"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
เมื่อระบบในสังคมมีปัญหา ไม่สามารถทำหน้าที่ให้บรรลุเป้าประสงค์ของระบบ ซ้ำร้ายยังสร้างความเสียหายแก่สังคม สิ่งที่ดีสุดที่อาจเกิดขึ้นคือ ผู้คนในสังคมเกิดความตระหนักและร่วมมือกันปรับปรุงแก้ไขระบบนั้นให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ส่วนสิ่งเลวร้ายที่สุดคือไม่มีใครในสังคมตระหนักรู้ว่ามีปัญหาร้ายแรงดำรงอยู่ในระบบ จวบจนกระทั่งปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้นและทำให้ระบบจวนเจียนล่มสลายเต็มที จึงค่อยคิดปฏิรูปอย่างจริงจังเพื่อแก้ไข ทว่าไม่ทันเสียแล้ว
เราจึงเห็นระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนอารยธรรมในอดีตของหลายอาณาจักรล่มสลายครั้งแล้วครั้งเล่า นักปราชญ์จำนวนมากของแต่ละสังคมได้ศึกษาเงื่อนไขและสาเหตุของการล่มสลายของอาณาจักรต่าง ๆ จารจดข้อสรุปและข้อเสนอแนะนับไม่ถ้วนที่ช่วยปรับปรุงระบบ ฟื้นฟูสังคม และยืดเวลาการล่มสลายออกไป บางสังคมก็มีนำคำแนะนำไปปฏิบัติ สังคมนั้นก็รอดพ้นจากการล่มสลาย และทะยานสู่ความรุ่งเรืองอีกครั้ง ทว่าหลายสังคมกลับมิได้ใส่ใจปรับปรุงแก้ไข ความหายนะของสังคมนั้นก็เกิดขึ้นตามมา
การไม่ทราบและตระหนักรู้ถึงปัญหาย่อมเป็นความเขลารวมหมู่ของผู้คนในสังคมที่หลงคิดยึดติดกับความยิ่งใหญ่เมื่อครั้งอดีตของตนเอง ความเขลาทำให้เกิดความอหังการและมองภยันตรายที่คืบคลานเข้ามาไม่เห็น หรือบางทีอาจเห็นภัยอยู่บ้าง แต่กลับคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ควรค่าแก่การใส่ใจ ปล่อยให้สถานการณ์ปัญหาดำเนินไป โดยไม่ลงมือกระทำการใด ๆ เพื่อคลี่คลาย จวบจนเรื่องราวบานปลายยากแก่การเยียวยา ในที่สุดชะตากรรมที่เลวร้ายของการล่มสลายก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงพ้นไปได้
บางสังคมผู้คนจำนวนหนึ่งมองเห็นและตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหา พวกเขาพยายามส่งเสียงบ่งบอกเพื่อนร่วมสังคมและผู้บริหารปกครองประเทศ ทว่าด้วยระดับปัญญาญาณในการทำความเข้าใจปัญหาแตกต่างกัน ทำให้คนส่วนมากในสังคมไม่เข้าใจสัญญาณเตือนที่ส่งออกมา ที่ร้ายกว่านั้น คนจำนวนมากกลับมองว่าผู้ส่งสัญญาณเตือนตื่นตระหนกจนเกินเหตุ กระทำเรื่องเพื่อสร้างความหวาดกลัวแก่ผู้คนในสังคม ควรที่จะถูกทำให้สงบปากคำและทำให้เงียบเสียงลงไป เพื่อให้ความมั่นคงและสงบเรียบร้อยในสังคมกลับคืนมา
ผู้บริหารปกครองสังคมมักใช้อำนาจกำราบผู้ส่งสัญญาณเตือนภัย โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด สั่งให้เข้ามาปรับทัศนคติบ้าง จับกุมคุมขังบ้าง หรือบางทีก็ลงมือสังหารด้วยวิธีนานับประการ ในอดีตการกระทำของผู้ปกครองมักดำเนินการด้วยความรุนแรงและป่าเถื่อนอย่างเปิดเผย แต่ในปัจจุบันรูปแบบการทำให้เกิดความเงียบมีความแนบเนียนและซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะความดิบเถื่อนแบบเดิมนั้นเป็นสิ่งอารยชาติไม่ยอมรับ กระนั้นก็ตามผลลัพธ์ของการใช้ความรุนแรงด้วยการวิธีการที่ซับซ้อน ก็หาได้ด้อยกว่ากว่ารุนแรงแบบดิบเถื่อนแต่อย่างใด บางกรณีกลับสร้างความบอบช้ำเสียหายแก่สังคมในระยะยาวมากกว่าเสียด้วยซ้ำไป
แต่การกำจัดผู้ส่งเสียงเตือนภัยมิได้ทำให้ปัญหาที่แท้จริงหมดไป กลับยิ่งเป็นการเพิ่มและขยายความซับซ้อนของปัญหาให้มากยิ่งขึ้นไปอีก และเป็นกระบวนการที่ทำให้ระบบเก่าล่มสลายในอัตราเร่งที่สูงยิ่งขึ้น และความโกลาหลภายหลังการล่มสลายก็มีความร้ายแรงมากขึ้นตามไปด้วย
บางสังคมดูเหมือนผู้บริหารปกครองประเทศตระหนักถึงปัญหาอยู่บ้าง เพราะอาการและผลกระทบของปัญหาปรากฏกระจ่างชัดจนไม่อาจแสเสร้งเมินเฉย ทำเป็นมองไม่เห็นได้อีกต่อไป แต่ด้วยแรงเหนี่ยวรั้งที่ได้เสพสุขอยู่กับอำนาจและผลประโยชน์ของระบบเดิมมีสูงมาก จนผู้ปกครองเกิดความเสียดายไม่อาจละวางได้ พวกเขาจึงไม่คิดแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพราะทราบดีว่าแนวทางการแก้ไขปัญหานั้นจะทำให้ผลประโยชน์และอำนาจที่มีอยู่ต้องลดลง หรืออาจสูญเสียทั้งหมดก็เป็นได้
ด้วยเหตุนี้ผู้บริหารปกครองของประเทศเหล่านั้นจึงพยายามสร้างภาพของการปฏิรูปสังคมขึ้นมา พวกเขาประเมินว่าเมื่อจัดการให้มีการปฏิรูประบบแล้วจะสามารถปกปิดกลบเกลื่อนเจตนาที่แท้จริงเอาไว้ได้ และทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าพวกเขามีความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหา ในแง่นี้การปฏิรูปจึงเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการรักษาอำนาจนั่นเอง
กลไกปฏิรูปนานับประการถูกสร้างขึ้นมากเพื่อให้เกิดความสมจริง ดังที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี ๒๕๕๗ ผู้คนจำนวนหลายร้อยได้รับการแต่งตั้งเข้าไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปบ้าง เป็นคณะกรรมการปฏิรูปบ้าง ใช้งบประมาณและเวลาของสังคมจำนวนมหาศาลเพื่อการนี้ แต่สิ่งที่ได้มาคือกระดาษเปื้อนหมึกจำนวนหนึ่ง ที่ถูกผลิตขึ้นมาและวางไว้ในมุมที่หาผู้คนสนใจไม่ได้ และถูกลืมไปในที่สุด
ครั้นต่อมาเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในปี ๒๕๖๐ คณะผู้ร่างก็ได้บรรจุการปฏิรูปเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปมากมายหลายคณะเพื่อคิดแนวทาง มาตรการ และขับเคลื่อนการปฏิรูป คนเหล่านั้นมานั่งประชุมและถกเถียงกันเป็นครั้งคราว เพื่อหาข้อสรุปบางอย่าง ทว่าข้อสรุปเหล่านั้นหาได้มีสารัตถะหรือแก่นอันทรงคุณค่าของการปฏิรูปที่แท้จริงแต่อย่างใด กลายเป็นผลงานที่ไม่อยู่ในความทรงจำและได้รับการนำไปปฏิบัติแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามเพื่อทำให้คนในสังคมเข้าใจว่า ผู้บริหารปกครองประเทศได้ดำเนินการตามแนวทางปฏิรูป จึงสร้างบทละครเชิงพิธีกรรม เพื่อให้เกิดความสมจริงขึ้นมา โดยกำหนดให้มีการรายงานความก้าวหน้าของการปฏิรูปในเวทีสภาผู้แทนราษฎรทุกสามเดือน แต่เนื่องจากนักแสดงที่เป็นข้าราชการประจำและ ส.ส.ที่เป็นคนดูก็ทราบดีว่านี่คือละครตลกเกรดซี ประเภทที่ผู้สร้างหรือรัฐบาลก็ไม่ได้อยากสร้าง และผู้กำกับหรือคณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปก็ไม่มีฝีมือและมิได้ทำอย่างจริงจังแต่อย่างใด นักแสดงจึงจำใจแสดงบทบาทพอเป็นพิธีตามหน้าที่ ละครตลกที่ออกมาก็กลายเป็นตลกฝืด ดังนั้นเมื่อแสดงแบบเดิมหลายครั้งเข้า ส.ส.ที่เป็นคนดูก็ชักเบื่อหน่าย ล่าสุดในการรายงานความก้าวหน้าของการปฏิรูปเมื่อวันที่ ๘ ก.ค. ๒๕๖๓ ในสภาผู้แทนราษฎร ก็เลยถูกคนดูหรือ ส.ส.ล้มเวทีไป
การปฏิรูปซึ่งเป็นแนวทางการแก้ปัญหาของระบบในระดับโครงสร้างถูกทำให้ด้อยค่าลงไปด้วยความไม่จริงจังของผู้บริหารปกครองประเทศ ความไร้ฝีมือของคณะกรรมการปฏิรูปที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและโครงสร้างกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการทำงานประจำวัน และความไม่สนใจของข้าราชการที่จะนำไปปฏิบัติ เพราะพวกเขาทราบดีว่ารัฐบาลหรือผู้สร้างหลักหาได้มีเจตจำนงของการปฏิรูปแต่อย่างใด
การปฏิรูปทั้งหมดในช่วงระยะ ๖ ปีเศษที่ผ่านมา และอีกไม่รู้ว่ากี่ปีในอนาคตตราบที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ยังไม่ยกเลิก กลายเป็นการปฏิรูปแบบลวงโลกที่น่าอดสูอย่างยิ่งในสังคมไทย เมื่อเป็นเช่นนั้นก็หมายความว่าปัญหาของระบบและโครงสร้างต่าง ๆ จะไม่ได้รับการแก้ไข เพราะระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเสื่อมถอย ไร้ประสิทธิภาพ หมดสมรรถนะ และไร้พลังในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายอย่างสิ้นเชิง และยังสร้างผลกระทบทางลบที่รุนแรงต่อสังคมโดยรวม จนเกิดเสื่อมสลายและยากแก่การฟื้นฟูในภายหลัง
ความเสื่อมศรัทธาของประชาชนต่อระบบและสถาบันทางการเมืองและสังคมที่กำลังแพร่กระจายในวงกว้างขณะนี้และมีแนวโน้มทวีมากขึ้นในอนาคตคือหลักฐานที่บ่งบอกถึงอาการความรุนแรงของปัญหาเป็นอย่างดี หากผู้บริหารประเทศคิดหยุดยั้งความเสื่อมศรัทธา มิใช่จะสามารถทำได้ด้วยการบอกหรือสั่งให้ประชาชนเลิกเสื่อมศรัทธา เช่นเดียวยวกันการคุกคาม จับกุม คุมขัง ผู้ที่หมดศรัทธาแล้วก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น หรือการบอกให้ผู้คนกลับมาศรัทธาใหม่ แต่พฤติกรรมและการกระทำของผู้บริหารปกครองประเทศยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ก็ไม่มีทางที่ทำให้ประชาชนหันหลับมาศรัทธาได้
หากผู้บริหารปกครองประเทศยังคิดและทำในแบบเดิม ขาดความจริงจังในการปฏิรูประบบ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการทำหน้าที่ของสถาบันทางการเมืองและสังคม ตลอดจนไม่ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของพวกตนเองให้มีความน่านับถือเลื่อมใสและควรค่าแห่งการเคารพ ความเสื่อมศรัทธาก็ทวีมากขึ้นในอัตราเร่ง และเมื่อถึงจุดหนึ่ง แม้คิดปฏิรูปอย่างจริงจังก็อาจจะสายเกินไปเสียแล้ว