xs
xsm
sm
md
lg

ดักคอ! “ปิยบุตร” โหนพิจารณา พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้าน “ส.ว.มีไว้ทำไม?” ชี้ “ลงตู่” ชนะ “ทอน” บทพิสูจน์ให้เห็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
“ปิยบุตร” เดินเกม “ส.ว.มีไว้ทำไม?” โยนคำถามต่อสังคม ท่ามกลางการพิจารณา พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับ 1.9 ล้านล้านบาท ของรัฐบาล ยกตัวอย่าง “ลุงตู่” ชนะ “ทอน” กรณีโหวตเลือก “นายกฯ” เป็นบทพิสูจน์ได้อย่างดี

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (1 มิ.ย. 63) เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์หัวข้อ “[ ส.ว. มีไว้ทำไม? ]”

โดยระบุว่า “วันที่ 5 มิถุนายน ปีที่แล้ว ที่ประชุมร่วมกันรัฐสภาลงมติเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผลปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ 500 คะแนน ส่วน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ 244 คะแนน
ใน 500 คะแนนที่ลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ นั้น มี 249 เสียงจากสมาชิกวุฒิสภา นั่นหมายความว่า สมาชิกวุฒิสภาทุกคน (เว้นแต่ประธานวุฒิฯ ที่ทำหน้าที่รองประธานรัฐสภาซึ่งงดออกเสียง) ได้ลงคะแนนเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีโดยพร้อมเพรียงกัน

เหตุการณ์ในวันนั้น คือ บทพิสูจน์ว่าวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเครื่องมือค้ำประกันการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ และพวก

รายการ Interregnum ในซีรีส์ใหม่ “ส.ว. มีไว้ทำไม?” เริ่มต้นตอนแรก จะพาท่านผู้ฟังย้อนกลับไปดู ที่มาที่ไปของวุฒิสภาชุดนี้ ใครเป็นเจ้าของความคิด เริ่มผลักดันเข้าในร่างรัฐธรรมนูญเมื่อไร กระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว. เป็นอย่างไร ประเทศไทยสูญเสีย อะไรไปบ้างเพื่อให้ได้วุฒิสภาแบบนี้มา

ส่วนในตอนต่อๆ ไป จะพาท่านผู้ฟังย้อนไปฟังประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของ Senate ตั้งแต่สมัยโรมัน ระบบสภาเดียวและระบบสองสภา เหตุผลของการมีสองสภา ตลอดจนประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยและการเมืองไทยที่บ่งชี้ว่า วุฒิสภาที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารคือสภาแห่งการสืบทอดอำนาจ

ทั้งหมดนี้ เพื่อตั้งคำถามว่า “ส.ว. มีไว้ทำไม?” นำไปสู่บทสรุปที่ว่า ประเทศไทยมีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งโดยประชาชนก็เพียงพอแล้ว”

ทั้งนี้ ส.ว.ชุดนี้ กำลังจะทำบทบาทสำคัญอีกครั้ง ในการพิจารณา พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับของรัฐบาล เม็ดเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาแก้ปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด 19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งแก้ปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งถูกจับตามองว่า จะเอียงข้างรัฐบาลหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า ส.ว.ไม่จำเป็นต้องอภิปรายสนับสนุนเพียงอย่างเดียว โดยคาดว่าจะมีเนื้อหาใหม่ที่เป็นข้อสังเกตให้รัฐบาลรับไปปฏิบัติเกี่ยวกับพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับ เพียงแต่ต้องเข้าใจว่าพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับ แม้แต่ในสภาผู้แทนราษฎรเองแม้จะอภิปรายท้วงติงการตั้งข้อสังเกต แต่ทุกคนก็ยอมรับว่าเป็นความจำเป็นสูงสุดในขณะนี้ ที่ต้องมีการออกกฎหมายพิเศษ เชื่อว่า เรื่องนี้ควรจะต้องดูในเนื้อหาอภิปราย ส่วนเนื้อหาแต่ละคนจะเป็นอย่างไร ก็ต้องพิจารณากันเป็นรายบุคคลไป แต่ส่วนตัวตั้งข้อสังเกตบางประการที่ยังไม่มีการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรตลอด 5 วันที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรายละเอียดบางประการของพระราชกำหนดฉบับที่ 3 พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ พัฒนาการของ ส.ว. ซึ่งจากการสัมมนาวิชาการ “สภา ส.ว. = สภา...?” เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 62 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความหมายของวุฒิสภา หรือ Senate ในภาษาอังกฤษว่า “สภาคนแก่” ซึ่งมีที่มาจากสภาของชนชั้นสูงในยุคโรมัน ที่ส่วนใหญ่มักจะร่ำรวย มีอิทธิพล และมีอำนาจปกครองอย่างเด็ดขาดในสาธารณรัฐโรมัน และเริ่มเสื่อมอำนาจลงเป็นเพียงไม้ประดับ หลังจากที่ออกัสตัส ซีซาร์ ยึดอำนาจ และเปลี่ยนสาธารณรัฐโรมันเป็นจักรวรรดิโรมัน

แต่สำหรับประเทศไทย วุฒิสภาถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ซึ่งนำโดยกลุ่มข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “คณะราษฎร” โดยทำหน้าที่เป็น “สภาพี่เลี้ยง” ให้กับสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ เมื่อมีการผ่านกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็ต้องผ่านวุฒิสภาด้วย เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ช่วยตรวจสอบ ให้เหตุผลหักล้างหรือทักท้วง เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรทำงานอย่างรอบคอบ และในขณะที่ประเทศไทยกำลังพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองสู่ระบอบประชาธิปไตย ข้าราชการก็เริ่มมีความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ

“ใน พ.ศ. 2435-2475 ซึ่งเราเรียกว่ายุคราชาธิปไตย บทบาทของชนชั้นข้าราชการมีพัฒนาการตามลำดับ มีความแข็งแกร่งมากขึ้นจนกระทั่ง 2475 ข้าราชการทหารก็เริ่มมีอำนาจมากขึ้น เข้ามายึดอำนาจการปกครองหลายครั้งหลายหน กระทั่งพ.ศ. 2516 ผมใช้คำว่าระบอบคณาธิปไตย ก็คือระบอบที่ข้าราชการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย และเป็นผู้สืบต่ออำนาจอธิปไตย”

ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อธิบายพัฒนาการของข้าราชการไทย ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาในยุคหลัง

ภาพประชุมส.ว. จากแฟ้ม
โดยเล่าว่า ในช่วง พ.ศ. 2516-2557 มีความพยายามแชร์อำนาจร่วมกันระหว่างข้าราชการกับพรรคการเมือง จากการมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ธีรภัทร์ เรียกระบอบการปกครองในขณะนั้นว่า “ธนาธิปไตย” คือ การที่พรรคการเมืองใช้เงินในการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ ทว่าในที่สุด การแชร์อำนาจดังกล่าวก็มาถึงจุดแตกหัก หลังจากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 ที่อำนาจมาอยู่ในมือพรรคการเมืองมากขึ้น นำไปสู่การทำรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และเกิดความขัดแย้งตามมาอีกหลายครั้ง จนกระทั่งเกิดรัฐประหารครั้งล่าสุดโดย คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นั่นเอง

“เราก็มุ่งหวังว่า คสช. จะปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง นำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มีการบริหารงานที่ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก แต่ปรากฏว่า 5 ปีที่ผ่านมานั้น เป็น 5 ปีแห่งความล้มเหลวในด้านการเมือง เป็น 5 ปีที่เราไม่ได้พัฒนาไปสู่การเป็นประชาธิปไตย แต่กลับย้อนยุคกลับไปสู่ระบอบคณาธิปไตยใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2516 ปรากฏการณ์ล่าสุดก็คือ สมาชิกวุฒิสภาที่เพิ่งประกาศชื่อไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นความคิดแบบเดิมที่ต้องการเอาข้าราชการประจำ ไม่ว่าจะเป็นนายทหาร และข้าราชการพลเรือนต่างๆ เข้ามา” ศ.ดร.ธีรภัทร์ กล่าว...
(https://www.sanook.com/news/7782926/)

แน่นอน, “ส.ว.มีไว้ทำไม?” ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิรูปการเมือง และขณะที่ “คสช.” ยังมีอำนาจ เป็นเรื่องที่หยิบยกมาโจมตีทางการเมืองได้ตลอดเช่นกัน เพราะยากที่จะยืนยันได้ว่า เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ และยากที่จะปฏิเสธว่า คสช.ไม่ได้ครอบงำการบริหารประเทศ ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยิ่งเข้าทางอีกฝ่าย

แต่อย่าลืม ก่อนที่จะมีการรัฐประหารของ “คสช.” ใครสร้างความขัดแย้ง จนนำมาสู่การประท้วงตามท้องถนน มีการใช้อาวุธสงครามเข้าประหัตประหารกัน และที่สำคัญ ไม่ยอมรับการเจรจายุติปัญหา จนการเมืองถึงทางตันด้วย

หลังรัฐประหาร คสช.ต้องการปฏิรูปประเทศทุกด้าน มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป (2560) และรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ผ่านประชามติเรียบร้อย

อย่างนี้แล้ว ถ้าจะโทษ ส.ว. ก็ต้องโทษสิ่งที่ทำให้เกิด ส.ว.ในวันนี้ด้วย โดยเฉพาะต้นเหตุสำคัญก็คือ ส.ส. พรรคการเมือง และนักการเมือง ที่อยู่ในรัฐสภาขณะนั้น ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาการเมือง ด้วยการเมืองได้ จนสร้างความขัดแย้ง ถึงขั้นอาจนำไปสู่การนองเลือด เชื่อว่าประชาชนไทยคงจำเหตุการณ์ช่วงนั้นได้ดี

ดังนั้น การเด็ดยอดมาโจมตี โดยไม่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ในอดีต ก็ไม่ต่างอะไรกับคนฉวยโอกาสอย่างหน้าด้านที่สุดนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น