นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก “วันมูหะมัดนอร์ มะทา”ระบุว่า หรือเราจะเอาเงินพันล้านไปละลายแม่น้ำกันจริงๆ
วันนี้จะลองชี้ให้เห็นถึงความคิดไม่รอบคอบของบรรดาผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภานั้นมีที่มาโดยการแต่งตั้งจาก คสช. (กลุ่มบุคคลที่ก่อการยึดอำนาจรัฐบาลประชาชน)
โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้วางโครงสร้างของสมาชิกวุฒิสภาไว้ที่จำนวน 250 คน มีที่มา 3 ทาง คือ
1).บรรดาผู้สมัคร ส.ว.เลือกกันเองให้เหลือ 200 คน จากนั้นก็ให้ คสช.เลือกตั้งแล้วแต่ใจจนเหลือ 50 คน
2)ส.ว.ที่เป็นโดยตำแหน่ง จำนวน 6 คน ได้แก่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และปลัดกระทรวงกลาโหม
3).แต่งตั้งจาก คสช.โดยตรงจำนวน 194 คน
รวม 3 แหล่งที่มาทั้งสิ้น 250 คน เป็น สมาชิกวุฒิสภา
มีเงินเดือนและค่าตอบแทนจากภาษีประชาชน ที่สมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งได้รับมากกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน ยังไม่รวมทั้งเบี้ยประชุม สิทธิ สวัสดิการ ค่าการเดินทาง หรือค่าตอบแทนของบรรดาทีมผู้ปฏิบัติงาน ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ชำนาญการ ที่กินภาษีประชาชนไปให้อีกส่วนหนึ่ง
ถ้าลองคำนวณด้วยตัวเลขกลมๆ ที่ 1 แสนบาท ต่อ 30 วัน (ความเป็นจริงได้รับค่าตอบแทนมากกว่า 1 แสนบาทมาก) จะตกอยู่วันละ 3,333 บาท 365 วัน จะอยู่ที่ 1.21 ล้านบาท โดยประมาณ
เมื่อคูณด้วย 250 คน เราจะเห็นภาษีที่จ่ายให้กับสมาชิกวุฒิสภาอยู่ที่ 304.16 ล้านบาทต่อปี วาระนี้เขากำหนดให้อยู่ 5 ปี สรุปว่าภาษีรัฐที่ต้องจ่ายให้กับสมาชิกวุฒิสภาชุดแต่งตั้งจาก คสช. แน่นอนแล้วเริ่มต้นที่ 1.52 พันล้านบาท
ซึ่งแน่นอนว่าในความเป็นจริงนั้น เงินภาษีที่ถูกจ่ายออกไปให้สมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเหล่านั้นมากกว่า 1.52 พันล้านบาทอย่างแน่นอน
แต่ท้ายที่สุดนั้น ประชาชนที่สนใจมองการเมืองออก เขาจะเข้าใจถ่องแท้เลยว่าล้วนแล้วแต่มาจากทางไหน และมีมาเพื่ออะไร
โดยปกติเนื้อแท้หน้าที่สำคัญของสมาชิกรัฐสภานั้นคือ การเข้าประชุม นั้นเป็น "หน้าที่หลัก" อันเพียรต้องรักษาวินัย มารยาท และอย่างน้อยก็แสดงตนอยู่ในที่ประชุม
เพราะในที่ประชุมนั้นมีอะไรหลายประการที่สำคัญต่อชาติ ทั้งการอภิปราย ให้ความเห็น หารือ ลงมติทั้งเปิดเผยและโดยลับ การพิจารณาประเด็นต่างๆ ดังนั้น ลองคิดดูสิครับว่า หากเราไม่เห็น "คนที่มีหน้าที่" มาทำหน้าที่ตามที่ถูกกำหนดไว้ ประเทศจะเสียหายมากเพียงใด
ท่านไม่ทำหน้าที่ และจะหวังผลที่ดีได้อย่างไร จะเปรียบกันได้ไหม ถึงบรรดาพนักงานที่ทิ้งหน้าที่ พนักงานรักษาความปลอดภัย หรือทหารที่ทิ้งหนีสงคราม บทลงโทษเขาเป็นอย่างไรกันบ้างนะ
ข้อมูลที่น่าตกใจอย่างหนึ่งที่ไม่คิดว่าจะพบได้ในปัจจุบัน แต่มันเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นจริงๆในรัฐสภาไทยแห่งนี้คือ บรรดาสมาชิกวุฒิสภาอันทรงเกียรติกว่า ขาดประชุมกันเป็นเรื่องปกติ และที่ไม่สบายใจคือ อัตราการขาดประชุมต่อเนื่องแบบนี้กำลังจะกลายเป็นนิสัย และความเคยชิน เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ในบรรดา 145 มติ ที่ในส่วนของฟากสมาชิกวุฒิสภา เขาได้พิจารณาประชุมกันนั้น กลายเป็นว่าบรรดาสมาชิกวุฒิสภาที่ขาดการลงมติมากที่สุด 10 อันดับแรกนั้น ประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นโดยตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพ 6 ตำแหน่งมากถึง 5 คน
และ 9 ใน 10 คน นั้น มียศสัญญาบัตรทางกองทัพ ทางตำรวจ ด้วยทั้งสิ้น !
โดยผู้ที่ขาดการลงมติมากที่สุดนี้ คือ ขาดการประชุมไป 144 มติ จาก 145 มติ ส่วนรองลงมาคือ ขาดการประชุมไป 143 มติ จาก 145 มติ นี่มันอะไรกัน
จะเรียกได้จริงๆหรือว่ามันคือ "วินัย" ในการปฏิบัติหน้าที่ตอบแทนชาติ ทำประโยชน์ต่อแผ่นดินด้วยดี
นึกอีกทีก็น่าขันใจนัก ในบรรดามติที่พิจารณาเรื่องความ เรื่องแผ่นดินวงกว้างต่อประชาชน กลับไม่ค่อยได้มา จริงจะว่าไป ก็ขาดไปเกือบ 100% ซะด้วยซ้ำ
แต่เมื่อถึงคราวยกมือเลือกนายกรัฐมนตรี กลับมากันโดยพร้อมเพรียงกัน แถมมีความเห็นตรงกันเป็นเอกฉันท์ทั้ง 250 คน ในการตัดสินใจ อันนี้ประชาชนทั้งประเทศเขาได้เห็นมาแล้ว
ไฉนเรื่องของบ้านเมือง ทุกข์ของประชาชนที่รอลงมติ ถึงไม่มากันเหมือนวันนั้นเล่า ?
หรืออาจจะยกเหตุผลที่หนักแน่นตามระบอบประชาธิปไตยมาอธิบายปรากฏการณ์นี้ก็คงจะพอสรุปได้ว่า "เมื่อผู้แทนนั้นมาจากกลุ่มใด เขาก็ย่อมรับใช้กลุ่มนั้น" และย้อนกลับไปสิครับว่า บรรดาสมาชิกวุฒิสภาทั้งหลายนั้นมาจากแหล่งใด และอะไรที่ทำให้เข้ามารับตำแหน่ง ประชาชนมีส่วนร่วมจริงๆหรือเปล่า ?
หากจะอ้างว่ามีภารกิจ มีความเร่งด่วน ก็จะย้อนสอบท่านไปในฐานะตัวแทนประชาชนว่า เราเห็นใจท่านที่ท่านมีภารกิจเยอะมาก ในเมื่องานเยอะ เวลาไม่ค่อยมี ท่านลาออก เปิดทางให้คนอื่นที่เหมาะสม และอยากทำงานดีกว่าไหม ? หรือท่านจะพิจารณาตนเอง บอกไปเลย ตัดสินให้เด็ดขาดเป็นชายชาตรีว่าจะเลือกทางไหน ? มิใช่ปล่อยให้เลยตามเลย แล้วกินเงินเดือนเต็มแบบนี้
ฝากไปยังสมาชิกรัฐสภาทั้งหลายสำนึกบ้างหรือไม่ว่า เงินทองประชาชนที่เสียภาษีมาโดยความยากลำบากนั้น กลายเป็นการเอาแต่ใจ เห็นแก่ตัวสะดวก เอาใจสบาย โดยการ "ละทิ้ง" หน้าที่อันพึงกระทำ
"ผู้แทนประชาชน" ที่ดี เขาไม่ทำกันหรอกครับ ทิ้งหน้าที่
ส่วนทางใครที่ทิ่งหน้าที่ ทิ้งอะไร ก็อดคิดไปไม่ได้ว่าเขาคนนั้นไม่ใช่ "ผู้แทนประชาชน" นั้นเอง ใยเล่าจะแคร์หัวจิตหัวใจประชาชนที่เฝ้ามองดูอยู่ว่าวุฒิสภาพอจะพยุงแก้ไขปัญหาได้บ้างไหม ?
นี่หรือคือผลลัพธ์ของการ "ปฏิรูปการเมือง" ที่เราต้องการจะเห็น
นี่หรือคือการทำงานที่ "ดีขึ้น" ของสมาชิกวุฒิสภากว่าที่ผ่านมา
นี่หรือคือแบบอย่างอันดี ต่อ "เกียรติ" ที่รัฐสภาควรรักษาไว้
นี่หรือคือ "อนาคตของชาติ" ที่เราต้องมาเสียงบประมาณ เสียเวลา เสียใจ ผิดหวัง กับพฤติกรรมทิ้งหน้าที่กันแบบนี้
หากเอาเงินงบประมาณระดับพันล้านบาทส่วนนี้ไปสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล คงได้มากหลายที่ หากนำเงินส่วนนีไปจ้างงานให้ประชาชนคงได้ช่วยเหลือ เป็นบุญเป็นกุศลให้คนหมู่มาก มากกว่าคนกลุ่มหนึ่งที่ดูดาย ดูแคลน มองประชาชนเป็นของตาย ละทิ้งหน้าที่
หรือมันจะถึงแก่กาลเวลาที่เราต้องร่วมพิจารณาทบทวนในฐานะ "ประชาชนคนไทย" เจ้าของประเทศที่ว่า
"สมาชิกวุฒิสภา" นั้นจำเป็นที่จะต้องมีอยู่จริงๆหรือไม่กันแน่ ?
ช่างน่าอายถึง "ที่มา" ของบรรดาสมาชิกวุฒิสภาเหล่านี้จริงๆ "Put the right man on the right job"
คำว่า "Job" ในที่นี่ คงไม่มีคำว่า "ประชาชน" อยู่ในภารกิจสินะ ?
ถึงได้มีผลลัพธ์การขาดการลงมติที่ประจักษ์เพียงนี้