ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อาจเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย ที่ทำให้ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค เพราะปล่อยเงินกู้ให้พรรคตัวเอง ยังสามารถออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นในนาม “คณะก้าวหน้า” หลังรัฐบาลส่งสัญญาณว่า จะให้มีการจัดการเลือกตั้งภายในสิ้นปีนี้ได้
เพราะแม้จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง จนทำให้มีลักษณะต้องห้าม ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งใดๆ ได้ แต่ไม่ได้ห้ามในแง่ของการสนับสนุนหรือเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น
ไม่แปลกที่ “ธนาธร” จะกระโจนลงทุ่มสุดตัวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะมันเป็นเวทีเดียวที่จะทำให้ตัวเองยังมี “ตัวตน” ทางการเมือง
เพราะหากมองย้อนกลับไปภายหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงตัว “ธนาธร” บทบาทของเขาค่อยๆ ลดลง
โดยเฉพาะช่วงไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ระบาดหนัก ชื่อของ “ธนาธร” และ “คณะก้าวหน้า” ที่ตัวเองจัดตั้งขึ้นมาเคลื่อนไหวนอกสภา แทบไม่ได้รับความสนใจเมื่อเทียบกับตอนยังมีพรรคอนาคตใหม่
เวทีเลือกตั้งท้องถิ่นจึงเป็นเวทีเดียว ที่ตัวเองจะมี “สถานะ” ทางการเมืองได้อีกครั้ง ในฐานะผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของบุคคลที่ลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นในนาม “คณะก้าวหน้า”
หาก “ธนาธร” ไม่อยากมีสถานะจริง คงเลือกที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นในนาม “พรรคก้าวไกล” ไม่ใช่ “คณะก้าวหน้า”
นั่นเพราะ “ธนาธร” ก็ไม่ได้ยินดีปรีดากับสถานะตัวเองในปัจจุบัน รวมไปถึงหัวหน้าขัดตาทัพอย่าง “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ว่ากันว่า “คอนโทรลไม่ค่อยได้”
“พิธา” เล่นการเมืองคนละสไตล์ และไม่สุดโต่งเหมือนกับ “ธนาธร” ซึ่งย่อมไม่ถูกจริตคนอย่าง “ไพร่หมื่นล้าน” ที่ต้องการ “รื้อ-ล้าง -เปลี่ยน” แบบหักด้ามพร้าด้วยเข่า
นอกจากนี้ “เสี่ยทิม” ยังฝากผีฝากไข้ไม่ได้ บางจังหวะ “ได้-เสีย” ที่เป็นช่วงสำคัญ ก็หายตัว อ้างว่า ไปผ่าตัดรักษาตัวเอง
ล่าสุดการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่หลายฝ่ายจับจ้อง ยกให้เป็นไฮไลต์ตั้งแต่ก่อนงาน ก็ทำไม่ได้สมยี่ห้อ
การอภิปรายมุ่งเน้นพรีเซนต์ตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องการโอนงบของรัฐบาล แต่ไม่สมราคา ไม่หวือหวาอย่างที่ทุกคนคาดหวัง กึ่งๆ จะแป้กด้วยซ้ำ แม้แต่คนในพรรคเพื่อไทยยังแอบสงสัยว่า เป็นรายการ “มวยล้มต้มคนดู” อีกหรือไม่
ขณะที่ในแง่การประสานงานกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน “ทิม” กลายเป็น “เอกเทศ-เอาแต่ตัวเอง” ที่เข้าหาได้ยาก จนผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายค้านพรรคอื่น เลือกจะไปคุยบรรดาลูกพรรคก้าวไกลแทน เวลาจะประสานงานกัน
กลายเป็นแรงผลักให้ “ธนาธร” ต้องการกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง ไม่สามารถรอได้ถึง 10 ปี โดยยัดชื่อตัวเองเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ในโควตาพรรคก้าวไกล
หนนี้ “ธนาธร” ไม่ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่ง ทั้งที่เมื่อครั้งเป็นกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ประกาศลาออก หลังจากที่ตัวเองถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พ้นจาก ส.ส.ไม่นาน
โดยอ้างอย่างพระเอกว่า ในเมื่อเขาไม่ต้องการให้เข้าสภาฯ ก็ไม่อยู่ พร้อมจะออกไปเคียงข้างประชาชนข้างนอก
แต่แล้วครั้งนี้กลับ “กลืนน้ำลาย” ตัวเอง
ขณะที่การชิงเคลื่อนไหวเร็วเรื่องเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนคนอื่น ก็ต้องการจะลอกโมเดลความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ เมื่อครั้งส่ง ส.ส.ลงสมัครรับเลือกตั้ง จนโกยเก้าอี้มาได้ 80 ตัวในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการเปิดตัวพรรคอนาคตใหม่ก่อนวันเลือกตั้งประมาณ 1 ปี
“ธนาธร” หวังใช้โมเดลการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่เล่นกับกระแสจนประสบความสำเร็จ เพื่อมาใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกครั้ง
เพียงแต่ว่า ความมั่นใจของ “ธนาธร” ในครั้งนี้ กับความสำเร็จเมื่อครั้งยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ มีหลายปัจจัยที่แตกต่างกัน และไม่อาจก๊อปปี้มาใช้ได้ทั้งหมด
เพราะปัจจัยการเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเลือกตั้งระดับชาติมี “ตัวแปร” ที่แตกต่างกันจำนวนมาก และไม่สามารถเอา “กระแส” มาล่อใจประชาชนให้กากบาทให้ได้
การเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยเฉพาะเรื่อง “ตัวบุคคล” ที่โดดเด่นกว่า “พรรคการเมือง”
การเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา ประชาชนมักจะเลือกคนที่อยู่ในท้องที่ คุ้นหน้าคุ้นตา และช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอดเป็นหลัก มากกว่า “ต้นสังกัด” ที่มีหรือไม่มีก็ได้
บ่อยครั้ง จึงได้เห็นหลายพรรค หลายกลุ่ม ที่แม้เป็นขั้วตรงข้ามกันบนการเมืองสนามใหญ่ มาแท็กทีมกันเฉพาะกิจในการเมืองสนามเล็ก
แต่สำหรับ “คณะก้าวหน้า” ยังคิดแบบ “ข้ามาคนเดียว”
และลืมคิดอีกว่าการใช้ชื่อ “คณะก้าวหน้า” เพื่อโกยคะแนน เหมือนกับพรรคอนาคตใหม่ที่ขาย “ธนาธร” เมื่อการเลือกตั้ง ส.ส. จึงกระทำได้ยาก
การจะเอาตาสีตาสาที่ไหนก็ไม่รู้ ซึ่งไม่เคยช่วยเหลือดูแลพื้นที่ คลุกคลีกับชาวบ้าน มาลงสมัครในนาม “คณะก้าวหน้า”
นอกจากนี้ ประเด็นเรื่อง “แรงจูงใจ” ในการไปใช้สิทธิ์ระหว่างการเลือกตั้ง ส.ส.กับการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ต่างกัน โดยการเลือกตั้ง ส.ส. บรรดาแฟนคลับตั้งใจไปเลือกพรรคเพื่อต้องการให้ “ธนาธร” เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่การเลือกตั้งท้องถิ่น จบที่ตัวผู้สมัคร
ที่สำคัญ ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า หรือนอกเขตเลือกตั้ง
ดูแล้วหมากเกมนี้ของ “ธนาธร” ยังเหมือนการพาพรรคก้าวไกล “คาบเส้น” ยุบพรรค เพราะแน่นอนว่า ในการลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น ย่อมต้องใช้ ส.ส.ในพื้นที่เข้าไปช่วยสนับสนุนอีกแรง
การให้ ส.ส.ซึ่งสังกัดพรรคก้าวไกลมาสังฆกรรม ก็ไม่ต่างอะไรกับการร่วม หรืออยู่ใต้การบงการ หารือ แนะนำ ของชายชื่อ “ธนาธร” ที่มิวายต้องถูกสังคมเพ่งเล็ง ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะพาพรรคไปสู่การถูกยุบพรรค ภาค 2
ยกเว้น “ธนาธร” มีจุดหมายที่ใหญ่กว่าคือ จงใจจะล่อให้มีการยุบพรรคก้าวไกล เพื่อจะหาเงื่อนไขปลุกม็อบอีกรอบ
อย่างไรก็ดี การประกาศตัวจะกวาดเก้าอี้เลือกตั้งท้องถิ่น ยังเป็นการ “เหยียบเท้า” พรรคร่วมฝ่ายค้าน เพราะอย่าลืมว่า หลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือ เจ้าของเดิมคือ พรรคเพื่อไทย
ในทางการเมืองถือว่า เสียมารยาทซึ่งถือเป็นการไม่รักษาน้ำจิตน้ำใจ หรือกติกาของการอยู่ร่วมกัน แม้แต่การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สมุทรปราการ ก็ชิงประกาศจะส่งผู้สมัคร ทั้งที่คนที่ได้คะแนนมาอันดับ 2 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 คือ “เพื่อไทย” ในเขตนี้
ในยามที่ต้องการเพิ่มปริมาณเก้าอี้ ส.ส.ในสภาฯ แข่งกับฝ่ายรัฐบาล แต่ “พรรคก้าวไกล” กลับเลือกที่จะส่งผู้สมัครโดยพลการ โดยไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่าง “เพื่อไทย” ก่อน
จนสุดท้ายต้องมาฟาดฟัน ตัดคะแนนกันเอง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการเตะหมูเข้าปากหมา ให้กับพรรคพลังประชารัฐ ที่ส่งเจ้าของเดิมอย่าง กรุงศรีวิไล สุทินเผือก มาป้องกันแชมป์
พรรคเพื่อไทยเองจ้องตาเขม่นกับเรื่องนี้ กับพรรครุ่นหลายที่หวังจะมา “วัดรอยเท้า” จนเสียการใหญ่
ติดนิสัยเด็กจ้องแต่จะเอาชนะโดยไม่สนมิตรภาพ
มิวายต้องพูดถึง กรณีเงินบริจาคช่วงโควิด-19 ที่คณะก้าวหน้าเปิดรับ โดยจะแจกแบบไม่ต้องคัดกรอง หวังเบิ้ลบลัฟใส่เงินเยียวยา 5,000 บาทของรัฐบาล แต่แล้วก็เละไม่เป็นท่า ไร้ทั้งระบบที่มีประสิทธิภาพ และไร้ความโปร่งใส
กระทั่งล่าสุดถูก * นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ออกมาจับพิรุธ สเตทเม้นของคณะก้าวหน้าเรื่องการรับบริจาคเงินช่วยโควิด-19 ซึ่งมีความผิดปกติหลายอย่าง ตั้งแต่ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ เพราะโครงการมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือรายละ 3,000 บาท แต่กลายเป็นว่าเอาเงินบางส่วนไปจ่ายค่าน้ำประปา หรือยังมีเงินสดเก็บไว้ ไม่โอนช่วยเหลือให้หมด หรือปิดโครงการแต่ไม่ปิดบัญชี
นอกจากนี้ ยังจับโป๊ะแตก หลังตรวจสอบพบว่า มีถึง 15 รายชื่อ ที่สงสัยว่าไม่ได้มีการโอนเงินจริง แต่เป็นพวก “อวตาร”
ทว่า แทนที่ “น้องช่อ” พรรณิการณ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า จะชี้แจงแบบมีรายละเอียดเพื่อจะโต้กลับอย่างสมเหตุสมผล กลับงัดมุกเบสิกของนักการเมืองโบราณมาสู้ นั่นคือ ค่อนแคะปมของ “หมอวรงค์” ที่แพ้เลือกตั้ง
“รู้สึกเห็นใจ หมอวรงค์ เพราะสอบตกแพ้พรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้ง และต้องการมีที่ยืนทางการเมือง เป็นที่น่าเสียดายที่ หมอวรงค์เคยลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหากชนะก็จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นบทบาทของในการทำประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติ”
ถือเป็นการตอบโต้แบบ “การเมืองรุ่นเก่า” หรือจะเรียกอีกนัยหนึ่งว่า “แถ” ไปเรื่องอื่น โดยหยิบปมด้อยของอีกฝั่งมาเย้ยหยันแทน ซึ่งคนละประเด็นกัน
เช่นเดียวกับการเดินหน้า “ฟ้อง” นพ.วรงค์ ซึ่งมักเป็นวิธีการของ “นักการเมืองเก่าๆ” ที่มักใช้ “ปิดปาก” ฝั่งตรงข้าม หรือผู้ตรวจสอบ ให้ไม่กล้าเดินหน้าตรวจสอบต่อไป.