xs
xsm
sm
md
lg

“ก้าวไกล” สับรัฐลำเอียง พ.ร.ก.อุ้มตราสารหนี้ อุ้มคนรวย ชี้ คกก.คลัง ชงเองกินเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ส.ก้าวไกล จวก รบ.ลำเอียง พ.ร.ก.อุ้มตราสารหนี้ หวังอุ้ม 4 ทุนใหญ่ เฉือนเนื้อคนจนช่วยคนรวย ส่วน คกก.ชุดต่างๆคลังชงเองกินเอง

วันนี้ (31 พ.ค.) เมื่อ‪เวลา 09.30 น. ‬ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 มี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า อยากเสนอให้เครื่องราชฯให้ชาว อสม.ที่ทำงานอย่างหนักในการสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 การแก้ปัญหาครั้งนี้ไม่ใช่มิติด้านสาธารณสุข แต่รวมถึงด้านเศรษฐกิจ และสังคม ด้วยงบฟื้นฟู 400,000 ล้านบาท นายกฯต้องขับเคลื่อนจริงจัง โปร่งใสตรวจสอบได้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน นำไปสู่ ศก.ฐานราก ชุมชน อย่างสร้างสรรค์ กระตุ้นเศรษฐกิจครัวเรือน ส่งเสริมให้ อปท. สถานศึกษา ส่งเสริมอาชีพในระดับฐานรากอย่างแท้จริง

ด้าน น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท หรือที่เรียกว่า พ.ร.ก.อุ้มตราสารหนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อตั้งกองทุนรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตราสารหนี้ สามารถอุ้มคนรวยได้เกือบทั้งหมด แสดงให้เห็นความลำเอียงของรัฐบาลเลือกช่วยเหลือทุนใหญ่มากกว่าประชาชน และเอสเอ็มอี จากการค้นข้อมูลของสมาคมตราสารหนี้ พบว่า มีบริษัทเข้าหลักเกณฑ์การช่วยเหลือจาก พ.ร.ก.ฉบับนี้ 125 บริษัท เมื่อเทียบกับวงเงิน 4 แสนล้านบาท สามารถช่วยเหลือได้บริษัทละ 3,200 ล้านบาท ขณะที่ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน วงเงิน 5 แสนล้าน มีเอสเอ็มอีเข้าหลักเกณฑ์ช่วยเหลือ 1.9 ล้านราย หรือเฉลี่ยได้รับการช่วยเหลือรายละ 263,158 บาท ต่างกันถึง 12,167 เท่า

“บ่งบอกว่า รัฐบาลลำเอียงเข้าข้างทุนใหญ่ชัดเจน ที่สำคัญ หน้าตาของทุนใหญ่ที่ 125 บริษัท มีมูลค่าตราสารหนี้รวม 8.9 แสนล้านบาท พบว่า ทุนเกือบครึ่งหนึ่งเป็นของทุนใหญ่จาก 4 บริษัท ได้แก่ เครือซีพี 1.8 แสนล้านบาท เครือไทยเบฟฯ 9 หมื่นล้านบาท เครือเอสซีจี 7.5 หมื่นล้านบาท และ ช.การช่าง 1.5 หมื่นล้านบาท ถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องอุ้มเศรษฐกิจ กลัวเศรษฐีไม่มีเงินใช้หนี้ ทุนใหญ่เหล่านี้ล้วนใกล้ชิดรัฐบาล อยากให้ทุนใหญ่ประกาศว่า จะไม่ใช้ผลประโยชน์จากกองทุนนี้ เพื่อให้กันวงเงิน 400,000 ล้านบาท ของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ไปช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี”

น.ส.ณธีภัสร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์ คือ คณะกรรมการชุดต่างๆ ใน พ.ร.ก.เต็มไปด้วยคนของกระทรวงการคลัง และ ธปท. เป็นการชงเองกินเอง รวมทั้งมีตัวแทนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ร่วมเป็นคณะกรรมการลงทุนด้วย ทั้งที่ กบข.เป็นผู้ลงทุนในตราสารหนี้รายใหญ่ 1.1 แสนล้านบาท ขอถามว่า มีอะไรรับประกันว่า จะไม่เกิดความลำเอียงในการเลือกตราสารหนี้ที่จะได้รับการช่วยเหลือ เมื่อ กบข.ได้เปรียบมีข้อมูลวงใน จะเอาเปรียบหรือไม่ และผิดหลักขัดกันแห่งผลประโยชน์ ขณะเดียวกัน มาตรา19 ของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ เปิดช่องให้ รมว.คลัง ซื้อตราสารหนี้ในตลาดรอง โดยไม่จำกัดขอบเขตจำนวนเงิน เท่ากับตีเช็คเปล่าให้ รมว.คลัง สั่งซื้อตราสารหนี้ตัวไหน จำนวนเท่าไรก็ได้ ทั้งที่ตราสารหนี้ในตลาดรองมีความเสี่ยงสูงกว่า และอาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรคสาม ที่ให้รัฐบาลพึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินการต่างๆ การทำเช่นนี้ให้อำนาจคนๆ เดียวมากไป ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นมา กระทรวงการคลังต้องเข้าไปชดใช้สูงสุดถึง 4 หมื่นล้านบาท เป็นการเฉือนเนื้อคนจนไปอุ้มคนรวยหรือไม่






กำลังโหลดความคิดเห็น