นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แกนนำกลุ่มก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก piyabutr saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล หัวข้อ “ส.ว. มีไว้ทำไม”ระบุว่า วันที่ 5 มิถุนายน ปีที่แล้ว ที่ประชุมร่วมกันรัฐสภาลงมติเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผลปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ 500 คะแนน ส่วนธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ 244 คะแนน
ใน 500 คะแนนที่ลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์นั้น มี 249 เสียงจากสมาชิกวุฒิสภา นั่นหมายความว่า สมาชิกวุฒิสภาทุกคน(เว้นแต่ประธานวุฒิที่ทำหน้าที่รองประธานรัฐสภาซึ่งงดออกเสียง) ได้ลงคะแนนเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีโดยพร้อมเพรียงกัน
เหตุการณ์ในวันนั้น คือบทพิสูจน์ว่าวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเครื่องมือค้ำประกันการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ และพวก
รายการ Interregnum ในซีรีส์ใหม่ “ส.ว. มีไว้ทำไม?” เริ่มต้นตอนแรก จะพาท่านผู้ฟังย้อนกลับไปดู ที่มาที่ไปของวุฒิสภาชุดนี้ ใครเป็นเจ้าของความคิด เริ่มผลักดันเข้าในร่างรัฐธรรมนูญเมื่อไร กระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว. เป็นอย่างไร ประเทศไทยสูญเสียอะไรไปบ้าง เพื่อให้ได้วุฒิสภาแบบนี้มา
ส่วนในตอนต่อๆ ไป จะพาท่านผู้ฟังย้อนไปฟังประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของ Senate ตั้งแต่สมัยโรมัน ระบบสภาเดียวและระบบสองสภา เหตุผลของการมีสองสภา ตลอดจนประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยและการเมืองไทยที่บ่งชี้ว่า วุฒิสภาที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารคือสภาแห่งการสืบทอดอำนาจ
ทั้งหมดนี้ เพื่อตั้งคำถามว่า “ส.ว. มีไว้ทำไม?” นำไปสู่บทสรุปที่ว่า ประเทศไทยมีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งโดยประชาชนก็เพียงพอแล้ว