"กฟผ." เด้งรับนโยบาย "สนธิรัตน์" จ่อชงแผนนำเข้า LNG เพื่อเปิดประมูลนำเข้าล็อตใหม่ (รอบที่ 3) ป้อน 3 โรงไฟฟ้าปริมาณต่ำกว่าล้านตัน หลังพบราคาตลาดโลกรูดต่ำเหลือเพียง 4 เหรียญต่อล้านบีทียู แถมบาทแข็งจังหวะดีหลายด้านช่วยทำให้ค่าไฟถูกลง คาดนำเข้าครึ่งปีหลัง
นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มอบหมายให้ กฟผ.และ บมจ.ปตท.ไปศึกษาแนวทางการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในช่วงจังหวะที่ราคาตลาดโลกลดต่ำและไม่ให้กระทบต่อสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก หรือ Global DCQ ว่า ขณะนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนนำเข้าเพื่อเสนอกระทรวงพลังงาน ซึ่งเบื้องต้นจะนำมาป้อนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับ 3 โรงไฟฟ้า ได้แก่ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ จ.สมุทรปราการ โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่กระบวนการเปิดประมูลนำเข้า LNG ล็อตใหม่ (รอบที่ 3) ได้ราว พ.ค.-มิ.ย. 63 และจะนำเข้าได้ช่วงครึ่งปีหลังปริมาณคาดว่าจะไม่ถึง 1 ล้านตัน
"กว่าจะผ่านขั้นตอนการเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก็จะเหลือเวลานำเข้าในช่วงครึ่งปีหลังเท่านั้น ปริมาณจึงเหลือไม่มากนักไม่ถึง 1 ล้านตัน" นายธวัชชัยกล่าว
สำหรับการนำเข้า LNG ในขณะนี้มีข้อดีที่สำคัญ ได้แก่ 1. ราคา LNG ตลาดโลก (อ้างอิง LNG JKM Spot) ล่าสุดเคลื่อนไหวระดับเพียง 4 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู (รวมค่าขนส่ง) ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (Pool) เฉลี่ย 7 เหรียญต่อล้านบีทียู 2. ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังเอื้อให้การนำเข้ามีต้นทุนต่ำเพิ่มอีก 3. สงวนทรัพยากรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ไม่ผ่านโรงแยกก๊าซฯ ป้อนปิโตรเคมีที่มีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น
4. ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยระหว่างวันที่ 1-23 ม.ค. 63 อยู่ที่ 11,940 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 5.94% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2562 เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น โดยอุณหภูมิเฉลี่ย 23 วันของเดือน ม.ค. 63 (1-23 ม.ค.) อยู่ที่ 34 องศาเซลเซียส จากเดือน ม.ค. 62 เฉลี่ยอยู่ที่ 32.1 องศาเซลเซียส ทำให้คาดว่าทั้งปี 63 ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจะเติบโตราว 4% สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ประเมินว่าจะเติบโตราว 2% จากปี 62 มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 197,700 ล้านหน่วย และ 5. เมื่อต้นทุนต่ำจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าถูกลง
นายธวัธชัยยังกล่าวถึงความคืบหน้าการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก หรือ Global DCQ ระหว่าง กฟผ.กับ บมจ.ปตท.นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดส่งร่างสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ให้สำนักงานอัยการสูงสุด ตรวจสอบความถูกต้อง คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาฯ กับ ปตท.ได้ในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ ส่วนปริมาณซื้อขายก๊าซฯ ภายใต้สัญญา Global DCQ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 3.5-5 ล้านตันต่อปี โดยมีอายุสัญญา 10 ปี (ปี 2563-2572) จากปัจจุบัน กฟผ.มีความต้องการใช้ก๊าซเพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 5-6 ล้านตันต่อปี
ส่วนการจัดหาก๊าซฯ เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี กำลังผลิตรวม 2 ยูนิต 1,400 เมกะวัตต์ ขณะนี้ กฟผ.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาประเมินความเหมาะสมของพื้นที่ในการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้า LNG ว่าควรจะดำเนินการในรูปแบบใด ระหว่างการจัดสร้างคลังรับ-จ่าย LNG บนบก และคลังรับ-จ่าย LNG ลอยน้ำ (FSRU) รวมถึงการกำหนดพื้น และขนาดที่เหมาะสม คาดว่าจะได้ข้อสรุปกลางปีนี้ ส่วนปริมาณความต้องการใช้ LNG นั้น เบื้องต้นคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี