xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลอำนาจนิยม กับคนรุ่นใหม่ในโลกแห่งความจริง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

น่าสนใจว่าซูเปอร์โพลซึ่งมักมีผลสำรวจที่เป็นบวกกับฝั่งรัฐบาลมาตลอด แถลงผลสำรวจล่าสุดว่า ถ้าวันนี้เลือกตั้ง พบว่า ร้อยละ 16.7 จะเลือกพรรคก้าวไกล

รองลงมาคือร้อยละ 15.7 ระบุ พรรคเพื่อไทย ในขณะที่ร้อยละ 8.7 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 8.3 ระบุ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งทั้งสอง พรรคได้รับความนิยมลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากการสำรวจครั้งก่อน ในขณะที่พรรคภูมิใจไทย ได้ร้อยละ 6.0

จะเห็นว่าผลการสำรวจครั้งนี้ต้องเอาพรรคพลังประชารัฐมาบวกกับพรรคประชาธิปัตย์จึงจะใกล้เคียงกับความนิยมของพรรคก้าวไกล

คนที่เชียร์พรรคพลังประชารัฐก็อาจจะไม่เชื่อผลโพลนี้ ทำไมพรรค เป็นฝ่ายรัฐบาลและบริหารประเทศชาติได้ถูกใจเราเหลือเกินจึงมีความนิยมตกต่ำลง แล้วทำไมพรรคก้าวไกลที่ยังไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันจึงได้รับความนิยมที่สูงขึ้น เมื่อรวมกับพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายค้านแล้วก็มีจำนวนรวมกันที่สูงมาก

เมื่อเทียบกับคำถามว่า พรรคการเมืองที่เคยเลือกในการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2562 พบว่า ร้อยละ 18.9 ระบุ พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 16.6 ระบุ พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 15.1 ระบุพรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 11.7 ระบุ พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 7.2 ระบุ พรรคภูมิใจไทย และร้อยละ 2.6 ระบุ พรรคชาติไทยพัฒนา

เห็นได้ว่าคะแนนความนิยมของพรรคพลังประชารัฐตกต่ำลงอย่างมากเกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว เป็นไปได้ไหมว่า ภาพความวุ่นวายในพรรคแย่งชามข้าวกันทำให้สังคมเอือมระอา เพราะเป็นภาพของการเมืองเก่าที่สังคมส่วนใหญ่เห็นว่ามีความเน่าเฟะและไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้นในยุคนี้

แม้นวัตกรรมของรัฐธรรมนูญที่เขียนให้พรรคพลังประชารัฐมีแต้มต่อจาก ส.ว.250เสียงที่ต้องยกมือให้นายกรัฐมนตรีที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐแน่ๆ เหมือนการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมา แต่ถ้าประชาชนเลือกพรรคฝ่ายค้านมากขึ้นก็สะท้อนว่า สังคมกำลังหมดหวังกับแนวทางการบริหารของพรรครัฐบาลปัจจุบัน และต้องการทางออกใหม่แบบคนรุ่นใหม่ในพรรคก้าวไกล

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ถ้าจะตอบก็คงต้องบอกว่า การเมืองที่เป็นอยู่นั้นไม่พ้นวังวนของการเมืองแบบเก่าที่แย่งชิงอำนาจ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่การเมืองที่คนส่วนหนึ่งเคยออกมาเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปประเทศ และมองเห็นแล้วว่า ตัวละครเดิมๆในทางการเมืองที่วนว่ายอยู่เพียงแต่ย้ายพรรคจากพรรคของทักษิณมาอยู่พรรคพลังประชารัฐนั้น ไม่สามารถทำให้การเมืองดีขึ้นมาได้ และคนรุ่นใหม่และคนที่มีความคิดยึดติดกับบ้านเมืองอาจจะมองเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานการเมือง

คะแนนของพรรคเพื่อไทยแม้จะลดลงเล็กน้อยจนเป็นรองพรรคก้าวไกล แต่ก็ยังสูงมากเมื่อเทียบกับพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์สะท้อนว่า มวลชนส่วนหนึ่งยังภักดีต่อพรรคการเมืองของทักษิณ ที่เขาเชื่อว่านำชีวิตที่กินดีอยู่ดีมาให้ แม้ทักษิณถูกอัปเปหิจากการเมืองไปแล้วจนยากจะกลับคืนมา แต่สิ่งที่ทักษิณทำไว้ก็เป็นอานิสงส์มายังพรรคการเมืองที่เขาวางรากฐานเอาไว้ได้อย่างมั่นคง

มันสะท้อนว่า การครองอำนาจกว่า 6 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งจากการรัฐประหารและพิธีการเลือกตั้งที่เขียนรัฐธรรมนูญให้ได้เปรียบนั้น ไม่สามารถที่จะซื้อใจมวลชนที่นิยมชมชอบทักษิณได้เลย ซ้ำยังไม่สามารถเอาชนะใจคนรุ่นใหม่แม้จะมีเครื่องไม้เครื่องมือและเครือข่ายอันทรงพลังกว่าพรรคการเมืองอื่นได้


มีคนพยายามบอกว่าในช่วง 5-6 ปีมานี้ รัฐบาลประยุทธ์สามารถพัฒนาประเทศได้รุกหน้ามากทั้งเครือข่ายคมนาคม รถไฟฟ้าสายต่างๆ และซูเปอร์ไฮเวย์ รวมถึงสาธารณูปโภคต่างๆที่เกิดขึ้น การจัดการและรับมือกับสงครามโควิดก็ทำได้ดีที่ได้รับการชื่นชมในระดับโลก แต่ทำไมสิ่งเหล่านี้จึงยังไม่ถูกใจคนรุ่นใหม่

ผมคิดว่า พวกเขาคงมองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลอยู่แล้ว และรัฐบาลชุดนี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จใน 5 ปีแรก การไม่มีฝ่ายค้านตรวจสอบนั้นสามารถบันดาลอะไรได้ง่ายกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยมาก ส่วนการแก้ไขโควิดนั้น เป็นเพราะความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทยที่ถูกวางรากฐานไว้นานแล้ว

ด้านสิทธิเสรีภาพคนที่สนับสนุนรัฐบาลอาจจะมองว่า ไม่มีอะไรที่มาปิดกั้นเสรีภาพเลย และทุกวันนี้ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่สำหรับคนที่อยู่ตรงข้ามและไม่นิยมชมชอบรัฐบาลชุดนี้ เขาอาจจะมองว่า เขาไม่ชอบรัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจแม้จะอ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นการเลือกตั้งบนกติกาที่ไม่เท่าเทียมกัน และรัฐบาลชุดนี้ก็พยายามสะท้อนการปกครองแบบอำนาจนิยมออกมา ด้วยการใช้กฎหมายที่ยิบย่อยในการจัดการกับการแสดงออกของฝ่ายตรงข้าม ส่งคนไปติดตามหรือกระทั่งคุกคามให้หวาดกลัว

ในด้านของรัฐบาลก็อาจจะมีความจำเป็นที่ต้องสถาปนาอำนาจนิยมขึ้นในยุคของรอยต่อการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์เพื่อให้เกิดความมั่นคงขึ้นในชาติ เพื่อรับมือกับฝ่ายตรงข้ามที่มีการรุกเร้ามาขึ้นด้วยเครื่องมือโซเชียลมีเดียที่ท้าทายการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบอบแบบหาญกล้าชุกชุมมากขึ้นเป็นดอกเห็ด

ศูนย์รวมศรัทธาและความเป็นหนึ่งเดียวที่คนไทยเคยยึดเหนี่ยวนั้นเปลี่ยนแปลงไป ความภูมิใจในความเป็นชาตินั้นไม่ได้ยึดติดกับประวัติศาสตร์อีกต่อไป แต่ยึดติดอยู่กับปัจจุบันและอนาคตมากกว่า และอนาคตของคนรุ่นใหม่ก็มีหนทางที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนมากขึ้น การยึดเหนี่ยวกับความมุ่งมั่นของตัวเอง เพื่ออนาคตของตัวเองจึงไม่ใช่การฝากความเชื่อไว้กับบุญบันดาลและศรัทธาที่ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตที่ดีขึ้น

ความต้องการมีอิสระของคนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ที่ยึดถือเสรีภาพจึงเป็นด้านตรงข้ามกับรัฐบาลที่ยึดถืออำนาจนิยมเพราะความจำเป็นแห่งยุคสมัย

พรรคการเมืองอย่างอนาคตใหม่ที่แปรสภาพเป็นพรรคก้าวไกลจึงเป็นขวัญใจของคนหนุ่มสาวและคนรุ่นใหม่ รวมไปถึงคนรุ่นเก่าที่มีความชิงชังระบอบเดิมอยู่แล้ว ส่วนพรรคเพื่อไทยนั้นโดยสภาพการเมืองแม้จะยังมีแรงเฉื่อยจากระบอบทักษิณอยู่ก็ถูกผลักให้เป็นฝ่ายตรงข้ามกับระบอบเก่าโดยปริยาย ผลโพลทั้งในอดีตที่สะท้อนผ่านผลการเลือกตั้งและผลโพลปัจจุบันนั้นสะท้อนถึงความนิยมของประชาชนที่มากกว่าพรรคฝั่งรัฐบาล แต่พ่ายแพ้ในสภาเพราะกติกาตามรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง

มันชวนให้ฉุกคิดว่า วันที่ห้าปีตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญหมดลง วันที่ ส.ว.ไม่มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ วันที่ตัดสินด้วยเสียงประชาชนจากการเลือกตั้ง วันนั้นสายลมแห่งศรัทธาของประชาชนจะพัดพาบ้านเมืองไปในทิศทางใด

ถ้าการสถาปนาพรรคพลังประชารัฐเพื่อสืบทอดอำนาจตามความจำเป็นที่ต้องรักษาบ้านเมืองในยุครอยต่อของประวัติศาสตร์ และการรัฐประหารเข้ามาสู่อำนาจมีผลพวงมาจากประชาชนส่วนหนึ่งลุกขึ้นมาชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง ถามว่ารัฐบาลที่ครองอำนาจได้กระทำในสิ่งที่ตอบสนองเป้าหมายเหล่านี้หรือไม่ ตอบได้เลยว่ายังไม่เห็น เพราะพรรคพลังประชารัฐก็เป็นเพียงรังชุบตัวของนักการเมืองหน้าเดิมและมีพฤติกรรมเดิมๆเท่านั้นเอง

แต่คนรุ่นใหม่ที่ยึดมั่นกับพลังเสรีนิยมเติบโตมากขึ้นทุกวัน ส่วนคนรุ่นเก่าที่ยึดติดกับอนุรักษ์นิยมนับวันจะพ่ายแพ้แก่กาลเวลาถูกพัดหายไปตามอายุขัย มันเห็นอนาคตข้างหน้าได้เลยว่า ถ้าเราไม่สามารถทำให้เห็นว่า อุดมการณ์การเมืองแบบเดิมของเราคือทางออกของความเป็นไทเป็นชาติที่มีรากเหง้าสร้างสันติสุขและความเท่าเทียมให้กับคนในชาติได้ สิ่งที่เราแสดงออกผ่านอำนาจนิยมและมองคนรุ่นใหม่ด้วยสายตาเหยียดหยามนั่นแหละคือการขุดหลุมฝังตัวเอง

เวลาเป็นอนิจจังและความจริงแท้ของการเปลี่ยนแปลง โลกที่เปลี่ยนไปทำให้คนยึดมั่นกับปัจจุบันมากกว่าอดีตและรากเหง้าที่สะท้อนภาพของชนชั้น พวกเขารักชาติในแบบของเขา พรมแดนของรัฐสลายหายไปจากจิตใต้สำนึก กลายเป็นพลเมืองของโลก แม้โลกปัจจุบันจะเกิดกระแสชาตินิยมในหลายประเทศมากขึ้น แต่ถ้าเราย้อนไปดูผู้นำของชาติเหล่านั้นก็เหมือนกับหลักหมุดสุดท้ายที่กำลังจะโยกเอนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น โดนัลด์ ทรัมป์ จาอีร์ โบลโซนาโร ของบราซิล หรือโรดรีโก ดูแตร์เตของฟิลิปปินส์ รวมถึงกระแสความนิยมของพรรคการเมืองฝั่งขวาในประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และออสเตรีย ก็เชื่อเถอะว่าไม่ยั่งยืน

หากแต่ว่า ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขของสภาพสังคมของยุคสมัย คนที่มีชีวิตอยู่ในยุคหนึ่งคือผู้กำหนดชะตากรรมของตัวเองก็อาจจะเป็นเรื่องที่พอจะรับได้ คนที่กำลังโรยราไปตามเงื่อนเวลาก็ถอยออกมามองดูความเปลี่ยนแปลงไปอยู่ห่างๆ เพียงแต่ว่า ถ้าการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาต้องการมันรุกเร้าและท้าทายอำนาจเก่าถอนรากถอนโคนความเชื่อและศรัทธาของคนอีกฝั่ง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการปะทะกันของสองความเชื่อสองความคิดในสังคม จากที่เราเห็นการถกเถียงท้าทายกันในสภาในโซเชียลมีเดีย สุดท้ายแล้วก็อาจจะต่อสู้กันบนถนนอีกคำรบหนึ่ง

“หลายท่านเป็นคนรุ่นใหม่ ผมยอมรับว่าเขาพูดเก่ง แต่อย่ามากล่าวหาว่าผมใช้กฎหมาย ไปกับผู้เห็นต่าง กฎหมายก็อยู่ของกฎหมายเฉยๆ ผมก็นั่งอยู่ของผมเฉยๆ ใครผิดกฎหมายก็โดนลงโทษ จะให้ผมทำยังไง ให้ผมสั่งเขาได้ใช่ไหม ถ้าผมสั่งได้คงไม่เป็นแบบนี้ แต่ผมไม่ได้สั่ง ระวังตัวบ้างก็แล้วกัน กฎหมายมันมีผลบังคับใช้หมดทุกคน แม้กระทั่งผมเอง ผมก็ยอมรับกฎหมาย อย่ามาย้อนกลับไปวันก่อนนั้นอีก ว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ให้กลับไปย้อนดู อย่าลืมอะไรที่มัน ทุกคนก็บอกแล้ว ว่าความต้องการของประชาชนไม่มีสิ้นสุด”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งในการพิจารณาร่างงบประมาณเพื่อตอบโต้กับส.ส.พรรคก้าวไกล

ดูเหมือนความพยายามที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เชื่อมั่นในแนวทางที่รัฐบาลจะนำพานั้นจะถูกกำกับด้วยอำนาจทางกฎหมายมากกว่าสร้างพลังศรัทธา

คล้ายกับว่าความเชื่อมั่นในอำนาจนิยมไม่ได้แยแสกับกาลเวลาและพลวัตรของโลกที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป และแม้ผลโพลที่เกิดขึ้นกำลังบอกเล่าเรื่องราวในอนาคตก็ตาม

ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan




กำลังโหลดความคิดเห็น