xs
xsm
sm
md
lg

“กกพ.” เคาะตรึงค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค.ฝ่าด่าน “โควิด-19” ดึงเงิน 5,120 ล้านบาทเบรกขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกพ.ลงมติตรึงเอฟทีงวด พ.ค.-ส.ค. 2563 ต่อเนื่อง หลังประเมินสถานการณ์ “โควิด-19” ยังไม่คลี่คลายโดยเร็ว หวังลดภาระค่าไฟช่วยภาคธุรกิจ และค่าครองชีพพี่น้องประชาชน ควัก 5,120 ล้านบาทเบรกขึ้นราคา 8.03 สตางค์ต่อหน่วย พร้อมถกการไฟฟ้าลดอีกระลอกตามมติ ครม.เร็วๆ นี้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้คงอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บเดือน พ.ค.-ส.ค. 2563 จำนวน -11.60 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย ต่ออีก 4 เดือน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 5,120 ล้านบาทในการบริหารจัดการเพื่อตรึงค่าเอฟที

“กกพ.ได้ประเมินสถานการณ์ผลกระทบโดยรวมของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว โดยที่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลายโดยเร็ว ดังนั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ จึงยังคงดำเนินการบริหารจัดการเพื่อตรึงค่าเอฟทีต่อเนื่องอีก 4 เดือน ซึ่งหากคิดตามต้นทุนจริงแล้วค่าเอฟทีจะต้องปรับขึ้นประมาณ 8.03 สตางค์ต่อหน่วย" นายคมกฤชกล่าว

แนวโน้มเอฟทีงวดต่อไปมีแนวโน้มจะลดลงเนื่องจากราคาเชื้อเพลิงมีโอกาสปรับลด ส่วนนโยบายรัฐที่กำหนดกรอบให้มีการลดค่าไฟฟ้าตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 10 มีนาคมนั้นจะมีการหารือในรายละเอียดกับการไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องเร็วๆ นี้

สำหรับภาวการณ์ในระยะ 4 เดือนที่เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้น สำหรับการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าดังกล่าวยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งคาดว่าราคาเชื้อเพลิงในช่วงนี้มีแนวโน้มลดลง อาทิ ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลงตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม การประมาณการค่าเอฟทีต้องนำภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากส่วนต่างค่าเอฟทีประมาณการกับค่าเอฟทีที่เกิดขึ้นจริงมาพิจารณาเพิ่มเติมด้วย ซึ่งในครั้งนี้ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นดังกล่าวมาจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากประมาณการไว้

ทั้งนี้ เงินในการบริหารจัดการเอฟทีในงวด พ.ค.-ส.ค. 2563 จำนวน 5,120 ล้านบาท นำมาจากการกำกับฐานะการเงินของการไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ กกพ.กำหนด

สำหรับปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในงวด พ.ค.-ส.ค. 2563 ในรายละเอียด ประกอบด้วย
1. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 2563 เท่ากับ 69,920 ล้านหน่วย ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2563 ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 65,724 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.38 ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน
2. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 2563 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ร้อยละ 58.34 ถ่านหิน ร้อยละ 16.32 และการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ร้อยละ 16.20
3. แนวโน้มราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับ 263.19 บาทต่อล้านบีทียู ปรับตัวลดลงจากงวดที่ผ่านมา 3.50 บาทต่อล้านบีทียู ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าเอกชน
อยู่ที่ 2,488.19 บาทต่อตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา 16.59 บาทต่อตัน

4. อัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 31.70 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่ากว่าช่วงที่ประมาณการในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2563 ซึ่งใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนกันยายน 2562 ที่ 30.60 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กกพ.ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นค่า Ft สำหรับการเรียกเก็บประจำเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2563 ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12-26 มีนาคม 2563 ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น