ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 24 มิถุนาฯ 2575 ในปีนี้เรียกได้ว่าคึกคัก มีรายการประชันระหว่าง “คณะราษฏรใหม่” ที่เคลื่อนไหวทวงถาม “รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน” ขณะที่ “กองทัพบก” ก็จัดพิธีบำเพ็ญกุศลแก่สองแกนนำ “กบฏบวรเดช” เพื่อระลึกถึงคุณงามความดี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองผ่านโลกโซเซียล ย่อมเห็นความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ที่มีทั้งนักวิชาการ นักกิจกรรมทางการเมือง และประชาชนทั่วไป ในช่วงที่ผ่านมาอยู่เป็นระยะๆ
ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เพียงแต่เป็นวาระของ ครช. เท่านั้น ในการขึ้นม็อบในลักษณะ “แฟล็ชม็อบ” ของนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นก็ชูประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นวาระของพรรคการเมือง อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใช้หาเสียงช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา รวมทั้งพรรคก้าวไกล และอดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่กลายร่างมาเป็น “คณะก้าวหน้า” ในเวลานี้
ทางสภาผู้แทนราษฎร ก็ตอบรับเสียงเรียกร้องของสังคมด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาแล้ว
การเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ จึงเป็นวาระร่วม และ ครช. ถือเอาวันที่ 24 มิถุนาฯ 2563 เป็นวันนัดหมายสำคัญในการจัดกิจกรรมที่รัฐสภาย่านเกียกกาย กรุงเทพฯ ในร่วมแสดงพลัง “ทวงคืนมรดกคณะราษฎร ทวงคืนสัญญารัฐธรรมนูญประชาชน” โดยกิจกรรมในวันดังกล่าว มีชายแต่งกายคล้ายพระยาพหลพลพยุหเสนา อ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475
กิจกรรมของ ครช. เป็นการมาทวงถามความคืบหน้าในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 ครช.เคลื่อนขบวนธงเขียว มาที่รัฐสภาเพื่อยื่นข้อเสนอแนะต่อ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
หลังจำลองเหตุการณ์อ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 จบลง รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำ ครช. ได้อ่านแถลงการณ์ต่อตัวแทน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ที่มารับเรื่อง และชี้ว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีรัฐประหารรวม 24 ครั้ง สำเร็จ 13 ครั้ง ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ 20 ไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน และลดอำนาจของประชาชน
ข้อเรียกร้องที่สำคัญของ ครช. คือ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 แล้วให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส., ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น
นายชำนาญ จันทร์เรือง สมาชิกคณะก้าวหน้า ในฐานะรองประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ที่ออกมารับหนังสือ กล่าวว่า ขณะนี้ กมธ. แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ชุด คือชุดศึกษาเนื้อหา และชุดการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดที่มาจากข้อเสนอที่ผู้แทนจากหลากหลายองค์กรยื่นเข้ามา กมธ.จะฟังทุกส่วน ยืนยันว่าจะช้าหรือเร็วสุดท้ายก็ต้องมีการแก้ไขอย่างแน่นอน
เหตุการณ์ในวันดังกล่าวนั้น ยังมีกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) จัดกิจกรรมโดยอ่านประกาศคณะราษฎร ณ ลานสกายวอร์ค สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ เพื่อรำลึกวีรกรรมของคณะราษฎรในวันครบรอบ 88 ปี “อภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475” เช่นเดียวกัน หลังจากจบกิจกรรม นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อดีตประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มายืนจำหน่ายคุกกี้รูปหมุดคณะราษฎรและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เติมสีสันบรรยากาศในงานกิจกรรมด้วย
ในวาระโอกาสเดียวกันนี้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก มอบหมายให้พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการกองทัพบก จัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย พล.อ.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และบำเพ็ญกุศลแก่ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม ที่อาคารศรีสิทธิสงคราม กองบัญชากองทัพบก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กองทัพบก จัดพิธีรำลึกถึงพระองค์เจ้าบวรเดช และ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม ผู้นำในการพยายามทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2476 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เพื่อถวายคืนอำนาจให้สถาบันกษัตริย์
ตามเอกสารข่าวที่กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพบก แจกจ่ายต่อสื่อมวลชน ระบุว่า พิธีนี้จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของนายทหารที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันและยังเป็นนายทหารประชาธิปไตย ปี พ.ศ. 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า คณะราษฎร ถือเป็นการรัฐประหารเพื่อล้มราชบัลลังก์
เอกสารแจกดังกล่าว ระบุว่า ครั้น พ.ศ. 2476 ได้เกิดการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช โดยมีพระยาศรีสิทธิสงครามเป็นแม่ทัพ มีชื่อเป็นที่รู้จักกันว่า “กบฏบวรเดช” เนื่องจากพระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปกครองของพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่มีลักษณะเป็นเผด็จการ โดยเรียกร้องให้ รัฐบาลของพระยาพหลฯ ดำเนินตามแนวทางที่เสนอคือ ให้รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ และให้รัฐบาลมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยให้อำนาจฝ่ายรัฐสภาในการตรวจสอบมากขึ้นและจำกัดอำนาจของรัฐบาลมิให้คณะราษฎรกลายเป็นคณะเผด็จการ แต่ในที่สุดการก่อกบฏ ไม่เป็นผลฝ่ายรัฐบาล ปราบปรามคณะกบฏ ลงได้
“วีรกรรมที่กล้าหาญและเสียสละของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาศรีสิทธิสงครามควรแก่การยกย่องในฐานะที่ทรงปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความจงรักภักดี และทรงมุ่งหวังให้ประเทศชาติดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” เอกสารข่าวแจกดังกล่าว ระบุ
ในพิธีบำเพ็ญกุศลดังกล่าว มีพระเทพปัญญามุนี เจ้าอาวาสวัดอาวุธวิกสิตาราม มาพรมน้ำมนต์ ที่ป้ายห้อง ซึ่งมีป้ายชื่อ “ศรีสิทธิสงคราม” และ “บวรเดช” ด้วย
สำหรับอาคาร “ศรีสิทธิสงคราม” อาคารพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ปรับปรุงขึ้นตามแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก โดยเดิมจะให้ชื่ออาคารว่า “ขุนปลดปรปักษ์” ที่เป็นชื่อ นักรบในยุคต้นรัตนโกสินทร์ แต่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศรีสิทธิสงคราม” แทน
พันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เป็นบิดาของ นางอัมโภชน์ ท่าราบ ซึ่งเป็นมารดา ของ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานท์ ประธานองคมนตรี
ครบรอบ 88 ปี การอภิวัฒน์สยาม 2475 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 แต่ละฝั่งต่างมองประวัติศาสตร์กันคนละมุม แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มีเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ได้บันทึกเรื่องราวไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน