ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก้าวไกล ชี้ 3 พ.ร.ก.แก้ปมโควิด-19 ควรวางแผนสอดคล้อง พ.ร.บ.โอนงบฯ และงบปี 64 แนะจัดสรรเงินกู้ใหม่ เยียวยาถ้วนหน้าคนละ 3,000 นาน 3 เดือน เว้นข้าราชการ เด็กต่ำ 18 ได้ 1 พัน ช่วย SMEs จ่ายเงินเดือนลูกจ้าง 50% แต่ไม่เกินรายละ 5,000 นาน 3 เดือน
วันที่ 27 พ.ค.ที่ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 2 ครั้งที่ 1 เป็นพิเศษ วาระพิจารณาพระราชกำหนด 3 ฉบับ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า พรรคเห็นด้วยว่าจำเป็นต้องกู้เพื่อแก้ปัญหา แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ รัฐบาลมีฐานคิดที่ลักลั่น 2 มาตรฐาน คิดว่า ตนเองเป็นเจ้าของเงิน และกำลังเจียดเงินเพื่อสงเคราะห์ประชาชนใต้การปกครองแบบนี้ไม่ถูกต้อง ถ้ารัฐบาลทำงานเป็น พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ จะต้องวางแผนให้สอดคล้องกันกับ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 และ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 และต้องมียุทธศาสตร์ร่วมกัน รัฐบาลควรสื่อให้ประชาชนรับรู้ว่า กำลังพยายามที่จะปกป้อง สภาพการจ้างงานของพวกเขา
นายวิโรจน์ กล่าวว่า งบประมาณก้อนนี้เป็นเครื่องมือที่จำเป็น แต่ต้องทำอย่างรอบคอบ ข้อเสนอของพรรค คือ จัดสรรเงินใหม่ โดยรวมเอาเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เข้ากับเงินที่ได้จากการโอนงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ อีก 88,000 ล้านบาท เป็น 1.088 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ เงินก้อนนี้ถูกใช้ไปแล้ว 345,000 ล้านบาท กับมาตรการจ่ายเงินเยียวยาเราช่วยกัน และเยียวยาเกษตรกร เหลือที่จัดสรรได้อีก 743,000 ล้านบาท โดยเสนอให้เงินก้อนแรกวงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข แบ่งเป็นเพื่อแจกจ่ายวัคซีนฟรีสำหรับทุกคน 67,000 ล้านบาท และสำหรับจัดหาอุปกรณ์การแพทย์และเพิ่มสวัสดิการให้บุคลากรสาธารณสุข 33,000 ล้านบาท
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า ส่วนก้อนที่ 2 วงเงิน 643,000 ล้านบาท เยียวยาประชาชน แบ่งเป็น ส่วนแรกเยียวยาประชาชนคนละ 3,000 บาท นาน 3 เดือน ยกเว้นข้าราชการ ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะได้รับเงิน 1,000 บาท รวม 504,000 ล้านบาท และช่วยผู้ประกอบการ SMEs จ่ายเงินเดือนลูกจ้างร้อยละ 50 ของเงินเดือน แต่ไม่เกินรายละ 5,000 บาท นาน 3 เดือน โดยลูกจ้างต้องเงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท ภายใต้เงื่อนไขว่านายจ้างห้ามเลิกจ้างในช่วง 3 เดือน ที่รับเงินสมทบค่าจ้าง รวม 120,000 ล้านบาท และในก้อนสุดท้าย วงเงิน 19,000 ล้านบาท ใช้จัดสรรอาหารฟรีให้ประชาชน ยิ่งไปกว่านั้นในส่วนงบประมาณสำหรับฟื้นฟูโครงสร้างเศรษฐกิจโดยรวม สามารถออกเป็น พ.ร.บ.ฉบับใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะ รวมทั้งสามารถใช้จากงบประมาณแผ่นดินปี 2564 แทนได้
“ภายใต้ข้อเสนอการจัดสรรงบประมาณนี้ จะทำให้ประชาชนได้รับเงินเยียวยาอย่างทั่วถึง ไม่ต้องพิสูจน์สิทธิ์ ไม่ต้องรอนานกว่าจะได้เงิน บุคลากรด้านสาธารณสุขมีเครื่องมือเพียบพร้อมในการรับมือโควิด-19 ส่วนธุรกิจรายย่อย ก็จะยังสามารถประคองตัวไปได้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ทุกคนจะมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต และพร้อมจะให้ความร่วมมือกับมาตรการควบคุมโรค” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวว่า สำหรับ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนี้ มีรายละเอียดอยู่เพียง 7 หน้า นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่พรรคยื่นญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณ และมาตรการแก้ไขปัญหาภายใต้วิกฤต การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และหากรัฐบาลยืนยันในความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณของตัวเองจริง ก็ควรต้องให้ความร่วมมือกับสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งท่าทีของรัฐบาลต่อการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะนี้ จะเป็นจุดชี้ขาด การตัดสินใจของพรรคก้าวไกลว่า จะลงมติอย่างไรกับ พ.ร.ก.กู้เงิน ฉบับนี้ เพราะ “ประเทศไทยต้องชนะ” ในคำว่าประเทศไทยนั้น คือประชาชนต้องชนะไปด้วยกัน