วุฒิฯ หนุน พ.ร.ก.สู้โควิด แต่ห่วงทุจริต สวมโครงการเก่ากวาดงบ แฉท่องเที่ยวขอแล้ว 2 หมื่น ล. ก๊วนสังกัด รบ.มีโควตาหาเสียง 200-300 ล. ท้วง 2 ผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนบีเอสเอฟ ส่อขัดคุณสมบัติ แนะตั้งภาค ปชช.เป็น กก.กลั่นกรอง พ่วง กก.อิสระติดตาม
วันนี้ (1 มิ.ย.) ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 2. พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และ 3. พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ภายหลังสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยมี นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวเสนอหลักการและเหตุผล และมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีมาร่วมรับฟัง
ทั้งนี้ ส.ว.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการต่างๆของรัฐบาลที่ออกมาช่วยเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการผ่านการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.เหล่านี้ แต่ก็แสดงความเป็นห่วงหลายประเด็น อาทิ การใช้เงินจำนวนมหาศาลนี้ว่าอาจจะไม่ทั่วถึง หรือตกไปอยู่ในมือของกลุ่มนักการเมืองเท่านั้น ความไม่โปร่งใสต่อการใช้จ่าย ควรเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยการเข้าไปเป็นคณะกรรมการในชุดต่างๆ และผลกระทบทางเศรษฐกิจระยะยาว กับคนไทยที่มีมีรายได้ลดลง มีโอกาสทำให้หนี้สาธารณะเกินเพดานร้อยละ 60 ต่อ GDP จำเป็นต้องเร่งรัดปฏิรูปโครงสร้างภาษีอย่างจริงจัง
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายถึง พ.ร.ก. ตั้งกองทุนบีเอฟเอส ว่า ตนได้ติดตามการชี้แจงของรัฐบาล และ ธปท.มาโดยตลอด พอจะยอมรับได้ถึงหลักการที่ต้องการช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบ เนื่องจากตราสารหนี้มีมูลค่าถึง 3.8 ล้านล้านบาท และที่ต้องเลือกช่วยรายใหญ่ หรือระดับ Investment Grade เพราะมีจำนวนสูงถึงมากกว่า 90% ของหุ้นกู้ทั้งหมด และผู้เข้ามาลงทุนในระดับนี้มีประชาชนซื้อหน่วยลงทุนไว้ จึงพอพูดได้ว่าไม่ได้อุ้มคนรวยอย่างที่พูด แต่ช่วยคนชั้นกลางที่มีเงินออมด้วย และกองทุนบีเอสเอฟ.ยังไม่มีใครเข้าโครงการ จึงพอพูดได้ว่ามาตรการเชิงป้องกันที่ตั้งหลังพิงไว้ให้เข้มแข็งมั่นคงนั้นได้ผลในระดับหนึ่ง อย่างน้อยถ้าวิกฤตโรคระบาดไม่ซ้ำเติมมากไปกว่านี้ พ.ร.ก.ฉบับนี้อาจจะไม่ต้องใช้เงินเลยสักบาทเดียว ซึ่งกฎหมายนี้มีอายุ 5 ปี ตลาดตราสารหนี้ที่มีปัญหาโดยพื้นฐานจำนวนหนึ่ง รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่ว่าเทียบเท่ากับเมื่อร้อยปีก่อนก็ไม่รู้ว่าจะไปถึงไหนขณะนี้เพิ่งเริ่มต้น ดังนั้นโอกาสที่กองทุนบีเอฟเอส.จะได้แสดงความสามารถตามกฎหมายพิเศษที่ออกมาโดยรัฐบาลก็จะมีความเป็นไปมาก
นายคำนูณ กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้กำหนดกระบวนการกำกับ ควบคุมไว้เป็นการพิเศษนอกเหนือไปจาก พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในมาตรา 4 วรรคสาม คือ ตลอด 5 ปีที่มีกองทุนนี้หรือตราบใดที่กองทุนนี้ ธปท.ยังคงเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนแต่เพียงผู้เดียว การกำกับควบคุมจะเป็นไปตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้ ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของการกำกับควบคุมของ ก.ล.ต. ซึ่งการบัญญัติให้มีคณะกรรมการ 2 ระดับ คือ คณะกรรมการกำกับการกองทุน และคณะกรรมการกำกับการลงทุน ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการกำกับกองทุนในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ที่มาของคณะกรรมการมีอำนาจกว้างขวางในการกำกับทิศทางของกองทุนบีเอสเอฟ. มีอำนาจแม้กระทั่งสามารถให้การผ่อนผันกับหลักเกณฑ์การซื้อหุ้นกู้ในมาตรา 14(2) ได้ โดยกรรมการดังกล่าวมาจากปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ผู้ว่าการ ธปท. เป็นรองประธาน ผอ. สำนักบริหารหนี้สาธารณะ ผอ. สำนักเศรษฐกิจการคลังและข้าราชการธนาคารแห่งประเทศไทย
“แต่ที่ก่อให้เกิดเป็นคำถามใหญ่ คือ ผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยคำแนะนำของผู้ว่าการ ธปท. จากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ หรือด้านกฎหมายจำนวนไม่เกิน 3 คน ขณะนี้มีคณะกรรมการเรียบร้อยแล้วมีผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 3 ท่านแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 63 แต่สาธารณชนซึ่งรับทราบวันที่ 28 เมษายน มีการประชุมหลายครั้งและตั้งกฎเกณฑ์ออกมาดูงดงาม แต่ขณะนี้ผมสงสัยว่าเกิดมีปัญหาขึ้น กับกรรมการ 2 คน ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ รมว.คลัง แต่งตั้ง โดยคนที่ 1 เคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการ ก.ล.ต.คนสุดท้ายที่พ้นจากตำแหน่ง 30 เมษายน 2562 ประเด็นคือ แม้ พ.ร.ก.ฉบับนี้จะไม่ได้กำหนดคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของผู้ทรงคุณวุฒิ แต่สงสัยว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้จะไปยกเว้นลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายอื่นด้วยหรือไม่ เพราะผู้ทรงคุณวุฒินี้ที่เคยเป็นอดีตเลขาธิการ ก.ล.ต.เพิ่งพ้นตำแหน่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ครบ 2 ปีเต็ม”
ซึ่งมาตรา 22/1 22/2 และ 267/1 ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการกำหนดให้ภายใน2 ปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการจะประกอบธุรกิจไม่ได้
หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รมว.คลัง ในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมาย มั่นใจหรือไม่ว่าได้ทำถูกกฎหมายแล้ว ซึ่งเคยมีกรณีเทียบเคียงมาแล้วจากกรณีบอร์ดการบินไทยคนหนึ่งได้ลาออกจากตำแหน่งเพราะพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีมาไม่ถึง 2 ปี
นอกจากนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิคนที่ 2 เป็นกรรมการกำกับตลาดทุน ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งกฎหมายกำหนดให้กรรมการกำกับตลาดทุนต้องไม่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการในธุรกิจหลักทรัพย์ตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น เรื่องนี้สมควรคลายปมสงสัย ถ้ารัฐบาลมั่นใจว่าไม่ขัดต่อกฎหมายต้องคำถามนี้ เพราะมิเช่นนั้นจะเสี่ยงต่อการดำเนินการต่อไปของคณะกรรมการกำกับกองทุน และ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน จึงขอทักท้วงเอาไว้
สำหรับกรณีของผู้ทรงคุณวุฒิใน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ไว้ในมาตรา 7 คือ นอกจากมีข้าราชการประจำ 6 แล้ว ยังให้นายกฯแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาอีก 5 คน จากภายนอกแต่เท่าที่ทราบจนถึงวันนี้มีการแต่งตั้งเข้ามาเพียง 1 คน คือ เลขาธิการกฤษฎีกา ดังนั้น เพื่อสร้างเสริมความมั่นใจให้กับการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งอยากเสนอว่าอีก 4 คน ท่านนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) จะแต่งตั้งที่ไม่ใช่ภาคราชการได้หรือไม่ แต่เป็นภาคประชาชน หรือภาคประชาสังคมที่ทำงานต้านคอรัปชั่น และเศรษฐกิจชุมชน
“หากทำได้จะสร้างความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น เพราะจุดอ่อนที่สำคัญของกฎหมายกู้เงิน คือ เป็นการกู้เงินนอกงบประมาณและจ่ายเงินออกนอกงบประมาณประจำปี ตามกระบวนการที่รัฐบาลออกระเบียบ ซึ่งไม่ได้ผ่านฝ่ายนิติบัญญัติตามหลักการใช้จายเงินแผ่นดินตามพรบ.งบประมาณปกติ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้ คือ ผู้ทรงคุณวุฒิอีก4 คน และเมื่อมีกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ครบ 11 คนแล้ว หากเป็นไปได้ขอให้แก้ไขระเบียบสำนักนายกฯฉบับวันที่ 21 เม.ย. 63 ให่มีความเข้มข้นขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์ และผมเห็นด้วยกับการให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมา เพื่อตรวจสอบและเสนอแนะมาตรการแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ในรอบร้อยปีจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่งขึ้นมาก็จะเป็นประโยชน์” นายคำนูณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนจบการอภิปราย นายคำนูณ ได้ขอให้ รมว.คลัง ชี้แจงในประเด็นข้อกฎหมายเรื่องการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ชัดเจน หากยืนยันว่าถูกต้องแล้วมีหลักฐานอะไร หากกฤษฎีกามีความเห็นอย่างไรถือเป็นที่สิ้นสุดหรือไม่ หากกระบวนการต้องไปต่อทางศาลใครจะรับผิดชอบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับคณะกรรมการทั้งสองชุดนี้ หรือแม้แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับคณะกรรมการรกำกับตลาดทุนในกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ด้าน นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาท ดูแล้วเหมือนตีเช็คเปล่า กู้เงินไปก่อนแล้วทำโครงการทีหลัง แม้มีกรอบแผนงานท้าย พ.ร.ก.แต่ก็ไม่มีรายละเอียด เท่าที่ฟังจากเลขาสภาพัฒน์ตัวชี้วัดคือ สร้างงาน สร้างรายได้ แต่รัฐบาลมีการชี้แจงโครงการเมื่อวันที่ 25-26 พ.ค. แต่ให้ส่วนราชการจังหวัดเสนอโครงต่างๆ มาภายในวันที่ 5 พ.ค. ถือเร่งรัดเกินไปเพราะมีเวลาเพียง 10 วัน คงจะเอาโครงการเดิมๆ จากเทศบาล อบต.มาเสนอ ชุมชนคงไม่ได้มีส่วนร่วม เพราะเวลากระชั้นชิด ไม่มีการวิเคราะห์โครงการ ความเป็นไปได้ โครงการขนาดเล็ก ผู้รับเหมาะอาจจะมาขอโครงการเบี้ยหัวแตก ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ โครงการคุณขอมาเป็นส่วนมาก บางครั้งอาจจะเป็นโครงการหาเสียงของนักการเมือง
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า การกำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการภายใน 20 วัน ในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ควรมีภาคประชาชนร่วมด้วย เช่น ประธานหอการค้า อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว เพื่อมีส่วนร่วมในการพิจารณาโครงการอย่างรอบคอบ เพราะเวลาพิจารณามีน้อย ตนเกรงว่า จะซ้ำซ้อนงบปกติ นั่งตรวจสอบวิเคราะห์โครงการจากห้องแอร์ โครงการมีเป็นพัน หมื่น เกรงว่าจะไม่รอบคอบ ต้องให้เกิดความคุ้มค่าประหยัดตาม กม.วินัยการเงินกำหนดไว้
“งบก่อนนี้เหมือนเป็นเค้กทุกกระทรวงจ้อง กลุ่มก๊วนสังกัดรัฐบาลมีโควตาหาเสียง 200-300ล้านบาท ทำโครงการอาจจะมีผลประโยชน์แอบแฝง วิธีจ้างเหมาการเอาเฉพาะเจาะจงหรือวิธีพิเศษวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท มีข่าวแล้วว่ากระทรวงท่องเทียวขอโควตาไป 2 หมื่นล้านบาท”
ส่วนการติดตามประเมินผลมีการแต่กำหนดคณะกรรมการกลั่นกรองไว้ แต่ไม่ได้กำหนดคณะกรรมการติดตามประเมินผล มีแต่ในพ.ร.บ.วินัยการเงินฯที่ให้มีการติดตามประเมินผลการใช้เงินกู้ทุกขั้นตอน ควรให้นายกฯแต่งตั้งผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ตรวจราชการกระทรวงหมาดไทยประจำเขตตรวจรับผิดชอบที่มี 18 เขตเป็นหัวหน้าคณะ และมีผู้ตรวจราชการอื่นๆ และกรมต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการด้วย และควรมีศูนย์ป้องกันและปราบการทุจริตที่ทำเนียบ โดยมี รมต.ประจำสำนักฯ ร่วมกับองค์กรต่อต้านการทุจริตเป็นกรรมการ เพราะการใช้เงิน 4 แสนล้าน มีช่องโหว่มากมาย ทุจริตได้ง่ายทุกขั้นตอน และควรให้โครงการวุฒิสภาพบประชาชนทั้ง 77 จังหวัด ตรวจสอบติดตามการใช้เงินด้วย