xs
xsm
sm
md
lg

“อุตตม”ลั่นเสริมแกร่งSMEs “อนุทิน”ยันดูแลคนไทยทั้งปท.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สภาฯถก พ.ร.ก.เราไม่ทิ้งกันต่อวันที่ 2 "อุตตม" ยัน "รัฐบาล" ไม่ได้นิ่งนอนใจเร่งหามาตรการช่วย SMEs เตรียมจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ-สินเชื่ออื่นๆช่วยเพิ่มเติม ให้ทั่วถึง-ครอบคลุม ด้าน "หมอหนู" “อนุทิน” ลั่น สธ.พร้อมดูแลคนไทยทั้งประเทศ

วานนี้ (28 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพระสุริยัน อาคารรัฐสภา ได้ประชุมมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาวาระด่วนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท รวมถึง พ.ร.ก.เกี่ยวกับการการให้อำนาจธราคารแห่งประเทศไทย (ธ.ป.ท.) จัดสรรวงเงินสำหรับแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 อีก 2 ฉบับ เป็นวันที่ 2 โดย ส.ส.ฝ่ายค้านส่วนใหญ่ยังคงอภิปรายมุ่งไปที่ประเด็นรายละเอียดของกรอบการใช้เงินกู้ รวมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการนำเงินกู้เพื่อไปใช้วัตถุประสงค์อื่นแอบแฝงหรือไม่ จึงเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการของสภาฯเพื่อติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณครั้งนี้ด้วย ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านบางส่วนได้เสนอให้รัฐบาลยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน และการบังคับใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วย

ด้าน นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวชี้แจงช่วงหนึ่งถึงมาตรการการดูแลผู้ประกอบการ ธุรกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ว่า SMEs มีความหลากหลายมาก ทั้งโครงสร้างธุรกิจ รูปแบบที่อาจทำมานานจนเป็นรูปบริษัทจดทะเบียนแล้ว หรือรูปแบบที่พึ่งเริ่มต้นจากวิสาหกิจชุมชน หรือการรวมกลุ่มที่มีจำนวนมาก รวมถึงรูปแบบการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และความแตกต่างกันในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีความแตกต่างพอสมควรกับบริษัทขนาดใหญ่ โดยต้องหามาตรการว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงได้รับทุนเพียงพอที่จะสามารถอยู่ได้

ทั้งนี้ ก.คลังได้ทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินของรัฐ โดยจะหารือผู้ประกอบการด้วยเพื่อกำหนดมาตรการในการดูแล โดยมีหลากหลายมาตรการได้นำเสนอออกมาแล้วในปัจจุบัน แต่เมื่อสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องของเศรษฐกิจ จากที่รับฟังความเห็นและข้อชี้แนะต่างๆ จำเป็นต้องมีมาตรการต่างๆ ออกมาต่อไป เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ดังกล่าวที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่าง การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังมีการเสนอมาตรการที่คิดว่าจำเป็นในสถานการณ์ที่จะดูแลผู้ประกอบการ SMEs ให้ได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่ง ครม.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการกับมาตรการนี้ โดยกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งพิจารณากำหนดมาตรการนี้ออกมา เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน

นายอุตตมกล่าวว่า วันนี้เรามีมาตรการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.ก. คือ Soft Loan (สินเชื่ออัดตราดอกเบี้ยต่ำ) สำหรับกลุ่ม SMEs ที่ยังไม่มีประสบการณ์การกู้เงินกับสถาบันการเงิน หรือเป็นกลุ่มที่เรียกว่ายังไม่เข้มแข็งในเรื่องของเงินทุน ขนาดยังไม่ใหญ่ หรือเป็นขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มต้นเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่หากเป็นภาวะเศรษฐกิจปกติ ก็น่าจะเติบโตได้ แต่ในภาวะเช่นนี้น่าจะเป็นที่น่าเสียดายมากว่าได้รับผลกระทบจนเดินต่อไปไม่ได้ และล้มหายตายจากไปในที่สุด โดยเรากำลังดูถึงความเป็นไปได้และรายละเอียดก่อนว่าจะเป็นรูปของกองทุนซึ่งต่างจากสินเชื่ออื่นๆ และเงื่อนไขต่างๆ ที่เหมาะสมในการส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งทุน ขณะเดียวกันก็ส่งเสริม และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มนั้นไปในตัวด้วย

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯถึงการแผนงานสาธารณสุขภายใต้ พ.ร.ก.เราไม่ทิ้งกัน ว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยโรงพยาบาลหลักมีความพร้อมในการให้บริการ มีระบบคัดแยกผู้ป่วย ระบบการรักษา และการติดตามเฝ้าระวัง โดยทุกจังหวัดในประเทศไทย มีห้องแยกผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดในโรงพยาบาลนั้นๆ ส่วนกรณีที่มีต่างชาติลักลอบเข้ามาในประเทศ และมีผู้ติดเชื้ออยู่ด้วย โดยหลักมนุษยธรรมเราก็ไม่ได้ผลักดันเขากลับประเทศ แต่ก็ให้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเราไม่ได้ ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมสถานที่กักกันและตั้งโรงพยาบาลสนามได้ในภายเวลา 24 ชั่วโมง อย่างมีคุณภาพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของไทย อีกทั้งเรายังเตรียมความพร้อมหากมีการระบาดรอบ 2 ที่ตนเชื่อว่าไม่น่าเกิด แต่ก็ไม่ได้ประมาท ทั้งนี้หากเกิดการระบาดรอบ 2 ตนยืนยันได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมดูแลทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย นอกจากนี้ขอชมเชย อสม. ล้านกว่าคน ที่มีส่วนช่วยในการหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งตนเห็นว่าถึงเวลาที่เราจะต้องตอบแทนเมื่อถึงเวลานั้น

“ศัตรูของเราคือโควิด-19 ถ้าชกกันตอนนี้คะแนนเรานำอยู่ เราจะน็อกเขาได้เมื่อมีวัคซีนป้องกัน ซึ่งในงบ 4.5 หมื่นล้าน ซึ่งงบส่วนนี้ได้ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติพัฒนาวัคซีนดังกล่าวนี้ ซึ่งประเทศไทยเหลืออย่างเดียวที่จะเป็นแชมป์ด้านสาธารณสุขของโลก คือต้องคิดค้นวัคซีนให้ได้ และผมยืนยันว่า งบประมาณที่กระทรวงสาธารณสุขได้จะใช้ให้เกิดประโยชน์” นายอนุทิน กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น