xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้งท้องถิ่นกระเพื่อม ระดับชาติมีทั้งบวก-ลบ !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
เมืองไทย 360 องศา




หลายคนประเมินตรงกันแล้วว่า การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นน่าจะต้องเกิดขึ้นภายในปลายปีนี้ และที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยกล่าวว่า จะมีขึ้นราวปลายปี แต่ระบุว่า อาจเป็นการเลือกตั้งในบางระดับ และก็ไม่ได้ขยายความเพิ่มว่าเป็นการเลือกตั้งในประเภทใด เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเทศมนตรี หรือ นายองค์การบริหารส่วนจังหวัด แต่เอาเป็นว่าหากพูดแบบนี้แล้ว ก็ต้องถือว่ามีการเลือกตั้งท้องถิ่นแน่ในปลายปีนี้

เพราะหากไม่ให้มีการเลือกตั้งในปีนี้ ก็ต้องถือว่า “น่าเกลียด” เกินไป ถึงจะยื้อก็ทำได้แค่ปลายปีนี้ ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งหากยังเลื่อนออกไปเรื่อยๆ มันก็อาจถูกมองว่าเป็นการ “ตุกติก” เสียภาพทางการเมืองลงไปอีก

อย่างไรก็ดี บรรยากาศในเวลานี้ถือว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเมืองในระดับท้องถิ่น ที่หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวและบรรยากาศโดยทั่วไปถือว่าเริ่มมีการ “ตื่นตัว” ขึ้นมาในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนหนึ่งมาจากการว่างเว้นจากการเลือกตั้งในระดับนี้มานานหลายปีแล้ว ทุกระดับในปัจจุบันเป็นแบบ “รักษาการ” ทั้งสิ้น ตั้งแต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่แม้ว่าเวลานี้จะมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ดำรงตำแหน่งอยู่ก็ตาม แต่ก็มาจากการใช้อำนาจคำสั่งตาม มาตรา 44 ในอดีต

ส่วนในระดับท้องถิ่นอื่นๆ ทั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ล้วนครบวาระ และรักษาการกันยาว รวมไปถึงนายกเทศมนตรีต่างๆ ลงไปจนถึงระดับนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่หากมีการเสียชีวิต หรือมีเหตุต้องพ้นหน้าที่ไป ก็มีการรักษาการโดยปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ ปลัด อบต.ในหลายพื้นที่ ที่สำคัญก็คือ เมื่อเป็นแบบนี้การตรวจสอบย่อมไร้ประสิทธิภาพ ทำให้เกิดข่าวการทุจริต มีเรื่องร้องเรียน รวมไปถึงการจับผิด ตรวจสอบจากภาคประชาชนจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี หากมองจากสภาพความเป็นจริงแล้ว ส่วนสำคัญก็มาจากความไม่พร้อมของฝ่ายรัฐบาล จึงต้องยื้อออกไปให้นานที่สุด แต่ถึงอย่างไรการเลือกตั้งท้องถิ่นถือว่าเป็น “ไฟต์บังคับ” ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้นจนได้ เพราะยิ่งยื้อ ก็จะยิ่งกลายเป็นการ “สร้างเงื่อนไข” เพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวที่สร้างบรรยากาศให้การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และเชื่อมโยงกับการเมืองในระดับชาติ รวมไปถึงอาจเป็นการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างขนานใหญ่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนนั่นเอง

ทั้งในเรื่องของแนวโน้มการ “ตื่นตัว” ของประชาชนในทุกระดับมากขึ้น ที่น่าจับตาก็คือ การ “เร้า” สถานการณ์แบบผิดปกติของบางกลุ่ม เท่าที่เห็นในตอนนี้ก็มี “กลุ่มก้าวหน้า” ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ถูกตัดสิทธิ์การเมือง 10 ปี จากการทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง โดยพวกเขากำลังเดินสาย “ปลุก” ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น พร้อมทั้งประกาศสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 18 จังหวัด โดยยังไม่ได้พูดถึงผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมากนัก

แน่นอนว่า หากไม่ต้องพูดถึงเรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการห้ามคนที่ทุจริต หรือทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง การเลือกตั้งยุ่งเกี่ยวการเมืองแล้วว่าสามารถทำได้แค่ไหน ก็ต้องยอมรับว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้สร้างแรงกระเพื่อมทั้งในระดับท้องถิ่น และเชื่อมโยงไปถึงระดับชาติ ในแบบที่ต้องจับตาอย่างยิ่ง

หากพิจารณาจากแบ็กกราวนด์ทางการเมือง ตั้งแต่ในยุคที่พวกเขาเคลื่อนไหวในนามพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่ออกมาเหนือความคาดหมาย ได้สร้างความ “ตื่นตัว” ไปทั่วประเทศ ไม่ว่าในระดับในเมือง หรือนอกเมืองรอบนอกออกไป

เรียกได้ว่าการเคลื่อนไหวของพวกเขาได้ทำให้บรรยากาศการเมืองท้องถิ่นคึกคักขึ้นมาอย่างมาก หากมองในมุมบวก ก็ต้องถือว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น “มีความหมาย” เพราะเชื่อว่าจะต้องมีการแข่งขันกันในระดับนโยบาย และทำให้มีแนวโน้มที่ผู้สมัครจะต้องเป็นเครือข่ายหรือเป็นตัวแทนของกลุ่มการเมืองหรือเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองระดับชาติชัดเจนขึ้นกว่าเดิมมาก การแยกเป็นผู้สมัครในนามอิสระ อาจจะค่อยๆ ลดลง รวมไปถึงการคัดเลือกผู้สมัครที่ต้องหาคนที่มีความโดดเด่น อาจจะไม่ใช่มาจากตระกูลการเมืองในพื้นที่ที่สืบทอดกันมาแบบในอดีตที่เคยเห็นกันชินตา

ส่วนในภาพลบ เมื่อพิจารณาในด้านตัวบุคคล ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองซึ่งตัวอย่างที่เห็นในเวลานี้คือ “กลุ่มก้าวหน้า” ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ประกาศว่าจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ ทำให้หลายคนเฝ้ามองด้วยความวิตก ที่มองว่าพวกเขามี “เป้าหมายซ่อนเร้น” หากพิจารณาจากแบ็กกราวนด์ ในเรื่องทัศนคติต่อสถาบันเบื้องสูง

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในภาพรวมๆ ก็ต้องบอกว่ามีทั้งผลบวกและลบดังกล่าว แต่อย่างน้อยก็สร้างความตื่นตัวให้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นได้มากกว่าเดิมในแบบที่เชื่อว่าไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะหากมองในแง่ดี ก็อาจมองได้ว่านี่คือการปฏิรูปตัวของมันเองจากความตื่นตัวดังกล่าว ที่เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากทีเดียว !!


กำลังโหลดความคิดเห็น