กลุ่มการเมืองต่อต้านรัฐบาลบุกสภา ทำกิจกรรม “24 มิถุนา” ยื่นหนังสือฝ่ายค้าน-กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทวง รธน.ประชาชน ปักหมุดประชาธิปไตย “วันนอร์” แซะ 88 ปี อำนาจยังเป็นของคนบางกลุ่ม ย้ำหน้าที่ทุกคนต้องสู้ “ชำนาญ” โวช้าเร็วสุดท้ายต้องแก้ไขแน่นอน
วันนี้ (24 มิ.ย.) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่บริเวณด้านหน้าอาคารัฐสภา เกียกกาย คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) นำโดยนายอนุสรณ์ อุณโณ ประธาน ครช. พร้อมด้วยมวลชนประมาณ 200 คน เดินทางมาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เนื่องในวาระครบรอบ 88 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในหัวข้อ “24 มิถุนาฯ ทวงคืนมรดกคณะราษฎร ทวงสัญญารัฐธรรมนูญประชาชน” เริ่มต้นด้วยการเปิดคำแถลงการณ์ของคณะราษฎรเมื่อปี 2475 มาเผยแพร่ และนำอุปกรณ์จำลอง อาทิ หมุดคณะราษฎรจำลอง พานรัฐธรรมนูญจำลองมาแสดง มีการแจกสติกเกอร์ แจกธงสีเขียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์รณรงค์แก้รัฐธรรมนูญปี 2540 จนสำเร็จ และชูสามนิ้ว พร้อมทั้งยื่นหนังสือต่อรัฐสภา เพื่อทวงถามความคืบหน้ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา และขอให้ประกาศวันที่ 24 มิ.ย.ทุกปีเป็นวันชาติ และวันกำเนิดประชาธิปไตยของไทย โดยมีตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 และแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ประกอบด้วย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล นายชำนาญ จันทรเรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นตัวแทนรับหนังสือ
นายอนุสรณ์กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ครช.ได้ยื่นข้อเสนอว่าด้วยหลักเกณฑ์และเเนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ได้แก่ 1. สร้างสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เข้มแข็ง ไม่นำเหตุความมั่นคงมาอ้างในการจำกัดเสรีภาพให้ประชาชนเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และสร้างหลักประกันด้านรัฐสวัสดิการ 2. สร้างกลไกเข้าสู่อำนาจที่ยึดโยงกับประชาชน กำหนดให้ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. และ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด การปฏิรูปประเทศหรือยุทธศาสตร์ชาติ ต้องไม่เกิดขึ้นโดยคนกลุ่มเดียวและต้องไม่นิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหาร 3. ให้ตราพระราชบัญญัติการรับฟังความเห็นของประชาชนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้ความเห็นของประชาชนมีผลผูกพันในทางกฎหมายและทางการเมืองต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4. ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เรื่องหลักเกณฑ์แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยเพียงเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
นายอนุสรณ์กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ถูกจัดทำภายใต้คณะรัฐประหารนำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอกย้ำให้เห็นถึงความถดถอยทางอำนาจของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการออกแแบบกลไกทางการเมืองให้สถาบันทางการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนอ่อนแอ อาทิ พรรคการเมืองหรือสภาผู้แทนราษฎร แถมยังเข้าไปกุมอำนาจทางการเมือง อาทิ วุฒิสภา หรือองค์กรอิสระ เพื่อควบคุมและคัดง้างกับอำนาจที่มาจากประชาชน เมื่อเจตนารมณ์พื้นฐานของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือการลดทอนอำนาจจากประชาชน จึงไม่แปลกที่สังคมไทยจะเห็นความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาลที่ไม่สามารถรับมือต่อวิกฤตการณ์ที่ถาโถมเข้าใส่ประเทศได้อย่างทันท่วงที และปล่อยให้ประชาชนต้องเผชิญหน้ากับความอดอยากและสิ้นหวัง
“ในวาระ 24 มิถุนาหรือวาระ 88 ปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถือเป็นโอกาสสำคัญของประชาชนที่จะรวมกันเรียกร้องให้มีการปักหมุดประชาธิปไตย สร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนกลับไปสู่รากฐานเดิม คือประชาชนทุกคนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ และมีเป้าหมายให้ประชาชนทุกคนมีความมั่นคงปลอดภัย มีความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ และมีสิทธิเสมอภาคกัน” นายอนุสรณ์กล่าว
ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวว่า ตนเป็นประธานรัฐสภาเมื่อปี 2540 และได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็อยากให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 ไปเป็นต้นแบบ ทั้งนี้ 88 ปีที่ผ่านมาเรายังไม่มีประชาธิปไตยที่เป็นอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง ทุกวันนี้อำนาจยังเป็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของทุกคนต้องต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญต่อไป
ขณะที่นายชำนาญกล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.กำลังทำงานอย่างต่อเนื่องโดยแบ่งออกเป็น 2 ชุด ได้แก่ 1. ชุดศึกษาเนื้อหา 2. ชุดการรับฟังความคิดเห็นโดยวันนี้จะมีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดที่มาจากข้อเสนอที่ผู้แทนจากหลากหลายองค์กรยื่นเข้ามา เราจะฟังทุกส่วน ยืนยันว่าจะช้าหรือเร็วสุดท้ายก็ต้องมีการแก้ไขอย่างแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นไปอย่างเข้มงวด โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำรัฐสภา และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.เตาปูน สน.บางโพ สน.พญาไท สน.ดินแดง สนธิกำลังทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยก่อนที่กลุ่มมวลชนจะแยกย้ายกลับด้วยความเรียบร้อยในเวลา 11.35 น.