รมว.คลัง แจง รัฐไม่นิ่งนอนใจช่วยเหลือ SMEs ต้องหามาตรการให้ผู้ประกอบการรับผลกระทบได้ทุนเพียงพอ ระบุมี Soft Loan ขอดูรายละเอียดก่อน
วันนี้ (28 พ.ค.) นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ชี้แจงว่า มาตรการการดูแลผู้ประกอบการ ธุรกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs นั้น มีความหลากหลายมาก ทั้งโครงสร้างธุรกิจ รูปแบบที่อาจทำมานาน จนเป็นรูปบริษัทจดทะเบียนแล้ว หรือรูปแบบที่พึ่งเริ่มต้นจากวิสาหกิจชุมชน หรือการรวมกลุ่มที่มีจำนวนมาก รวมถึงรูปแบบการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และความแตกต่างกันในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีความแตกต่างพอสมควรกับบริษัทขนาดใหญ่ โดยต้องหามาตรการว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงได้รับทุนเพียงพอที่จะสามารถอยู่ได้
รมว.คลัง ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยกระทรวงการคลังได้ทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินของรัฐ โดยจะหารือผู้ประกอบการด้วยเพื่อกำหนดมาตรการในการดูแล โดยมีหลากหลายมาตรการได้นำเสนอออกมาแล้วในปัจจุบัน แต่เมื่อสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องของเศรษฐกิจ จากที่รับฟังความเห็นและข้อชี้แนะต่างๆ จำเป็นต้องมีมาตรการต่างๆ ออกมาต่อไป เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ดังกล่าวที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างการประชุม ครม.วันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังมีการเสนอมาตรการที่คิดว่าจำเป็นในสถานการณ์ที่จะดูแลผู้ประกอบการ SME ให้ได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่ง ครม. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการกับมาตรการนี้ โดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งพิจารณากำหนดมาตรการนี้ออกมา เชื่อว่า จะใช้เวลาไม่นาน
นายอุตตม กล่าวว่า วันนี้เรามีมาตรการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.ก.คือ Soft Loan (สินเชื่ออัดตราดอกเบี้ยต่ำ) สำหรับกลุ่ม SMEsที่ยังไม่มีประสบการณ์การกู้เงินกับสถาบันการเงิน หรือเป็นกลุ่มที่เรียกว่า ยังไม่เข้มแข็งในเรื่องของเงินทุนขนาดยังไม่ใหญ่ หรือเป็นขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มต้นเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่หากเป็นภาวะเศรษฐกิจก็น่าจะเติบโตได้ แต่ในภาวะเช่นนี้น่าจะเป็นที่น่าเสียดายมากว่าได้รับผลกระทบจนเดินต่อไปไม่ได้ และล้มหายตายจากไปในที่สุด โดยเรากำลังดูถึงความเป็นไปได้ และรายละเอียดก่อนว่าจะเป็นรูปของกองทุน ซึ่งต่างจากสินเชื่ออื่นๆ และเงื่อนไขต่างๆ ที่เหมาะสมในการส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งทุน ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริม และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มนั้นไปในตัวด้วย