รมว.คลัง แจงอภิปรายยืนยันเจตนารมณ์ พ.ร.ก.กู้เงินพยุงเศรษฐกิจ รักษาเอสเอ็มอี ไม่ได้อุ้มนายทุนรายใหญ่บางกลุ่ม แต่เน้นประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ช่วยให้ปรับตัวสู่ new normal
วันนี้ (31 พ.ค.) นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ชี้แจงต่อการอภิปรายของนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ถึงการจัดการเกี่ยวกับภัยโควิด โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่ต้องการเกิดผลกระทบรุนแรงจนกระทบเศรษฐกิจ จึงได้จัดการด้านสาธารณสุขเป็นอันดับแรกและดำเนินการไปได้ดี ส่วนด้านเศรษฐกิจเรามุ่งเน้นเรื่องการเยียวยาปัญหาขาดสภาพคล่องสำหรับประชาชน ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs โดยมีมาตรการต่างๆ ออกมา และส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วันนี้รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการเพื่อให้มีความต่อเนื่องในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็กเพื่อให้ก้าวสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่จะมาถึง ซึ่งไม่ใช่แค่การเอาเงินเยียวยาให้ประชาชนเท่านั้น แต่มีทั้งเรื่องเยียวยาและฟื้นฟูที่ได้พยายามให้ดำเนินการต่อเนื่องและสอดรับกับแผนพัฒนาประเทศยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ แต่ก็จำเป็นต้องมีตัวเงินใส่เข้าไปในแผนฟื้นฟู แต่จะไม่ใช่มาตรแต่เรื่องเยียวยา เพราะขณะที่ผู้ประกอบพยายามปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ หรือ New Normal ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สภาพคล่องในการปรับตัวเอง โดยรัฐบาลกำลังดำเนินการกับภาคส่วนต่างๆ ในการออกมาตรการที่ไม่ใช่ตัวเงินออกมา เช่น การเสริมทักษะสร้างงาน สร้างบุคลากร โดยเน้นในพื้นที่ในระดับชุมชนเป็นหลักโดยภาคเครือข่ายต่างๆ ไปพร้อมกัน มี พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อการเยียวยา 4 แสนล้านบาท มาสอดรับกับสิ่งเหล่านี้
“การดำเนินมาตรการเยียวยาเราพยายามให้ตรงเป้าหมายที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องความเร่งด่วนที่จะต้องเข้าไปดูแลอย่างรวดเร็ว ภายใต้ระบบของประเทศที่มีอยู่ และข้อมูลที่มีหลายอย่างเราอยากทำให้เร็วกว่านี้แต่ก็จำเป็นต้องเยียวยาให้ถูกคน และใช้งบประมาณอย่างรัดกุมคุ้มค่าเพราะเป็นเงินของชาติ จึงจำต้องใช้เวลา แต่เมื่อดำเนินการไปก็มีการปรับปรุง และรับฟังคำติชม ทักท้วงและปรับจนสามารถดำเนินการอย่างที่ได้เห็นผลแล้วในวันนี้สำหรับการดูแลกลุ่มต่างๆ ด้วยกลไกและมาตรการที่มีอยู่”
ส่วนประเด็นการกู้เงินและการบริหารจัดการภาระหนี้ของประเทศ ขอชี้แจงว่ากระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีแผนการระดับสากลเพราะมีประสบการณ์พอสมควร โดยจะใช้ตราสารการเงินในรูปแบบที่ดี เพื่อกระจายความเสี่ยง เพิ่มความสมดุลย์ ไม่กระทบส่วนใดของตลาดเงินมากเกินไป เช่นเครื่องมือระยะยาวมีการออกพันธบัตรรัฐบาล และพัมธบัตรออมทรัพย์ที่ออกไป โดยต้องการให้ประชาชนมีโอกาสได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาโควิดครั้งนี้ โดยผ่านการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ และยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ลงทุนในภาวะนี้ที่ดอกเบี้ยธนาคารต่ำ ประชาชนเข้าถึงกำหนดได้เพราะกำหนดซื้อได้อย่างต่ำ 1 พันบาท ไม่เกินคนละ 2 ล้านบาท เพราะต้องการให้กระจายไปถึงประชาชนรายย่อย
ส่วนการกู้ระยะสั้นก็มีเครื่องมืออื่นเช่น ตั๋วเงินคลัง สัญญาใช้เงินต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมามีการกู้ไปแล้ว 1.7 แสนล้านบาท ต้นทุนเฉลี่ย อยู่ที่ร้อยละ1.5 เป็นอัตราที่สอดคล้องกับภาวะตลาดเงิน ตลาดทุนในปัจจุบัน หากในอนาคตมีการเปลี่ยนไปก็จะดูแลให้การระดมเงินผ่านการกู้ต่างๆให้สอดรับกับสภาวะของตลาดด้วย ส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2555 อัตราส่วนอยู่ที่ร้อยละ 40 แต่เราจำต้องกู้เพื่อมาสู้กับโควิดได้ ทำให้อัตราส่วนจำเป็นต้องขึ้นไปสูงขึ้น มิเช่นนั้นจะสู้ภัยไม่ได้ แต่หากไม่มีภัยนี้แล้วตนเชื่อว่าหนี้สาธารณะก็อยู่ในระดับร้อยละ 40 กว่าต่อไป
สำหรับประเด็นข้อกฎหมายที่ว่า พ.ร.ก.บีเอสเอฟ ฉบับที่ 3 ให้อำนาจ รมว.คลังมากเกินควร ขอเรียนว่าไม่ได้ให้อำนาจเกินควร เพราะในมาตรา 5 แม้จะให้อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเพื่อให้การดำเนินการตาม พ.ร.ก.ความสามารถดำเนินการได้โดยไม่เกิดอุปสรรคและความเสียหายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งไม่อาจปล่อยให้เนิ่นนานล่าช้าในภาวะเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจของรัฐมนตรีนี้ยังต้องอยู่ภายใต้หลักของการสุจริตโปร่งใส และการขัดกันของผลประโยชน์ แม้จะให้ถือว่าคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีถือเป็นที่สุด แต่ก็ในเชิงบริหารเท่านั้น การใช้อำนาจการบริหารยังคงอยู่ภายใต้การตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรมของศาลตามหลักการแบ่งแยกอำนาจตามปกติ ไม่ได้ให้อำนาจสูงสุดแต่รัฐมนตรีเทียบเท่าศาล เนื่องจากการวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้ตัดสิทธิ์ในกระบวนการทางศาลแต่อย่างใด หากไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยก็สามารถใช้กระบวนการทางศาลตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐมนตรีคลังได้ในทุกเวลา และรัฐมนตรีก็ต้องรับผิดชอบ
ส่วนมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ที่มองว่าการกำหนดให้ธปท.โดยความเห็นชอบของรมว. คลังมีอำนาจซื้อขายตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ไม่ใช่ตราสารหนี้ออกใหม่นั้น เป็นการให้อำนาจรัฐมนตรีที่ขัดต่อมาตรา 77 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญ ขอชี้แจงว่ามาตรา 19 วรรคหนึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขในการใช้ดุลพินิจไว้ 2 เงื่อนไข คือ 1. ต้องเป็นกรณีที่ตราสารหนี้ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างร้ายแรงอันเนื่องมาจากโควิด-19 และ 2. มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโดยรวม ถือเป็นกรณีที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของ ธปท. และ รมว.คลังไว้แล้ว และยังกำหนดให้มีผู้พิจารณา 2 ขั้นตอน เพื่อความรอบคอบโดยผ่านการพิจารณาของ ธปท. และ รมว.คลัง ส่วนเรื่องระยะเวลาการใช้ดุลพินิจเนื่องจากเป็นกรณีเร่งด่วน ซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักของการพิจารณาของ ธปท.และ รมว.คลัง จึงจำเป็นต้องดำเนินการให้บริการในภาวะเช่นนี้ จึงยืนยันว่าบทบัญญัติมาตรา 19 ของ พ.ร.ก.นี้ไม่ได้ต่อมาตรา 77 วรรค 3 แต่อย่างใด
“ผมขอยืนยันว่ากองทุนบีเอสเอฟไม่ได้อุ้มบริษัทใหญ่ หรือบริษัทที่ออกตราสารใด แต่มีความจำเป็นจริงที่เราต้องดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ออกหุ้นกู้เท่านั้นไม่ว่าขนาดแค่ไหน แต่สำคัญคือเกี่ยวข้องกับประชาชนที่ถือตราสารหนี้ที่มีจำนวนมากในปัจจุบัน การดำเนินการของกองทุนดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในกลไกการรักษามูลค่าเงินออม และเงินทุนของประชาชน และเป็นการช่วยเหลือผู้ออกหุ้นกู้โดยคิดดอกเบี้ยแพงเป็นพิเศษหากเทียบกับ พ.ร.บ.ฉบับที่ 2 หรือซอฟต์โลน ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ให้ดอกเบี้ยถูกเป็น แต่ฉบับที่ 3 จะให้ดอกเบี้ยแพงเป็นพิเศษถึงจะได้รับความช่วยเหลือ” นายอุตมมกล่าว