xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สี่กุมาร 2020 ภาค “หนีซอมบี้” สลัดภาพ “นักการเมือง” กลับสู่โควตา “คนทำงาน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มาอย่าง “หงส์” ก็ต้องลงอย่าง “หงส์”

ไม่เหนือความคาดหมาย กับคิวที่ “สี่กุมาร” อันประกอบด้วย อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ, สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง และอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ตัดสินใจแถลงข่าวลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ

เป็นท่าที ท่วงท่า หลังพรรคพลังประชารัฐ เลือก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ผ่านไป 19 วัน

ถือเป็นไทม์มิ่งที่ไม่เร็ว-ไม่ช้า ที่ “สี่กุมาร” ตัดสินใจลาออกจากพรรคการเมืองที่ “ตั้งไข่” จนโกย ส.ส.เข้าสภาผู้แทนราษฎร ได้กว่า 100 ชีวิต

ถามว่า “อุตตม-สนธิรัตน์-สุวิทย์-กอบศักดิ์” อยากจะลาออกหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” หากแต่เจอฤทธิ์เดช “การเมืองแบบเก่า” ทำให้ “มือทำงาน” อย่างพวกเขา “อยู่ยาก”

ที่ “อยู่ยาก” เพราะไม่สามารถทำงานในฝ่ายบริหารเต็มที่ ต้องคอยมาหวาดระแวง พะวงหน้าพะวงหลังกับความวุ่นวายภายในพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะนักการเมืองประเภท “เสือหิว-เสือโหย” ที่มองพวกเขาเป็น “อุปสรรค” ในการเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรี จึงพยายามขับไล่

ซ้ำร้ายยังต้องเผชิญกับฝูง “ซอมบี้” คอยมาขี่คอ บังคับให้ทำเรื่องที่ไม่เหมาะควร โดยอ้างว่าเพื่อผลประโยชน์ของพรรค แน่นอนว่า “สี่กุมาร” เซย์โนตลอด จนเป็นเหตุให้ “อยู่กันไม่ได้”

ขณะที่การตัดสินใจลาออกหลังตัวเองต้องพ้นตำแหน่งกรรมการบริหารผ่านไป “ครึ่งเดือน” ยังถือเป็นการ “ให้เกียรติ” บ้านหลังนี้ เพราะหาก “สี่กุมาร” ต้องการฟาดงวงฟาดงา คงประกาศไปตั้งแต่ถูก 18 กรรมการบริหารพรรคลงชื่อบีบบังคับให้ต้องลุกจากเก้าอี้แล้ว

แต่รอถึง 19 วัน ถึงจะมาประกาศลาออก

ที่น่าสนใจคือทุกประโยคในแถลงการณ์ลาออกจากพรรคของ “สี่กุมาร” ไม่มีคำที่เป็นการ “เผาบ้าน” กลับกันยังพูดแบบ “ถนอมน้ำใจ” คนที่ยังอยู่

ทั้งที่ตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม การลาออกครั้งนี้ คือ การลาออกจากสมาชิกพรรคเท่านั้น ย้ำว่า ไม่ได้เป็นการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่อย่างใด

แน่นอนว่า การลาออกจากสมาชิกพรรค ย่อมหลีกหนีไม่พ้นถูกมองว่า “แตกหัก” กับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคคนใหม่ แต่ลึกๆ แล้วเชื่อเหลือเกินว่า “ผู้ใหญ่ใจดี” อย่าง “ลุงป้อม” ย่อมเข้าใจ

ที่ผ่านมา ก๊วน-แก๊งต่างๆ ภายในพรรคพลังประชารัฐที่ต้องการโค่นกลุ่ม “สี่กุมาร” แล้วอวยยศให้ “ลุงป้อม” มาเป็นหัวหน้าพรรค ก็มี “นัยซ่อนเร้น” ว่า ต้องการโควตารัฐมนตรีที่กลุ่มนี้ได้ อย่างน้อย 3 เก้าอี้ หรือรวมกับ “เฮียกวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่ถูกมองว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุน “สี่กุมาร” ก็จะรวมเป็น 4 เก้าอี้ เพื่อ “เปิดหลุม” ให้ตัวเองและพวกพ้องมีโอกาสติดบั้ง “เสนาบดี” บ้าง

โดย 3 เก้าอี้รัฐมนตรีของ “อุตตม-สนธิรัตน์-สุวิทย์” ตั้งแต่ยังเป็นผู้บริหารรพรรค จนเหลือสถานะแค่สมาชิกพรรค ถูกมองว่าเป็น “โควตาพรรค” มาโดยตลอด บรรดาเสือ สิงห์ กระทิง แรด ภายในพรรค จะหาทางเขี่ย 4 กุมาร โดยอ้างว่า “เปลืองโควตา” และไม่มีเสียง ส.ส.สนับสนุน

แต่เมื่อ “สี่กุมาร” โบกมือลาพรรคพลังประชารัฐออกไปแล้ว ก็เท่ากับว่า “เป็นอิสระ” ไม่ใช่คนของพรรคอีกต่อ

เมื่อเป็นอิสระจากโควตาพรรค ก็เท่ากับว่าวันนี้ “อุตตม-สนธิรัตน์-สุวิทย์” ถูกโอนกลับมาเป็นรัฐมนตรีใน “โควตากลาง” หรือโควตาของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โควตากลาง เฉกเช่นเดียวกับ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ, “บิ๊กช้าง” พล.อ.ชาญชัย ช้างมงคล รมช.กลาโหม หรือแม้แต่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

ที่เรียกว่าต่อปลั๊กตรงกับนายกรัฐมนตรีทั้งหมด

โควตานี้เป็นโควตาที่ “บิ๊กตู่” เคยพูดผ่านสื่อแล้วว่า องค์ประกอบของคณะรัฐมนตรีนั้นนอกจากต้องมีรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.แล้ว ก็จำเป็นต้องคนที่เหมาะสมด้วย

หมายไปถึง “คนทำงาน” หาใช่คิดแต่เรื่องต่อรองทางการเมืองด้วยตำแหน่ง ส.ส.

ถึงจะถูกค่อนขอดว่า “สี่กุมาร” ออกมาอย่าง “ผู้แพ้” แต่ในเชิงการเมืองมองว่าเป็นหมากชั้น “เซียนเหยียบเมฆ”



ที่ผ่านมา “สี่กุมาร” ถูกกระทำอย่างไม่ให้เกียรติ และถูก “ซอมบี้นักเลือกตั้ง” โดดขี่คอมาตลอด จนมองได้ว่าเป็น “เบี้ยล่าง” ในพรรคมาตลอด การตัดสินใจลาออก เพื่อสลัดพันธนาการจากพรรค มีอิสระในการทำงานมากขึ้น ย่อมเป็นผลดีต่อพวกเขา และรัฐบาล

แล้วยังเป็นการ “แยกปลาออกจากน้ำ” อย่างชัดเจน ให้เห็นๆ กันไปเลยว่า “คนทำงาน” กับ “นักการเมือง” ทำงานต่างกันอย่างไร

ขณะที่หลังจากนี้บรรดากลุ่มก๊กต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐ ที่เคยราวี-ตอแย ก็อาจถูกมองว่า “ล้ำเส้น” เข้าไปก้าวก่ายอำนาจของนายกฯ

กลายเป็นว่า การที่ “สี่กุมาร” ผละออกมา ทำให้พวกเขายิ่งดูดีกว่าบรรดานักการเมืองอาชีพ เพราะไม่ต้องไปยุ่งวุ่นวายกับระบบการเมืองเดิมๆ อีกแล้ว

ตรงกันข้าม กลายเป็นนักการเมืองที่ต้องไป อาจจะต้องหันกลับมาระแวง 4 กุมาร หากเรื่องหรือชีวิตของคนเหล่านี้ ต้องไปขึ้นอยู่กับอำนาจของรัฐมนตรี ที่ทั้ง “อุตตม-สนธิรัตน์-สุวิทย์” นั่งคุมอยู่

ดูอย่างเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาไม่นานนี้ อย่างตำแหน่งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่สัดส่วนโควตาคณะรัฐมนตรี เป็นอำนาจของ “อุตตม” ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ที่เป็นประธานกรรมาธิการฯโดยตำแหน่ง

ปรากฏว่า โควตารัฐมนตรี ไม่มีชื่อ “เฮียยักษ์” วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาล กับกลุ่มก๊วน ที่ร่วมกันขย่ม “สี่กุมาร” จนอยู่ในพรรคพลังประชารัฐไม่ได้

ขณะที่ ส.ส.ในกลุ่มของ “สมคิด และสี่กุมาร” เข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการฯจำนวนมาก ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับ “วิรัช” เป็นอย่างมาก

เหตุการณ์ลักษณะนี้สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอีกแน่ หากการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งหน้า “สี่กุมาร” ยังอยู่ในตำแหน่ง ซึ่งก็มีข่าวว่า มีแนวโน้มสูงอยู่เหมือนกัน ในเมื่อพวกเขาได้กลายเป็น “โควตากลาง”

รวมทั้งยังมีผลโพลค้ำยันว่า “ทีมเศรษฐกิจชุดเก่า” วางใจได้มากกว่า “คนใหม่” ที่จ้องเข้ามาเสียบ

สำคัญที่ “นายกฯตู่” พูดหลายครั้งว่า อำนาจการปรับคณะรัฐมนตรีเป็นอำนาจของ “นายกฯ” แต่เพียงผู้เดียว และจะเลือกตามคุณสมบัติในแง่ “ความเหมาะสม” เป็นที่ตั้ง

กลายเป็นคนในพรรคพลังประชารัฐเองที่เคยฉลองยกใหญ่หลังยึดพรรคสำเร็จนั่นแหละที่จะ “จุกอก” เพราะคิดไม่ถึงว่า “สี่กุมาร” จะมาไม้นี้

เท่ากับว่า ปฏิบัติการยอมลงทุนเผาไร่เพื่อฆ่างูตัวเดียวของกลุ่มก๊กในพรรคพลังประชารัฐ “ล้มเหลว” เพราะไล่ออกจากพรรคได้ แต่ไล่ออกจากคณะรัฐมนตรีไม่ได้

ป่านนี้คงน่าจะมีคนกุมขมับ โดยเฉพาะบรรดา ส.ส.ที่ต่อแถวรอจะขึ้นเป็นเสนาบดี เพราะเก้าอี้ไม่ได้ว่างเยอะให้เสียบขนาดนั้นแล้ว

ถอดรหัสถ้อยคำการแถลงลาออก “สี่กุมาร” ใช้คำว่า ขอยุติบทบาททางการเมือง ไม่ใช่การยุติบทบาทในฝ่ายบริหาร

บทบาททางการเมืองในทีนี้คือ บทบาทในพรรคการเมือง ซึ่งเสมือนว่า พวกเขาต้องการกลับไปอยู่ใน “สายทำงาน” เหมือนเดิม ไม่ได้คิดจะโบกมือลาถาวร

ทฤษฎีจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ในเร็วๆ นี้ จึงยังไม่ใช่แน่นอน

หมากตานี้ของ “สี่กุมาร ศิษย์เฮียกวง” ถือว่า “เหนือเมฆ” เพราะเป็นการลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ก่อนที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี เหมือนเป็นการเคลียร์ตัวเองให้หลุดจาก “โควตาพรรค” เพื่อมาอยู่ใน “โควตาคนทำงาน” แบบเต็มตัว

ที่สำคัญคือพล.อ.ประยุทธ์ได้ย้ำอีกครั้งเมื่อถูกถามว่าการที่ “สี่กุมาร” ลาออกจากพปชร. ถือว่าเป็นโควตาของนายกฯ ใช่หรือไม่ “เดิมก็เป็นเช่นนั้นอยู่ และเป็นตั้งแต่แรกอยู่แล้ว” ซึ่งน่าจะเป็นหลักค้ำประกันได้ว่า งานนี้ “นายกฯลุงตู่” จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือก “คนทำงาน” ด้วยตัวเอง.

กำลังโหลดความคิดเห็น