xs
xsm
sm
md
lg

ประวิตรกับปฏิรูปที่ไกลฝัน

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ผมมีคำถามถึงคนที่ออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้งร่วมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แล้วเปลี่ยนมาเป็นกองหนุนของรัฐบาลประยุทธ์ว่า สิ่งที่ลงแรงไป มีคนเสียชีวิตบาดเจ็บจากการชุมนุมนั้นวันนี้ได้สิ่งที่เรียกร้องมาหรือยัง

5 ปีที่ คสช.ยึดอำนาจและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ และมีมาตรา 44 ในมือที่สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้นั้น เราได้เห็นอะไรที่เป็นการปฏิรูปบ้างแล้วหรือยัง แล้ววันนี้เปลี่ยนจากรัฐบาลรัฐประหารมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว เราคาดหวังว่า จะได้เห็นการปฏิรูปที่เราเรียกร้องหรือไม่ เรายังเชื่อคำพูดที่เขาบอกว่าจะเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปในทางที่ดีอยู่อีกไหม

เราได้รัฐบาลที่แตกต่างจากรัฐบาลที่เราเคยประสบพบมาในอดีตหรือไม่ เราเห็นอะไรบ้างที่พูดได้ว่า ดีกว่ารัฐบาลชุดต่างๆ ที่มีมาในอดีต

จริงอยู่คนที่เป็นกองหนุนของรัฐบาลประยุทธ์นั้น มาจากความกลัวระบอบทักษิณที่มาจากนวัตกรรมของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ต้องการสร้างรัฐบาลเข้มแข็งและ strong prime minister และถูกสถาปนาขึ้นมาด้วยการเลือกตั้งแบบวันแมนวันโหวต ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐบาลทักษิณกลับใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล เล่นพรรคเล่นพวก และแสวงหาผลประโยชน์เข้าวงศ์วานว่านเครือ จนประชาชนออกมาขับไล่

ถามว่าวันนี้ผลลัพธ์ที่เราต่อสู้กันมาร่วมกันเรียกร้องนั้น ได้ส่งผลอย่างที่เราพอใจหรือไม่ และแตกต่างกับรัฐบาลระบอบทักษิณที่เราชิงชังหรือไม่

คำตอบคือเราไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเชิงโครงสร้างที่เราเรียกว่าการปฏิรูปอะไรเลย ถ้าเราดูตัวเล่นในทางการเมืองคนที่ยืนเคียงข้างพล.อ.ประยุทธ์ในรัฐบาลประยุทธ์ล้วนแล้วแต่เคยเป็นคนที่ยืนเคียงข้างกับทักษิณมาก่อนแล้วทั้งสิ้น

ต่างกันที่ผู้นำรัฐบาลคนหนึ่งชื่อ ประยุทธ์และคนหนึ่งชื่อทักษิณเท่านั้นเอง

การเปลี่ยนแปลงในพรรคพลังประชารัฐนั้น สะท้อนการเมืองเก่าที่จมปลักย้อนยุคไปกว่าเดิม เพราะผลพวงของการรัฐประหารที่ส่งต่อมาเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจนั้นได้สร้างระบบที่เรียกว่า บิ๊กบราเธอร์ขึ้นในทางการเมือง ในอดีตเราไม่เคยเห็นบทบาทแบบนี้มาก่อน แม้ทหารหลายคนจะเข้ามาสู่อำนาจทางการเมืองด้วยเส้นทางที่ต่างๆ กันไป ทั้งทางประชาธิปไตยและเส้นทางลัดแบบพล.อ.ประยุทธ์

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แม้จะมีอำนาจและบารมีมาก แต่ภาพทางการเมืองของพล.อ.เปรมก็เหมือนกับผ้าขาวจนกลายเป็นรัฐบุรุษ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แม้จะมีอำนาจอิทธิพลมากในกองทัพก็เลือกเส้นทางประชาธิปไตยมากกว่าบทบาทของนายทหารใหญ่ที่มีอิทธิพลบารมีที่คนต้องเข้ามาบรรณาการแบบที่เราเห็นบทบาท และสถานะของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในวันนี้

ถ้าจะย้อนไปแล้วบทบาทของพล.อ.ประวิตรน่าจะใกล้เคียงกับจอมพลประภาส จารุเสถียร ที่เป็นคู่บารมีของจอมพลถนอม กิตติขจร กล่าวกันว่า จอมพลถนอมเป็นคนพูดน้อย และมีภาพลักษณ์ของความซื่อสัตย์ แต่จอมพลประภาสกลับมีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชันและการใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่มิชอบหลายประการ จนเกิดการชุมนุมประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516

มีความพยายามสร้างอิทธิพลบารมีแบบนี้เหมือนกันในยุคของพล.อ.สุจินดา คราประยูร และพล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี แต่สุดท้ายก็ถูกประชาชนขับไล่

สถานะของพล.อ.ประยุทธ์กับพล.อ.ประวิตรจึงมีความคล้ายกับจอมพลถนอมกับจอมพลประภาสมากในบทบาทที่ต่างคนต่างเล่น แต่เป็นแรงเกื้อหนุนและส่งเสริมกันและกัน

วันนี้พล.อ.ประวิตรกลายเป็นศูนย์รวมที่ทุกคนต้องวิ่งเข้าหา เพราะบารมีและอิทธิพลในความเป็นพี่ใหญ่ของนายกรัฐมนตรีที่ดูแลและอุ้มชูกันมา แน่นอนว่า ถ้าไม่มีพล.อ.ประวิตรก็ไม่มีพล.อ.ประยุทธ์วันนี้

พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะรู้ว่า ภาพของพล.อ.ประวิตรต่อสาธารณชนนั้นพร่ามัว หลายครั้งจึงต้องออกมาการันตี ครั้งหนึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ออกมาบอกว่า พลเอกประวิตร เป็นคนดี เพราะถ้าท่านไม่ดี ผมก็คงไม่เคารพ และคงเลิกคบไปนานแล้ว รวมไปถึงคำมั่นสัญญาว่า จะอยู่ด้วยกันตลอดไป

แต่ต้องยอมรับนะครับว่า อย่างไรเสียพล.อ.ประวิตรก็ยังคงได้รับความนิยมและการยอมรับต่ำมากจากประชาชนที่เป็นกองเชียร์รัฐบาลประยุทธ์ เพียงแต่เพราะความรักที่เขามีต่อ พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้นเองที่ยอมให้ พล.อ.ประยุทธ์ อุ้มพล.อ.ประวิตรต่อไป และทำให้ พล.อ.ประวิตรยังสามารถพึ่งพิงและแขวนชะตากรรมไว้กับรัฐบาลนี้ได้

และกองเชียร์หลายคนจำเป็นต้องปกป้องเถียงแทนพล.อ.ประวิตรจากฝ่ายตรงข้ามเพราะกลัวจะกระทบพล.อ.ประยุทธ์เท่านั้นเอง

พล.อ.ประวิตรนั้นขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกในสมัยที่ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี และมีข่าวว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตั้งแต่สมัยของสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมครั้งแรกในสมัยของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สะท้อนว่า หลังจากพ้นจากอำนาจในกองทัพแล้ว พล.อ.ประวิตรก็ฝักใฝ่อำนาจทางการเมืองมาโดยตลอด

นอกจากนั้นสิ่งสำคัญที่พล.อ.ประวิตรมีและพล.อ.ประยุทธ์ไม่มีก็คือคอนเนกชันทางการเมือง พูดได้เลยว่า ไม่ว่าจะพลิกไปทางขั้วไหนพล.อ.ประวิตรก็ต่อสายได้หมด ในทางการเมืองพล.อ.ประยุทธ์จึงต้องพึ่งพิงพล.อ.ประวิตร

แต่หลังการเลือกตั้งและได้รัฐบาลประยุทธ์บทบาทของพล.อ.ประวิตรถูกลิดรอนลงกลายเป็นเพียงรองนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้รับผิดชอบอะไร ไม่ว่าจะเป็นกองทัพหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถูกมอบหมายให้ไปดูภัยแล้ง หรืองานที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอันให้สมฐานะกับคนที่มีบทบาทบารมีขับเคลื่อนการเมืองตัวจริง แต่ถนนทุกสายในพรรคและนอกพรรคไม่ว่าใครต้องการอะไรก็ยังต้องวิ่งเข้าหาพล.อ.ประวิตรอยู่ดี

บทบาทบุคลิกภาพของพล.อ.ประวิตรนั้น สะท้อนภาพของการเมืองแบบเก่าที่นักการเมืองพึ่งพาได้ พูดได้ว่า วันนี้พล.อ.ประวิตรเป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน มีบุคลิกภาพสวนทางกับที่สังคมเรียกร้องการเมืองที่ปฏิรูป ด้วยอำนาจบารมีนั้นเราจึงได้เห็น ป.ป.ช.มีคำอธิบายแปลกๆ ในเรื่องนาฬิกายืมเพื่อนโดยไม่สนใจว่า สังคมจะเกิดคำถามและยิ่งคลางแคลงใจหรือไม่ก็ตาม

แต่สำหรับนักการเมืองแล้วพล.อ.ประวิตรคือพี่ใหญ่พี่เคารพรัก ความใกล้ชิดสนิทสนมกับพล.อ.ประวิตรสามารถบันดาลในสิ่งที่ปรารถนา และตำแหน่งแห่งหนในทางการเมืองได้

ส่วนสังคมนั้นมีภาพจำของพล.อ.ประวิตรอีกแบบหนึ่งที่ใครยากจะลบเลือนได้ในชั่วข้ามคืน

ดังนั้นเมื่อฌอน บูรณะหิรัญ ออกมาบอกสังคมหลังได้พบกับพล.อ.ประวิตรในงานปลูกป่าว่า ภาพของพล.อ.ประวิตรที่ปรากฏในสื่ออาจโดนเอามาทำ MEME หรือทำภาพล้อ และมีภาพออกร้ายๆ แต่พอได้เห็นตัวจริงและพบตัวจริง พบว่าเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารัก ทำให้คิดได้ว่า บางครั้งสื่อบางสื่อก็มีเจตนาที่จะชี้นำให้ผู้รับสารเชื่อในสิ่งที่สื่อพยายามสร้างภาพออกไป

มันจึงเป็นภาพที่ขัดแย้งกับที่สังคมรับรู้ ซ้ำร้ายยังกล่าวหาว่า สื่อเป็นคนสร้างภาพร้ายๆ ออกไปให้คนเชื่อ จึงเกิดปรากฏที่เรียกว่าทัวร์ลง บทเรียนครั้งนี้สอนให้ฌอนรู้ว่าการจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของใครต้องใช้ความจริงไม่ใช่คำพูด และพรมแดนการเมืองไม่ใช่สนามเด็กเล่น

วันนี้พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ท่ามกลางการโอบล้อมของนักการเมือง มีใครคิดถึงผลลัพธ์นี้จากการออกมาชุมนุมเรียกร้องปฏิรูปการเมืองด้วยเลือดเนื้อและชีวิตบ้าง

ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น