"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ผลสำรวจความนิยมครั้งล่าสุดของนิด้าโพลต่อการสนับสนุนพรรคการเมืองและผู้ที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีมีประเด็นที่ชวนคิดต่อยอดเกี่ยวกับการเมืองไทยอยู่หลายประเด็น ทำไมพลเอกประยุทธ์ จันท์โอชาได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งที่รัฐบาลรับมือกับโควิดได้ดีพอสมควร ทำไมคนเกือบครึ่งหนึ่งระบุว่ายังไม่มีผู้ใดเหมาะสมต่อการเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้สนับสนุนพรรคการเมืองต่าง ๆมีแนวโน้มสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี และเหตุใดการเมืองไทยจึงขาดแคลนผู้นำที่ประชาชนยอมรับและศรัทธา
การสำรวจความนิยมต่อผู้นำและพรรคการเมืองของนิด้าโพลครั้งแรกทำเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๒ ในครั้งนั้นปรากฏว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจได้รับความนิยมมากที่สุด (ร้อยละ ๓๑.๔๒) ส่วน พลเอกประยุทธ์ จันท์โอชาได้รับความนิยมรองลงมาเป็นลำดับสอง (ร้อยละ ๒๓.๗๔) ขณะที่คำตอบลำดับสามคือยังหาคนเหมาะสมไม่ได้ (ร้อยละ ๑๗.๓๒) ต่อมาเมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ และนายธนาธร ถูกตัดสิทธิการเลือกตั้ง ๑๐ ปี ก็ทำให้พลเอกประยุทธ์หมดคู่แข่งที่น่ากลัวทางการเมืองไป
ขณะเดียวกันในช่วง ๖ เดือนหลังจากการสำรวจครั้งแรก ประเทศไทยประสบวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด พลเอกประยุทธ์ในฐานะผู้นำรัฐบาลประกาศใช้ภาวะฉุกเฉิน และใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพื่อจัดการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคร้าย และประสบความสำเร็จ จนทำให้มีการประเมินกันว่าคะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์น่าจะเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับ ๖ เดือนที่แล้ว ทว่า เมื่อผลสำรวจออกมามิได้เป็นไปตามที่มีการประเมินแต่อย่างใด กลับเพิ่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งมีสาเหตุสำคัญคือ ความขัดแย้งแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีของแกนนำพรรคพลังประชารัฐ การขาดวิสัยทัศน์และแนวทางที่ชัดเจนในการกอบกู้ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างรุนแรง และการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินที่เกินความจำเป็นอย่างไม่สมเหตสมผล
การสำรวจครั้งที่สองในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๓ พลเอกประยุทธ์ได้คะแนนนิยมร้อยละ ๒๕.๔๗ เพิ่มขึ้นจากเดิมเพียงร้อยละ ๑.๗๓ เท่านั้นซึ่งเป็นการเพิ่มที่ไม่มีนัยสำคัญแต่อย่างใด ขณะที่เมื่อตัวเลือกอย่างนายธนาธร หายไปจากเวทีการเมือง ทำให้สัดส่วนของการตอบว่า “ยังหาผู้เหมาะสมไม่ได้” เพิ่มขึ้นเป็นลำดับหนึ่ง (ร้อยละ ๔๔.๐๖) เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งที่๑ ถึงร้อยละ ๒๖.๓๒ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับคะแนนนิยมที่นายธนาธรเคยได้รับจากการสำรวจครั้งที่ ๑ แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ ความนิยมของนายธนาธรสามารถถ่ายโอนไปสู่นายพิธา ลิ่มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับอดีตส.ส.พรรคอนาคตใหม่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น (ร้อยละ ๓.๙๓) นั่นแสดงว่าประชาชนยังไม่ค่อยรู้จักและยังไม่มั่นใจต่อบทบาทการนำทางการเมืองของนายพิธา มากนัก ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ในรอบหกเดือนที่ผ่านมาคะแนนนิยมตกลงทั้งคู่
เมื่อพิจารณาจุดยืนทางการเมืองของผู้ที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ การสำรวจได้บ่งชี้ว่ามาจากกลุ่มบุคคลที่มีจุดยืนทางการเมืองหลากหลาย โดยร้อยละ ๔๙.๑๔ เป็นผู้ที่มีจุดยืนสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รองลงมาร้อยละ ๒๕.๗๔ เป็นผู้มีจุดยืนที่ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใด ถัดมาร้อยละ ๙.๒๐ เป็นมีจุดยืนสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ข้อมูลนี้ได้ทำให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า ผู้สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ไม่เพียงมาจากกลุ่มที่มีจุดยืนสนับสนุนพรรค พปชร. เท่านั้น หากแต่ยังมาจากกลุ่มที่ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย แต่ที่น่าประหลาดใจอยู่บ้างคือมาจากกลุ่มผู้ที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยนั่นเอง
ประเด็นที่น่าสนใจของนิด้าโพลอีกประเด็น ได้แก่ การสนับสนุนพรรคการเมือง ในการสำรวจครั้งแรก พรรคอนาคตใหม่ได้รับการสนับสนุนมากที่สุด (ร้อยละ ๓๐.๒๗) รองลงมาคือพรรคเพื่อไทย (ร้อยละ ๑๙.๙๕) ส่วนพรรคพปชร. เป็นลำดับสาม (ร้อยละ ๑๖.๖๙) ลำดับสี่คือไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย (ร้อยละ ๑๓.๔๖) และลำดับห้าคือพรรคประชาธิปัตย์ (ร้อยละ ๑๐.๘๓) ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในการสำรวจครั้งที่สองเนื่องจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ปรากฎว่าสัดส่วนของผู้ที่ระบุว่าไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลยพุ่งขึ้นไปเป็นลำดับหนึ่ง (ร้อยละ ๓๒.๓๘) รองลงมาคือสนับสนุนพรรคเพื่อไทย (ร้อยละ ๒๐.๗๐) ซึ่งความนิยมเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งแรกเล็กน้อย ส่วนมาลำดับสามคือสนับสนุนพรรคพปชร. (ร้อยละ ๑๕.๗๓) ลดลงจากการสำรวจครั้งแรกเล็กน้อย ตรงนี้น่าสังเกตว่า ทิศทางของความนิยมพรรค พปชร. สวนทางกันกับความนิยมต่อพลเอกประยุทธ์
สำหรับ ลำดับสี่คือ สนับสนุนพรรคก้าวไกล (๑๓.๔๗) แต่ได้รับความนิยมน้อยกว่าพรรคอนาคตใหม่ค่อนข้างมากทีเดียว นั่นแสดงว่า พรรคก้าวไกลยังไม่อาจสวมบทบาทเป็นตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ได้สมบูรณ์แบบ ยังคงต้องพิสูจน์บทบาทและการทำงานไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนนิยมเป็นลำดับห้า (ร้อยละ ๗.๗๕) ซึ่งน้อยกว่าการสำรวจครั้งแรกถึงร้อยละ ๓.๐๘ ทีเดียว คะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ถดถอยเสียยิ่งกว่าพรรค พปชร. เสียอีก ดังนั้นการที่ผู้นำพรรค ปชป. เคยคาดหวังว่าการเข้าร่วมรัฐบาลจะทำได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นนั้น เห็นท่าไม่เป็นจริงเสียแล้ว
หากนำประเด็น กลุ่มที่มีจุดยืนสนับสนุนพรรคการเมืองแต่ละพรรคมาพิจารณาว่าพวกเขาสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรีบ้าง พบความน่าสนใจไม่น้อย เริ่มจาก กลุ่มที่มีจุดยืนสนับสนุนพรรค พปชร. พบว่า ร้อยละ ๗๙.๕๕ ของกลุ่มนี้ สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี กล่าวได้ว่าเกือบทั้งหมดของผู้ที่ระบุว่าตนเองสนับสนุนพรรค พปชร. จะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ด้วย แสดงว่าการสนับสนุนพรรค พปชร. มีทิศทางสอดคล้องกับการสนับสนุนบุคคลที่พรรคเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีนั่นเอง
ส่วนบุคคลที่ระบุว่าสนับสนุนพรรคเพื่อไทย มีเพียงร้อยละ ๒๘.๒๑ เท่านั้นที่สนับสนุนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่มีถึงร้อยละ ๔๔.๑๕ ระบุว่ายังหาคนที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ นัยของสิ่งนี้คือ การยอมรับคุณหญิงสุดารัตน์ภายในพรรคเพื่อไทยเองมีไม่มากนัก นั่นอาจเป็นเพราะพรรคเพื่อไทยมีความแตกแยกแบ่งกันเป็นหลายกลุ่มหลายขั้วก็เป็นได้
สำหรับผู้ที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลมีเพียงร้อยละ ๒๓.๐๑ ที่สนับสนุนนายพิธาให้เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ร้อยละ ๕๒.๒๑ ระบุว่ายังหาคนเหมาะสมไม่ได้ อาจเป็นเพราะนายพิธา ยังมีเวลาน้อยในการแสดงบทบาทการนำของพรรค จึงยังไม่ค่อยได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคมากนัก ซึ่งนายพิธาก็ต้องพิสูจน์ตนเองต่อไปในอนาคต
แต่ที่ดูหนักหนายิ่งกว่าคือ กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฎว่ามีเพียงร้อยละ ๖.๖๗ เท่านั้นที่สนับสนุนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ ร้อยละ ๓๐.๒๖ กลับไปสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ น่าประหลาดอยู่ไม่น้อยที่ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์กลับไปสนับสนุนบุคคลอื่นเป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่าหัวหน้าพรรคตนเองถึงประมาณ ๕ เท่า
กล่าวโดยสรุป เกือบทั้งหมดของผู้สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐมีจุดยืนชัดเจนที่สุดว่าจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยเกือบครึ่งยังไม่ชัดเจนนักกว่าใครเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลก็มีแบบแผนความคิดคล้ายคลึงกับผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ส่วนผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์นั้นกลับมีถึงหนึ่งในสามที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ขณะที่สนับสนุนหัวหน้าพรรคของตนเองน้อยมาก และแม้ว่าส่วนใหญ่ของผู้ที่ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใด ยังหาคนที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ แต่หนึ่งในห้าของกลุ่มนี้สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ผลโพลในภาพรวมสะท้อนให้เห็นว่า หลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ และนายธนาธร ถูกตัดสิทธิการเลือกตั้ง การเมืองไทยประสบกับวิกฤติศรัทธาต่อผู้นำ ตัวเลือกที่มีศักยภาพที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีถูกทำลายลงไป ทำให้ผู้คนเกือบครึ่งไม่สามารถหาคนที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีได้ และทำให้พลเอกประยุทธ์ขาดคู่แข่งที่ทรงพลังทางการเมือง ดังนั้นแม้ว่าพลเอกประยุทธ์ได้รับการสนับสนุนเพียงหนึ่งในสี่ของประชาชนที่ได้รับการสำรวจ แต่ก็ยังมีคะแนนนำเหนือนักการเมืองคนอื่น ๆ
ยิ่งกว่านั้นนักการเมืองที่มีสถานภาพพอจะเป็นคู่แข่งได้ อย่างคุณหญิงสุดารัตน์ และ นายจุรินทร์ ก็มีคะแนนนิยมตกต่ำลง แม้แต่ผู้สนับสนุนพรรคที่ทั้งสองสังกัดก็มีไม่มากนักที่สนับสนุนพวกเขาเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนนายพิธา ก็ยังใหม่เกินไปในการดำรงหัวหน้าพรรคและการสร้างบทบาททางการเมือง แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะก้าวขึ้นมาแข่งกับพลเอกประยุทธ์ในอนาคต หากสามารถแสดงบทบาทที่โดดเด่นในการนำพรรคก้าวไกลให้ได้รับความนิยมในอนาคต
ความจริงที่ปรากฎในเวลานี้คือ นอกจากสังคมไทยขาดแคลนผู้นำที่ประชาชนทุกระดับเชื่อถือศรัทธาแล้ว ระบบโครงสร้างอำนาจของสังคมก็ทำลายบุคคลที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอีกด้วย โดยเฉพาะหากบุคคลนั้นถูกชนชั้นนำผู้ทรงอภิสิทธิ์ในสังคมมองว่าเป็นอันตรายต่อสถานภาพและอำนาจของพวกเขา อย่างไรก็ตามภาวะแบบนี้เป็นการบั่นทอนความก้าวหน้าของสังคมไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้