“ณธีภัสร์” อภิปรายโวย พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพระบบการเงินฯ อุ้มทุนใหญ่ ให้วงเงินช่วย SMEs แค่ 10% ไล่ ธปท.กลับไปคิดใหม่ ซัดกรรมการมีแต่คนแบงก์ชาติ-คลัง ชงเองกินเอง แถมมีตัวแถม กบข.ส่อได้ประโยชน์กว่าผู้อื่นหรือไม่ ด้าน “วรรณวิภา” เสนอ 4 ข้อให้บริษัทใช้เงินพยุง ต้องไม่เลิกจ้าง ถอนฟ้องแรงงาน ไม่มีเครดิตกดขี่ และรัฐมีสิทธิ์บังคับซื้อตราสารหนี้คืนหากพบละเมิด
วันนี้ (31 พ.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาพระราชกำหนดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 รวม 3 ฉบับวันสุดท้าย น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐ์สิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึง พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก.อุ้มตราสารหนี้ฯ ว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้จะส่งผลให้เกิดการจัดตั้งกองทุนรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ หรือ BSF (Bond Stabilization Fund) ซึ่งกองทุนนี้จะไปลงทุนให้กับบริษัทที่ออกตราสารหนี้ต่างๆ เพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยตราสารหนี้ที่จะได้รับการช่วยเหลือจะต้องเข้าเกณฑ์ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด รวมทั้งต้องถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม investment grade หรือ BBB ขึ้นไป ซึ่งข้อเท็จจริงคือบริษัทที่ถูกจัดให้อยู่ในระดับนี้เป็นบริษัทใหญ่ๆ ทั้งสิ้น
“ความลำเอียงของเรื่องนี้ คือ เป็นการช่วยเหลือที่บิดเบี้ยว เพราะสัดส่วนเงินที่ช่วยเหลือทุนใหญ่กับ SMEs ต่างกันมาก โดยถ้าดูจากขนาดตลาด สินเชื่อธนาคารทั้งหมด 15.3 ล้านล้านบาท เป็นสินเชื่อ SMEs 5.1 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลใช้เม็ดเงินเข้าไปอัดฉีดจำนวน 5 แสนล้านบาท คิดเป็นเพียง 10% ของตลาดสินเชื่อ SMEs เท่านั้นเอง แต่เมื่อดูตลาดตราสารหนี้เอกชนทั้งหมดในประเทศไทยมีประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท และเข้าหลักเกณฑ์ช่วยเหลือตาม พ.ร.ก. ฉบับนี้ คือ 8.9 แสนล้านบาท แล้วรัฐบาลให้เม็ดเงินช่วยเหลืออยู่ที่ 4 แสนล้านบาท คิดเป็น 45% ของตราสารหนี้ที่เข้าหลักเกณฑ์ นั่นหมายความว่า รัฐบาลให้เงินพยุงตลาดฝั่งทุนใหญ่มากกว่า SMEs ถึงเกือบ 5 เท่า” น.ส.ณธีภัสร์ กล่าว
น.ส.ณธีภัสร์ กล่าวอีกว่า ยิ่งไปกว่านั้น พ.ร.ก. ฉบับนี้กำหนดว่าตราสารหนี้ที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมีการระดมทุนจากแหล่งอื่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ถ้ามูลค่าตราสารหนี้ที่เข้าหลักเกณฑ์ มีทั้งหมด 8.9 แสนล้านบาท แปลว่า อย่างมากตราสารหนี้ที่จะเข้าร่วมโครงการได้ก็จะไม่เกิน 445,000 ล้านบาท แล้ววงเงินที่รัฐอัดฉีดเข้าไป คือ 4 แสนล้านบาท จะเห็นได้ว่าครอบคลุมถึง 90% และไม่ใช่ทุกบริษัทจะขอรับ เช่น โตโยต้าออกมาประกาศว่าจะไม่ขอใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้ หมายความว่า รัฐบาลสามารถอุ้มคนรวยได้เกือบทั้งหมด แต่วงเงินที่รัฐตั้งให้ SMEs สามารถช่วย SMEs เพียง 10% เท่านั้น เมื่อตนไปค้นข้อมูลดู บริษัทที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือมีเพียง 125 บริษัทเท่านั้น หมายความว่า ทุนใหญ่จะได้รับความช่วยเหลือรายละประมาณ 3,200 ล้านบาท SMEs จะได้รับจัดสรรเฉลี่ยรายละ 263,158 บาทเท่านั้น ซึ่งจะต่างกันเกือบ 12,167 เท่าเลยทีเดียว ถ้าหากมองว่าทุนใหญ่ล้มจะกระทบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง แล้วถ้า SMEs ล้มเศรษฐกิจไม่ได้เสียหายเหมือนกันหรือ แรงงานไม่ได้ถูกเลิกจ้างเหมือนกันหรือ
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า ความยากในการหาแหล่งเงินทุนและเงินกู้ของทุนใหญ่ และ SMEs ต่างกันเยอะและ มีต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่างกันด้วย เนื่องจากมีสายป่านที่ยาวไม่เท่ากัน นอกจากนี้ เมื่อไปดูในรายละเอียดบริษัทที่ได้ประโยชน์จำนวนเพียง 125 บริษัท จาก พ.ร.ก.ฉบับนี้ แต่เกือบครึ่งเป็นบริษัทในเครือทุนใหญ่ของประเทศไทย คือ CP, ThaiBev, SCG, และ ช.การช่าง ซึ่งเครือ CP มีตราสารหนี้ทั้งหมด 68 ตัว จาก 5 บริษัท รวมมูลค่า 185,386 ล้านบาท คิดเป็น 21% หรือ 1 ใน 5 ของขนาดหุ้นกู้ที่เข้าข่ายได้ประโยชน์, เครือ ThaiBev มีตราสารหนี้ทั้งหมด 21 ตัว จาก 3 บริษัท รวมมูลค่า 97,214 ล้านบาท คิดเป็น 11% ของขนาดหุ้นกู้ที่เข้าข่ายได้ประโยชน์, เครือ SCG มี 3 ตัว มูลค่า 75,000 ล้านบาท คิดเป็น 8% ของขนาดหุ้นกู้ที่เข้าข่ายได้ประโยชน์, เครือ ช.การช่าง มี 8 หุ้นกู้ จาก 2 บริษัท มูลค่ารวม 15,185 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2% ของขนาดหุ้นกู้ที่เข้าข่ายได้รับประโยชน์ ถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องไปช่วยมหาเศรษฐีซึ่งเป็นทุนใหญ่เหล่านี้ ซึ่งก็มีข้อสังเกตว่า กลุ่มทุนเหล่านี้มีส่วนร่วมในเครือข่ายประชารัฐ ใกล้ชิดกับรัฐบาล ทั้งนี้ อยากเรียกร้องให้ทุนใหญ่ที่ดูแลตัวเองได้ ประกาศไม่รับความช่วยเหลือและไม่ใช่ผลประโยชน์จาก พ.ร.ก. ฉบับนี้ และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ควรให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับไปคิดใหม่โดยนำเงินไปช่วย SMEs เพิ่มขึ้น
น.ส.ณธีภัสร์ กล่าวว่า เรื่องที่กังวลคือ อำนาจล้นฟ้าของคณะกรรมการต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาจาก พ.ร.ก.ฉบับนี้ อีกทั้งเมื่อเข้าไปดูรายชื่อและตำแหน่งของคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้น เป็นคนของ ธปท. และกระทรวงการคลัง ทั้งนั้น ถึงแม้จะมีการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ผู้เสนอชื่อก็เป็นกระทรวงการคลัง ซึ่งก็อาจจะถูกครอบงำหรือสั่งการได้ จึงเกิดคำถามด้วยว่า เลือกกันเอง ทำงานกันเอง ประเมินผลกันเอง ชงกันเองและกินกันเองใช่หรือไม่ ขณะที่ คณะกรรมการลงทุนจะมีตัวแทนจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ด้วย ซึ่ง กบข.มีการลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน รวมกันกว่า 1.1 แสนล้านบาท จึงถือเป็นผู้เล่นที่ใหญ่รายหนึ่งในตลาด ทำให้เกิดข้อกังวล คือ ในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ แต่เข้าไปมีอำนาจในฐานะคณะกรรมการการลงทุน ที่เป็นผู้เลือกว่าจะช่วยหรือไม่ช่วยตราสารหนี้ตัวไหน และรู้ข้อมูลล่วงหน้าว่าจะมีการอุ้มบริษัทใด เหล่านี้จะทำให้ กบข. ได้ประโยชน์และได้เปรียบกองทุนอื่นๆ หรือไม่ หากอ้างว่าเป็นกองทุนของรัฐจึงต้องเข้าไปมีบทบาท แล้วกองทุนประกันสังคม ที่มีจำนวนตราสารหนี้มากกว่า เหตุใดจึงไม่มีบทบาทในคณะกรรมการนี้ หรือกองทุนของข้าราชการสำคัญกว่ากองทุนของผู้ใช้แรงงานอย่างนั้นหรือ
“เหล่านี้คือการขัดกันแห่งผลประโยชน์และผิดหลักธรรมาภิบาลสากลอย่างชัดเจน ที่ห้ามไม่ให้ผู้เล่น และผู้กำหนดนโยบาย เป็นคนหรือกลุ่มเดียวกัน นอกจากนี้ มาตรา 19 ของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ที่เปิดช่องให้ ธปท. และ รมว.กระทรวงการคลัง สามารถเข้าซื้อขายตราสารหนี้ที่มิใช่ตราสารหนี้เอกชนที่ออกใหม่ หรือซื้อหุ้นกู้ในตลาดรองได้ ซึ่งมาตรานี้ไม่มีการกำหนดขอบเขตและขนาดจำนวนเงินที่จะเข้าไปอุ้มอย่างชัดเจน หมายความว่าคือการตีเช็คเปล่าให้ รมว.คลัง คนเดียว มีอำนาจสั่งซื้อหุ้นกู้ตัวใดก็ได้ จำนวนเงินเท่าใดก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้นตราสารหนี้ในตลาดรองมีความเสี่ยงสูงกว่า อีกทั้งมาตรา 19 นี้อาจจะขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 77 วรรค 3 ด้วย” น.ส.ณธีภัสร์ กล่าว
น.ส.ณธีภัสร์ กล่าวต่อว่า ถ้ากฎหมายที่เขียนขึ้นเพื่อกู้วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 ยังมีหน้าตาเช่นนี้ สังคมไทยหลังโควิดจะยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้นเป็นทวีคูณ อาจได้เห็นคนที่ไม่ได้ตายเพราะพิษโควิด แต่จะตายเพราะไม่มีเงินซื้อข้าวกิน นอกจากนี้กองทุน BSF เปรียบเสมือนโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่มาก แต่ทำไว้ให้กับคนที่ไม่ได้ป่วยไข้ แต่ในทางกลับกัน โรงพยาบาลสนามที่ทำไว้ให้คนป่วยจริงอย่างธุรกิจ SMEs และประชาชนกลับมีเตียงไม่พอ คนกลุ่มนี้ต้องยืนรออยู่หน้าโรงพยาบาล และนอนตายเกลื่อนกลาดอยู่หน้าโรงพยาบาลเพราะมีเตียงไม่พอ เมื่อเป็นเช่นนี้ ตนจึงไม่สามารถยอมรับ พ.ร.ก. ที่ลำเอียงฉบับนี้ได้
ด้าน น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในการพยุงหุ้นกู้ให้นายทุนและการพยุงประชาชน นอกจากจำนวนเงิน และจำนวนผู้คนที่ได้รับจะแตกต่างกันแล้ว ทั้งระยะเวลาและเงื่อนไขยังแตกต่างกันอีกด้วย ตัวอย่าง กองทุน BSF จัดตั้ง 19 เมษายน ได้รับการช่วยเหลือภายในวันที่ 29 เดือนเดียวกัน ในขณะที่ 5.5 แสนล้านบาทที่ใช้เยียวยาประชาชนกลับใช้ระยะเวลานานมาก และยังมีขั้นตอนกรอกยื่นสิทธิ, ทบทวนสิทธิ, รอเงินเข้า ฯลฯ มากมายเต็มไปหมด นี่ยังไม่พูดถึงการพิสูจน์ความจนของประชาชนอีกนานับประการ ดังนั้น ตนจึงต้องการตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่รัฐต้องเข้าไปโอบอุ้มหุ้นกู้เหล่านี้และจะมีความเป็นกลาง รวมถึงตรวจสอบได้หรือไม่
น.ส.วรรณวิภา กล่าวว่า จากรายชื่อบริษัทที่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการใน พ.ร.ก. นี้ พบว่า มีทรัพย์สินรวมกันแล้วมากกว่า 20% ของทั้งประเทศ ครอบครองที่ดินรวมกันแล้วเท่ากับประชาชนถึง 30 ล้านคน เข้าถึงแหล่งทุนแหล่งเงินได้มากกว่าธุรกิจขนาดเล็ก เป็นคนกลุ่มเดียวกันเองที่ได้รับสิทธิพิเศษมากมายหลายอย่างจากรัฐบาลอยู่แล้ว แต่กลับยังได้รับสิทธิการช่วยเหลือพยุงหุ้นกู้จากรัฐบาลในครั้งนี้อีก นอกจากนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งในรายชื่อดังกล่าว มีลักษณะเป็นตัวแทนของความเหลื่อมล้ำในการจ้างงานและการสร้างงานที่ไม่มั่นคง เช่น การเลิกจ้างลูกประจำแล้วจ้างเอาต์ซอร์ส หรือซับคอนแทรกต์แทน คือ หน้างาน การทำงานไม่ต่างกัน แต่ได้รับสวัสดิการที่ต่ำกว่าเดิม บางบริษัทโยกย้ายควบรวม แต่ไม่ทำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน คือไม่ให้ค่าจ้างสวัสดิการเท่าเดิมและไม่นับอายุการทำงานต่อจากเดิม
“"หนึ่งในบริษัทที่มีรายชื่อนี้เคยเลิกจ้างพนักงานที่เป็นแกนนำรวมตัวกันก่อตั้งสหภาพแรงงาน บางที่ไม่เคยตรวจสอบการจ้างงานในห่วงโซ่ของตัวเองว่าทำตามกฎหมายแรงงานหรือไม่ และที่กำลังทำกันอย่างแพร่หลายอยู่ในขณะนี้ คือ หลายที่เรียกลูกจ้างมาคุย เกลี้ยกล่อม ข่มขู่ ให้เซ็นใบลาออกเอง ทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับสิทธิค่าชดเชยตามกฎหมายและยังเสียสิทธิว่างงานจากประกันสังคมอีกด้วย” น.ส.วรรณวิภา กล่าว
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคมีข้อเสนอ 4 ข้อสำหรับกลุ่มทุนใหญ่ หากบริษัทไหนต้องการมาใช้เงินพยุงหุ้นกู้ 4 แสนล้านบาทตัวนี้ 1. ต้องไม่เลิกจ้างลูกจ้างจนกว่าจะไถ่ถอนหุ้นกู้คืนจาก ธปท. ในระหว่างที่ยังได้รับการสนับสนุนโอบอุ้มจากภาครัฐต้องไม่เลิกจ้าง 2. ต้องมีความน่าเชื่อถือด้านแรงงานที่ดี ไม่มีการกดขี่ ไม่มีการละเมิดสิทธิแรงงานในอดีตด้วย 3. หากบริษัทไหนมีประวัติไม่ดีต้องเสนอแผนแก้ไข เช่น หากมีคดีความที่ฟ้องร้องแรงงานที่มีลักษณะละเมิดสิทธิหรือสร้างอำนาจการต่อรองบริษัทอยู่ ให้ถอนฟ้องให้หมด หรือหากยังไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชยให้จ่ายคืนให้หมดในช่วงระยะเวลาที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ และ 4. ตลอดระยะเวลาที่ได้รับการช่วยเหลือหากมีพฤติกรรมที่กดขี่ ละเมิดสิทธิแรงงาน รัฐมีสิทธิที่จะบังคับให้บริษัทเหล่านี้ซื้อตราสารหนี้คืนจากรัฐได้โดยทันที