กฟผ.เสนอแผนนำเข้า LNG ล็อตใหม่ระหว่างปี 2563-2565 ต่อ กบง. คาดนำเข้าปีแรกจะช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้ประมาณ 1,600 ล้านบาท หรือคิดเป็นต้นทุนค่าเชื้อเพลิง Ft ลดลงประมาณ 0.86 สตางค์ต่อหน่วย หวังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยจากค่าไฟที่ลดลง พร้อมกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีในตลาดก๊าซฯ เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้า LNG ในตลาดเอเชีย (LNG Hub)
นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ได้เสนอแผนการจัดหา LNG ของ กฟผ. ระหว่างปี 2563-2565 เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและบริหารจัดการต้นทุนค่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกำหนดเป็น 2 แนวทาง คือ การจัดซื้อระยะยาว โดยจัดซื้อจาก ปตท.ภายใต้สัญญาหลักซื้อขายก๊าซธรรมชาติ Global DCQ และการจัดซื้อระยะสั้น โดยจัดหา LNG เพิ่มเติมในส่วนที่เกินจากปริมาณตามข้อผูกพันในสัญญากับ ปตท. ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการ กฟผ.ได้มีมติเห็นชอบแนวทางดังกล่าวแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอ กบง.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในเดือนมีนาคมนี้
ทั้งนี้ หาก กฟผ.สามารถดำเนินการจัดหา LNG ได้ตามที่คณะกรรมการ กฟผ.เห็นชอบ คาดว่าจะสามารถช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกของแผนการจัดหา LNG ล็อตใหม่ได้ประมาณ 1,600 ล้านบาท หรือส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในค่า Ft ลดลงประมาณ 0.86 สตางค์ต่อหน่วย นอกจากนี้ การนำเข้า LNG ของ กฟผ.ยังช่วยเสริมความมั่นคงในการจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในรูปแบบของ LNG เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติของประเทศ และพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้า LNG ในตลาดเอเชีย (LNG Hub) ต่อไป
สำหรับกรณีการจัดหาและนำเข้า LNG แบบตลาดจร (SPOT) ปริมาณไม่เกิน 200,000 ตัน ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 นั้น ปัจจุบัน กฟผ.ได้ดำเนินการนำเข้า LNG ลำเรือแรกพร้อมส่งมอบจำนวน 65,000 ตันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28-29 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศต่ำ (Off-Peak) ณ สถานี LNG มาบตาพุด จ.ระยอง และสำหรับการนำเข้า LNG ลำเรือที่สอง ในปริมาณ 65,000 ตัน จะเริ่มดำเนินการในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศสูง (Peak)
ทั้งนี้ การนำเข้า LNG กฟผ.นับเป็นความสำเร็จในการทดสอบระบบเปิดให้บุคคลที่สามใช้หรือเชื่อมต่อระบบ (Third Party Access : TPA) เพื่อพัฒนาและปรับปรุงข้อกำหนด หลักเกณฑ์ของ TPA ก่อนที่จะเปิดการแข่งขันเสรีก๊าซฯ อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งทำให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบถึงกระบวนการจัดหา LNG ตลอดจนแนวทางการบริหารจัดการสำหรับผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (Shipper) รายใหม่ และเพื่อให้หน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้องได้ศึกษารายละเอียดและหาแนวทางแก้ไขร่วมกันต่อไป