ข่าวปนคน คนปนข่าว
** 3 ป.จะไปต่อไหวมั้ย พรรคใหญ่คะแนนนิยมลดฮวบ “ถ้าวันนี้เลือกตั้ง” ก้าวไกลแรง พปชร. กอดคอ ปชป. ลงเหว
เมื่อสำนักวิจัย “ซูเปอร์โพล” เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง “ถ้าวันนี้เลือกตั้งพรรคใดชนะ” ถือว่าน่าสนใจทีเดียว
ว่ากันว่า ช่วงนี้นับตั้งแต่พรรคพลังประชารัฐ เพื่อไทย และ ประชาธิปัตย์ ต่างมีปัญหาภายใน ทำให้คะแนนนิยมตกต่ำกันเป็นแถว โดยเฉพาะ พลังประชารัฐ แม้ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะมานั่งคุมเป็นหัวหน้าพรรคด้วยตัวเองก็ตาม และแม้พรรคจะพยายามสร้างภาพลักษณ์ขึ้นมาใหม่ แต่ก็จมดิ่งอยู่กับเรื่อง “แย่งชามข้าว” และที่ตกเป็นดรามามาแรงจนพากันแหกโค้ง ด้วยการเสนอตัวคนที่จะมาดูแลนโยบายเศรษฐกิจไม่ดูตาม้าตาเรือ จนสังคมร้อง “ยี้” ไม่ไว้วางใจ
ล่าสุด “ซูเปอร์โพล” ได้สะท้อนเสียงของประชาชน ความเชื่อมั่นภายหลังจากที่พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยคนที่จะให้ดูแลงานด้านเศรษฐกิจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 67.3 ระบุ แย่ลงกว่าทีมเดิม ในขณะที่ ร้อยละ 32.7 ระบุว่า ดีกว่าทีมเดิม
แน่นอนว่า ภาพรวมพรรคไม่ดี แต่ถ้าเป็นตัวบุคคลเมื่อโพลถามถึงการสนับสนุน “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แก้ปัญหาวิกฤตต่างๆ ของประเทศและประชาชน พบว่าส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 56.9 ยังสนับสนุนให้ทำหน้าที่ต่อไป ในขณะที่ ร้อยละ 43.1 ไม่สนับสนุน
ที่น่าสนใจคือ เมื่อโพลถามถึง ส.ส.ของพรรคการเมือง ที่เคยเลือกในการเลือกตั้งครั้งก่อนใน ปี 2562 พบว่า ร้อยละ 18.9 ระบุ พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 16.6 ระบุ พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 15.1 ระบุพรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 11.7 ระบุ พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 7.2 ระบุ พรรคภูมิใจไทย และ ร้อยละ 2.6 ระบุ พรรคชาติไทยพัฒนา ตามลำดับ
แต่เมื่อถามถึง ส.ส.ของพรรคการเมืองที่จะเลือก “ถ้าวันนี้เลือกตั้ง” พบว่า ร้อยละ 16.7 จะเลือกพรรคก้าวไกล เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากพรรคอนาคตใหม่ชื่อเดิม รองลงมาคือ ร้อยละ 15.7 ระบุเลือกพรรคเพื่อไทย ซึ่งตัวเลขลดลงเล็กน้อย ในขณะที่ ร้อยละ 8.7 ระบุ พรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 8.3 ระบุ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งทั้งสองพรรค ได้รับความนิยมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ในขณะที่ พรรคภูมิใจไทย ได้ร้อยละ 6.0 อย่างไรก็ตาม จำนวนมากหรือร้อยละ 41.2 ระบุอื่นๆ เช่น ต้องการเลือกพรรคการเมืองที่ทำ “การเมืองใหม่” และบางส่วนจะเลือกพรรคการเมืองอื่นๆ ตามลำดับ
“นพดล กรรณิกา” ผอ.ซูเปอร์โพล ฟันธงจากผลโพลชี้ให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใดๆ กลับกลายเป็นผลดี ที่ทำให้สามารถเลือกใช้บริการพรรคการเมืองต่างๆ ได้ โดยจะใช้บริการพรรคการเมืองแบบเก่า ที่กำลังจะไปไม่รอด หรือ พรรคการเมืองที่เป็น “การเมืองใหม่” ที่ประชาชนกำลังอยากลอง ถึงแม้ยังไม่เคยทำงานแต่พูดเก่ง มีลีลาโดนใจ ถ้าถึงเวลานั้น นายกรัฐมนตรียังเป็นที่นิยมอยู่ คงต้องเปลี่ยนการใช้บริการพรรคการเมืองที่เป็นฐานวิถีชีวิตการเมืองใหม่ (New Normal) ที่ไม่วุ่นวาย ไม่แย่งตำแหน่ง ไม่ทรยศ ไม่เสร็จนาฆ่าโคถึก แต่ตั้งใจทำงานจริงตอบโจทย์ตรงเป้าความต้องการของประชาชนได้แท้จริงที่ไม่ใช่พรรคการเมืองกลุ่มเดิมนี้แล้ว และตอนนั้น “3 ป.” จะเหลือใครบ้าง ... น่าติดตาม
โพลมาแบบนี้ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่างานนี้ลุงๆ 3 ป. จะไปต่อไหวมั้ย
** เดิมพันสูง!! พรรคก้าวไกล เสนอชื่อ “ธนาธร” ที่มีมลทิน ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง นั่ง กมธ.วิสามัญพิจารณางบฯ 64 จะผิดกฎหมายพรรคการเมืองหรือไม่ ขณะที่ “ช่อ” แกนนำ “คณะก้าวหน้า” ก็กำลังติดบ่วงเงินบริจาค !!
หลังจากสภาผู้แทนราษฎร รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 และให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแปรญัตติ ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระ 2 -3 ทางพรรคก้าวไกล หรือ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ก็เสนอชื่อ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี จากกรณีถูกยุบพรรค เข้ามาร่วมเป็น กมธ.วิสามัญชุดนี้
เห็นชัดถึงเจตนาป่วน!! ท้าทายข้อกฎหมายเพื่อให้เกิดการตีความว่า ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ยังสามารถเป็น กมธ.วิสามัญในสภา ได้หรือไม่ และจะกลายเป็นเงื่อนไขทางการเมืองในที่สุด
เรื่องนี้ “นันทิวัฒน์ สามารถ” อดีตรอง ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ในหัวข้อ “นี่หรือคนรุ่นใหม่” ท้วงติงว่า ... โบราณมีคำกล่าวว่า กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี หมายความ สยามประเทศจะมีคนดี คนเก่ง เกิดขึ้นมาเสมอ เพื่อมากอบกู้บ้านเมืองในยามที่บ้านเมืองมีวิกฤต...แต่แปลกใจที่พรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ ดูเหมือนจะสิ้นไร้ไม้ตอก ไปเอาคนที่ถูกห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมาเป็น กมธ.งบประมาณ ในโควตาของพรรค
บุคคลที่ถูกศาล รธน. มีคำวินิจฉัยตัดสิทธิ์ ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ห้ามจดทะเบียนพรรค ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง คนเหล่านี้นับได้ว่าเป็น “โมฆะบุรุษทางการเมือง” ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับกิจการทางรัฐสภา หรือการเมืองใดๆ อีกเป็นเวลา 10 ปี
... ระวังนะ พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 29 บัญญัติว่า ... ห้ามผู้ใดที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจการของพรรคในลักษณะที่ทำให้พรรค หรือสมาชิกขาดความเป็นอิสระ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม...
แม้กฎหมายจะไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของคนที่จะเข้ามาเป็น กมธ.งบประมาณไว้ชัดแจ้ง แต่ในทางปฏิบัติ พรรคการเมืองจะเสนอชื่อ ส.ส.ของพรรคเป็น กมธ. เพื่อเรียนรู้ เตรียมตัวก้าวดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สูงขึ้น ไม่ใช่เอา “โมฆะบุรุษ” มาเป็น กมธ. หรือพรรคนี้ไม่มีคนดี คนเก่ง ในพรรคหลงเหลืออยู่เลย...
พร้อมเตือนไปยัง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่า ... ระวังอย่าทำผิด รธน. ซ้ำซ้อน คนรุ่นใหม่อย่าผิดซ้ำรอยคนรุ่นเก่าเลย... เชื่อเถอะ !!
เช่นเดียวกับ “พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม” ส.ว. ก็โพสต์เฟซบุ๊ก การเมืองไทย ในกะลา ว่า... การเมืองไทยสิ้นไร้นักการเมืองดีๆ แล้วหรือ...ไม่น่าเชื่อว่า พรรคก้าวไกล ที่ชอบอ้างว่าเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ มีแนวความคิดใหม่ๆ “แต่ไร้ซึ่งจริยธรรม ไม่มีความละอาย” ไปเสนอชื่อคนที่มีมลทินทางการเมืองเข้ามาทำงานการเมือง ช่างไม่ละอายทั้งคนที่เสนอชื่อ และคนที่ถูกเสนอ แล้วเช่นนี้จะมาสร้างการเมืองใหม่ได้อย่างไร !!
แต่ดูเหมือนว่า “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่มาเคลื่อนไหวในนาม “คณะก้าวหน้า” จะไม่ยี่หระกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ โดยบอกว่า การเข้าไปเป็น กมธ.วิสามัญงบประมาณนั้น จะทำงานอย่างเต็มที่ ให้สมกับที่ได้รับการแต่งตั้งจากสภา ให้เข้าไปตรวจสอบการใช้งบฯ ของฝ่ายบริหาร และเข้าไปเสนอแนะแนวทางการใช้งบฯ ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
“ธนาธร” ยังเอาสีข้างเข้าถูก ต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียล ที่รื้อฟื้นเรื่องเก่าถึง ตอนที่ลาออกจาก กมธ.วิสามัญงบประมาณปี 63 เคยบอกว่า จะไม่ขอทำงานในสภาอีกแล้วว่า... นั่นเป็นเรื่องของปีที่แล้ว ส่วนการโดนตัดสิทธิ์ทางการเมืองนั้น เป็นการตัดสิทธิ์์ ไม่ให้ลงรับสมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่า สิทธิ์ความเป็นพลเมืองถูกตัดออกไป ... ดังนั้น การมาเป็น กมธ.วิสามัญงบประมาณ หรือการทำงานการเมืองท้องถิ่น เป็นสิทธิ์ในฐานะพลเมือง ที่จะสามารถทำได้ โดยไม่มีกฎหมายข้อใดบังคับ ...
การที่ “ธนาธร” อ้างว่าผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ยังทำงานการเมืองท้องถิ่นได้ เพราะเขาเพิ่งเปิดอาคารไทยซัมมิท จัดติวเข้มว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และตั้งเป้าจะส่งผู้สมัครองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4,000 แห่ง จากทั้งหมดประมาณ 7,000 แห่งทั่วประเทศ
ดังนั้น สิ่งที่น่าจับตามอง ก็คือ กรณี “ธนาธร” ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคก้าวไกล หรือ “ลูกน้องเก่า” ให้เป็น กมธ.วิสามัญพิจารณางบประมาณปี 64 จะผิดหรือไม่ เพราะเชื่อว่า ถ้าฟังจาก “ธนาธร” แล้ว คงยากที่เขาจะทบทวนเรื่องนี้ ส่วนผิดหรือไม่ คงเป็นหน้าที่ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านกฎหมายจะให้คำตอบ!!
เช่นเดียวกับกรณี ของ “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช ที่เคลื่อนไหวในนาม “คณะก้าวหน้า” ก็อยู่ในความสุ่มเสี่ยงเช่นกัน หลังจากที่ถูก “บุญเกื้อ ปุสสเทโว” อตีตผู้ช่วย ส.ส. พรรคภูมิใจไทย แฉว่า การเปิดรับบริจาคในโครงการเมย์เดย์เมย์เดย์ ไม่โปรงใส และเรื่องราวก็บานปลายถึงขั้นฟ้องร้องกันในศาล งานนี้ “คณะก้าวหน้า” กุมข้อเท็จจริง หรือ ฝ่ายแฉ มีข้อเท็จจริงที่เด็ดกว่า ...ต้องติดตาม
เกมนี้ของ “ธนาธร” เดิมพันทั้ง “พรรคก้าวไกล“ และ “คณะก้าวหน้า”...ผลจะเป็นอย่างไร อีกไม่ช้าคงได้รู้กัน !!