจน เช่น แผนในปี 2563 -2565 จะนำเข้าไปใช้ในโรงไฟฟ้าใด ปริมาณเท่าไร นำเข้าในรูปแบบสัญญาระยะยาว หรือระยะสั้น จากตลาดจร (Spot)ซึ่งเบื้องต้น กฟผ.ได้รายงานว่ามีแผนจะนำเข้าล็อตใหม่ ไปป้อนเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ทดแทน ชุดที่ 1 จ.สมุทรปราการ กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในอนาคตถูกลงได้ เป็นต้นโดยแผนดังกล่าวจะต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ภายในเดือนม.ค.63 และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือนก.พ.63" นายกุลิศ กล่าว
ปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างทดสอบนำเข้าแอลเอ็นจี ล็อตแรก รูปแบบตลาดจร (Spot)วันที่ 28 ธ.ค.นี้ ปริมาณ 65,000 ตัน มาถึงท่าเทียบเรือมาบตาพุด จ.ระยอง และ ล็อตที่ 2 อีก 65,000 ตัน ในเดือน เม.ย.63 เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5 จ.ฉะเชิงเทรา และโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 พระนครศรีอยุธยาของกฟผ. ซึ่งได้มอบหมายให้จัดทำรายงานผลการนำเข้าล็อตแรก เพื่อนำมาแสดงให้ภาครัฐเห็นถึงประโยชน์นำเข้าของ กฟผ. ที่ทำราคาต่ำ อยู่ที่ 5.32 เหรียญสหรัฐ ต่อล้านบีทียู ซึ่งพบว่า จากการคำนวณต้นทุนผลิตไฟฟ้าในเบื้องต้น จะช่วยให้ต้นทุนถูกลงราว 0.1 สตางค์ ต่อหน่วย
ดังนั้นเมื่อเร็วๆนี้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน จึงให้นโยบายการจัดหาแอลเอ็นจี ของ กฟผ.ที่จะนำเอาการจัดหาดังกล่าวไปรวมอยู่ในสูตรโครงสร้างการคำนวนราคาก๊าซฯ ของประเทศ ที่เป็นสูตรราคาก๊าซเฉลี่ยรวม หรือ Pool Gasเพื่อเฉลี่ยให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศในอนาคตถูกลง
อย่างไรก็ตาม การประชุมบอร์ด กฟผ.วันที่ 26 ธ.ค.นี้ จะพิจารณาความคืบหน้าในเรื่องสัญญาหลักซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ( Global DCQ) ระหว่างบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และกฟผ.ซึ่งเป็นสัญญาที่ใช้กับโรงไฟฟ้าของกฟผ. เพื่อเกิดความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงก๊าซฯ และมีความยืดหยุ่น ในการจัดหาเชื้อเพลิง ก๊าซฯโดยเสรี ที่ไม่มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า เพื่อให้เป็นไปตามคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.62 ที่เห็นชอบให้ ปตท.และ กฟผ.ไปเจราในรายละเอียดบางประเด็นให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน เพื่อให้สามารถดำเนินการลงนามสัญญา Global DCQได้ภายในปีนี้ จากนั้นขั้นตอนต่อไป จะเป็นกระบวนการพิจารณาจากคณะกรรมการ กฟผ. อัยการสูงสุด กบง. และนำเสนอ กพช. ต่อไป