xs
xsm
sm
md
lg

60ส.ส.หนุน"อุตตม"ลุยต่อ สภาฯผ่านฉลุย3พรก.กู้เงิน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"สนธิรัตน์-ธรรมนัส" นำทีม 60 ส.ส. หนุน"อุตตม" ดูแลเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 พร้อมทำหน้าที่เป็นหน.พรรคต่อไป ขณะที่สภาฯ ผ่านฉลุย พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ "อุตตม" ยันเจตนารมณ์กู้เพื่อพยุงศก. รักษาเอสเอ็มอี ไม่ได้อุ้มทุนใหญ่

วานนี้ (31พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และแกนนำพรรคฯ นำ 60 ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ เข้าให้กำลังใจ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และหัวหน้าพรรคพปชร. เพื่อให้ทำหน้าที่ในการดูแลงบประมาณและเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 พร้อมทั้งสนับสนุนให้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐต่อไปด้วย

"อุตตม"ยันกู้เพื่อพยุงเอสเอ็มอี

ส่วนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาพ.ร.ก.กู้เงิน เป็นวันสุดท้ายนั้นในช่วงท้ายของการอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ โดยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน เป็นผู้อภิปรายสรุปในส่วนของฝ่ายค้านแล้ว นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้ชี้แจงถึงการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการออกพ.ร.ก.กู้เงิน โดยยืนยันว่ารัฐบาลจัดการด้านสาธารณสุขเป็นอันดับแรก และดำเนินการไปได้ดี ส่วนด้านเศรษฐกิจ เรามุ่งเน้นเรื่องการเยียวยาปัญหาขาดสภาพคล่องสำหรับประชาชน ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs โดยมีมาตรการต่างๆออกมา

ส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วันนี้รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการเพื่อให้มีความต่อเนื่องในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการรายเล็กเพื่อให้ก้าวสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่จะมาถึง จึงจำเป็นต้องมีตัวเงินใส่เข้าไปในแผนฟื้นฟู เพราะผู้ประกอบการยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สภาพคล่องในการปรับตัวเอง โดยรัฐบาลกำลังดำเนินการกับภาคส่วนต่างๆในการออกมาตรการที่ไม่ใช่ตัวเงินออกมา เช่น การเสริมทักษะสร้างงาน สร้างบุคลากร โดยเน้นในพื้นที่ในระดับชุมชนเป็นหลัก โดยภาคเครือข่ายต่างๆไปพร้อมกัน มีพ.ร.ก.เงินกู้เพื่อการเยียวยา 4 แสนล้านบาท มาสอดรับกับสิ่งเหล่านี้

สำหรับการบริหารจัดการภาระหนี้ของประเทศ ขอชี้แจงว่า ก.คลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีแผนการระดับสากล เพราะมีประสบการณ์พอสมควร โดยจะใช้ตราสารการเงินในรูปแบบที่ดี เพื่อกระจายความเสี่ยง เพิ่มความสมดุล ไม่กระทบส่วนใดของตลาดเงินมากเกินไป เช่น เครื่องมือระยะยาว มีการออกพันธบัตรรัฐบาล และพัมธบัตรออมทรัพย์ที่ออกไป โดยต้องการให้ประชาชนมีโอกาสได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาโควิด-19 ครั้งนี้ โดยผ่านการซื้อพันธบัตรออม

ทรัพย์ และยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ลงทุนในภาวะนี้ที่ดอกเบี้ยธนาคารต่ำ ประชาชนเข้าถึงกำหนดได้เพราะกำหนดซื้อได้อย่างต่ำ1 พันบาท ไม่เกินคนละ 2 ล้านบาท เพราะต้องการให้กระจายไปถึงประชาชนรายย่อย

ส่วนการกู้ระยะสั้น ก็มีเครื่องมืออื่นเช่น ตั๋วเงินคลัง สัญญาใช้เงินต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมามีการกู้ไปแล้ว 1.7 แสนล้านบาท ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ1.5 เป็นอัตราที่สอดคล้องกับภาวะตลาดเงิน ตลาดทุนในปัจจุบัน หากในอนาคตมีการเปลี่ยนไปก็จะดูแลให้การระดมเงินผ่านการกู้ต่างๆ ให้สอดรับกับสภาวะของตลาดด้วย ส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDPที่ผ่านมาตั้งแต่ปี55 อัตราส่วนอยู่ที่ร้อยละ 40 แต่เราจำต้องกู้เพื่อมาสู้กับโควิด-19 ทำให้อัตราส่วนจำเป็นต้องขึ้นไปสูงขึ้น มิเช่นนั้นจะสู้ภัยไม่ได้ แต่หากไม่มีภัยนี้แล้วตนเชื่อว่าหนี้สาธารณะก็อยู่ในระดับร้อยละ 40 กว่าต่อไป

สำหรับประเด็นข้อกฎหมายที่ว่า พ.ร.ก. บีเอสเอฟ ฉบับที่ 3 ให้อำนาจ รมว.คลังมากเกินควร ขอเรียนว่า ไม่ได้ให้อำนาจเกินควร เพราะใน มาตรา 5 แม้จะให้อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเพื่อให้การดำเนินการตาม พ.ร.ก.ความสามารถดำเนินการได้โดยไม่เกิดอุปสรรค และความเสียหายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งไม่อาจปล่อยให้เนิ่นนานล่าช้าในภาวะเช่นนี้ อย่างไรก็ตามการใช้อำนาจของรัฐมนตรีนี้ ยังต้องอยู่ภายใต้หลักของการสุจริตโปร่งใส และการขัดกันของผลประโยชน์ แม้จะให้ถือว่าคำ "วินิจฉัย"ของรัฐมนตรี ถือเป็นที่สุด แต่ก็ในเชิงบริหารเท่านั้น การใช้อำนาจการบริหารยังคงอยู่ภายใต้การตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรมของศาล ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจตามปกติ ไม่ได้ให้อำนาจสูงสุดรัฐมนตรีเทียบเท่าศาล เนื่องจากการวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้ตัดสิทธิ์ในกระบวนการทางศาลแต่อย่างใด หากไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัย ก็สามารถใช้กระบวนการทางศาลตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐมนตรีคลังได้ในทุกเวลา และรัฐมนตรีก็ต้องรับผิดชอบ

"ผมขอยืนยันว่า กองทุนบีเอสเอฟ ไม่ได้อุ้มบริษัทใหญ่ หรือบริษัทที่ออกตราสารใด แต่มีความจำเป็นจริงที่เราต้องดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ออกหุ้นกู้เท่านั้น ไม่ว่าขนาดแค่ไหน แต่สำคัญคือเกี่ยวข้องกับประชาชนที่ถือตราสารหนี้ที่มีจำนวนมากในปัจจุบัน การดำเนินการของกองทุนดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในกลไกการรักษามูลค่าเงินออม และเงินทุนของประชาชน และเป็นการช่วยเหลือผู้ออกหุ้นกู้โดยคิดดอกเบี้ยแพงเป็นพิเศษหากเทียบกับพ.ร.บ.ฉบับที่ 2 หรือซอฟต์โลน ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ให้ดอกเบี้ยถูก แต่ฉบับที่ 3 จะให้ดอกเบี้ยแพงเป็นพิเศษ ถึงจะได้รับความช่วยเหลือ" นายอุตมม กล่าว

"สมคิด"ย้ำไม่อยากให้ซ้ำรอยปี40

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลและสภาฯ ยังต้องร่วมกันทำงานอีก เพราะโควิด-19 จะยังอยู่ไปอีกนาน ดังนั้นข้อเสนอของสภาฯ เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งทุกหน่วยงานจะรับไปพิจารณา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาถ้าเราไม่รีบยุติการระบาดของโควิด19 จะทำให้สถานการณ์บานปลายจนคุมไม่ได้ จึงมาถึงจุดที่รัฐบาลต้องตัดสินใจให้ทุกคนอยู่บ้าน กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะต้องหยุด ซึ่งรัฐบาลรู้ถึงสถานการณ์นี้ดี เมื่อกดถึงจุดต่ำสุดแล้วก็มาพิจารณาถึงการผ่อนคลาย ที่ผ่านมาประชาชนให้ความร่วมมือ ระหว่างเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมีบางอย่างที่ต้องคิดล่วงหน้า คือการหาเงินเยียวยาในช่วงแรก ทั้งการใช้งบฯปกติและการกู้ยืม หลักการเยียวยา คือ ผู้ทีได้รับผลกระทบเท่านั้นที่ควรได้รับการเยียวยา

"แต่ประเด็นไม่ได้อยู่แค่นั้น ต่อมาเริ่มอาการจากตลาดตราสาร ที่มีการไถ่ถอน บางกองทุนเริ่มปิดกองทุน ผมผ่านต้มยำกุ้งมาแล้ว เมื่อไรที่เศรษฐกิจจริงมีปัญหา ปัญหาจะพันไปตลาดเงินทันที เวลานี้ตลาดตราสารใหญ่มาก สมัยปี 2540 รัฐบาลต้องตามไปเก็บศพ ด้วยการไปซื้อหนี้เสียจากธนาคาร ดังนั้นเวลานี้เราจะไม่ทำอย่างนั้น จึงเป็นที่มาของ พ.ร.ก.ดูแลตราสารหนี้ อย่าไปคิดว่าจะเป็นการอุ้มเจ้าสัว แต่มาตรการตามพ.ร.ก.จึงเป็นสิ่งจำเป็น เป็นหลังพิง การเยียวยา 3 เดือนเงินก็หมดแล้วไม่เกินก.ค. เงินหมุนเวียนเศรษฐกิจจะมาจากไหน เราอาศัยการส่งออกและปัจจัยภายนอกอย่างเดียวไม่ได้ ทั่วโลกหนักหนาอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ไม่มีประเทศไหนไม่เดือดร้อน แต่ประเทศไทยโชคดีที่เราทำให้โครงสร้างของประเทศมีความน่าเชื่อถือ ไม่ต้องไปหาไอเอ็มเอฟ เพราะมีหนี้ต่อจีดีพี น้อยมาก นายกฯ ยืนยันต้องมีการผ่อนคลาย แต่ก็ต้องระวังว่าหากระบาดขึ้นมาอีกจะเอาเงินที่ไหนมาดูแล"

นายสมคิด กล่าวว่า ธปท.ไม่เคยคิดจะเข้ามาแทรกแซง แต่ถ้าครั้งนี้ ธปท.ไม่เข้ามา ก็จะทำให้ตลาดเงินตลาดทุนอยู่ไม่ได้ การเอาเงินมาฟื้นฟูนั้น จะทำแบบเดิมไม่ได้ เพราะอะไรที่ช่วยประชาชนในท้องถิ่น จะต้องเข้าไปช่วยกัน จะใช้เป็นฐานที่เข้มแข็งของประเทศไทย และเพื่อไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง จะให้คนกลางเข้ามากลั่นกรองการใช้เงิน โดยรับฟังจากภายนอกด้วย โดยวันที่ 5 มิ.ย.จะเริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็น

"การร่วมมือระหว่างสภาฯ กับรัฐบาลสำคัญมาก เพราะอีกครึ่งปีนี้จะยังไม่เหมือนเดิมแน่นอน ดังนั้นการใช้เงินต้องมีคุณภาพ ใช้เงินไม่หมดไม่เป็นไร เงินส่วนที่เหลือ ใช้สำหรับการเยียวยาได้ สถานการณ์โควิด-19 อาจลามถึงปีหน้า ความคิดของเราจึงคิดว่าเศรษฐกิจท้องถิ่นจะต้องเป็นจุดแข็ง งบฯปี 64 ต้องปรับแนวเพื่อพยุงไปให้ได้ ต้องเตรียมความคิดและโครงการ ผมทำงานรับใช้รัฐบาลและบ้านเมืองมา 10 ปีแล้ว เบื่อเต็มที่แล้วอยากสร้างคนใหม่ๆ เข้ามาดูแล แทนคนเก่าคนแก่ที่อายุมากแล้ว ถ้าเราเตรียมโครงสร้างพื้นฐานไว้พร้อม เมื่อโควิด-19 ผ่านพ้น เราจะก้าวกระโดดทันที และจะมีข้อมูลจำนวนมหาศาล เป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เหตุการณ์ 3 เดือนนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ยังมีอีกยาวที่ต้องทำงานด้วยกัน ถ้าจะมาตรวจสอบความโปร่งใส ย่อมเป็นสิ่งที่ดีเพื่อให้เกิดประโยชน์เท่าเทียมกัน" นายสมคิด กล่าว

"บิ๊กตู่" ย้ำดูแลลูกจ้างไม่ให้ตกงาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวสรุปว่า โดยชี้แจงถึงข้อหาเอื้อประโยชน์ต่างๆว่า ตนไม่เคยไปได้ประโยชน์อะไรกับใครจากเศรษฐีอะไรต่างๆ เขาไม่เคยเสนอเงินให้รัฐบาลสักบาท แต่ตนต้องการให้ดูแลลูกจ้างพนักงานไม่ให้ว่างงาน นั่นคือ สิ่งที่คาดหวัง หลายท่านอาจจะไม่เข้าใจ ก็

ขอให้เข้าใจ แต่ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร

ส่วนเรื่องมาตรการชะลอภาระหนี้สินเดิม ทั้งเงินต้น ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาการชำระหนี้ของประชาชน ผู้ประกอบการผ่านธนาคารต่างๆ ซึ่งธนาคารมี 2 ประเภทคือ ธนาคารรัฐกับธนาคารพาณิชย์ โดยอยู่ในกรอบของธนาคารแห่งประเทศไทย ตรงนี้รัฐบาลเข้าไปสั่งการอะไรเขาไม่ได้ทั้งสิ้น

"เงินทุกเงินมีเจ้าของทั้งสิ้น ถ้าให้ไปแล้วไม่ได้กลับมาเลย ล้มละลายแล้วใครจะรับผิดชอบ ถ้าพูดแล้วไม่รับผิดชอบมันก็ได้ แต่ผมพูดแล้วต้องรับผิดชอบ มันจึงไม่ได้ ต้องทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ไม่ให้มีปัญหาทางด้านกฎหมาย อยากให้ทุกคน ตอนนี้กำลังดูว่าเงินก้อนที่มีอยู่จะทำอย่างไร เอสเอ็มอีที่เข้าถึงไม่ได้ให้เข้าได้มากขึ้น ไม่ได้เอื้อประโยชน์รายใหญ่รายเล็ก อย่าไปคิดแบบนั้น ถ้าคิดแบบนั้นก็บริหารไม่ได้”

ทั้งนี้ มาตรการฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท เงินจำนวนนี้ถ้ามองดูแล้วเหมือนจะใหญ่โตมโหฬาร หอมหวาน ตนไม่เคยสบายใจ ไม่ว่าจะเงินเท่าไหร่ก็ตาม เพราะมันมีปัญหาแน่นอนในเรื่องการบริหารจัดการ อย่างที่ท่านเป็นห่วง ตนก็ห่วงยิ่งกว่าท่าน เพราะตน ข้าราชการ พนักงาน ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ จึงต้องดูแลให้ดีที่สุด อยากให้ทุกคนสบายใจ ช่วยกันดูแลติดตาม

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูงเราจำเป็นต้องรักษาเครื่องยนต์เหล่านี้ อย่างน้อยก็เติมน้ำมันไปส่วนหนึ่งก่อน ถ้าจะเติมน้ำมันเต็มถังแต่ยังเติมไม่ได้ ก็เติมบางส่วนไปก่อนให้มันเดินไปได้ แต่ถ้าเราไม่ช่วยตรงนี้ เครื่องยนต์ดับไปตอนนี้ ไม่ให้อะไรเลย บอกเอาไปให้คนรวยหมด แล้วตนถามว่ามันจะเหลืออะไรในประเทศไทย

นายกฯ กล่าวว่า การจะทำอะไรให้สำเร็จหรือมีเกียรติ มีอำนาจ ไม่ใช่ด้วยตัวเอง ตนไม่เคยชื่นชมตัวเองว่าเก่งว่าแก้ปัญหาโควิด-19 ได้ ไม่เคยพูด ไม่เคยพูดจริงๆ มันเกิดจากความร่วมมือของคนไทยทั้งประเทศ และทุกฝ่ายร่วมมือกันคำชื่นชมของนานาชาติที่เขาให้กับเรา ตนไม่เคยไปคุยโม้โอ้อวดใคร แต่เพราะประเทศต่างๆ เขาเห็นสถานการณ์โควิด-19 เราดีขึ้น

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนที่บอกว่างบประมาณด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท ที่บอกว่าน้อยเกินไป มันไม่เคยมีอย่างนี้อยู่แล้ว มันไม่เคยมีการอนุมัติเพิ่มการบรรจุข้าราชการสาธารณสุขอยู่แล้ว ทุกกระทรวงไม่เคยได้ แต่ถ้าอนุมัติไปทั้งหมดทีเดียว ปัญหางบประมาณตามมาทั้งเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการ เราต้องค่อยๆ ทยอยไป นี่ถือว่าให้ประโยชน์ เพราะถือว่าให้เกียรติบุคลากรด้านสาธารณสุข เพราะถือว่ามีผลงานปรากฎ จะได้ตอบประชาชนและหน่วยงานอื่นได้

สภาฯอนุมัติ 3 พ.ร.ก.สู้ภัยโควิด-19

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปในส่วนของรัฐบาลจบ จากนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้ให้สมาชิกลงคะแนน อนุมัติใน ร่างพ.ร.ก. เป็นรายฉบับ โดยเริ่มจากฉบับที่ 1. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ผลการลงคะแนนเห็นด้วย 274 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 207 เสียง

ฉบับที่ 2 พ.ร.ก. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019... พ.ศ. 2563 ผลการลงคะแนน เห็นด้วย 275 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 205 เสียง

ฉบับที่ 3 พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ผลการลงคะแนน เห็นด้วย 274 เสียง ไม่เห็นด้วย 195 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง

สำหรับขั้นตอนต่อไป จะส่ง พ.ร.ก.ทั้ง3 ฉบับ เข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อทำการพิจารณาอนุมัติต่อไป

ป.ป.ท.อาสาตรวจสอบการใช้เงิน3 พ.ร.ก.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านเสนอตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาตรวจสอบติดตามการใช้จ่ายงบฯ ตามพ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ ว่า ให้เป็นเรื่องของสภาฯ ว่ากันเอง แต่ในส่วนของรัฐบาล มีหน่วยงานตรวจสอบอยู่แล้ว ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ซึ่งทางป.ป.ท.ได้เสนอมาตรการตรวจสอบมายังรัฐบาล ก่อนที่สภาจะมีการพิจารณา พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ โดยนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ก็ทราบเรื่องนี้ ทั้งนี้ถือเป็นกลไกตรวจสอบในฝ่ายบริหาร โดยป.ป.ท. จะเป็นผู้ตรวจสอบเอง ด้วยการสร้างองคาพยพขึ้นมา ซึ่งที่ผ่านมา ป.ป.ท.ก็เป็นผู้ตรวจสอบอย่างกรณีเงินทอนวัด และกรณีทุจริตเงินผู้ยากไร้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.ด้วย โดยตนเป็นผู้เสนอ แต่ขณะนี้ยังต้องรอบรรจุเป็นวาระเข้าสู่ที่ประชุมครม.



กำลังโหลดความคิดเห็น