"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ในขณะนี้มีตัวเลขของเงินจำนวนหนึ่งวนเวียนอยู่ในความคิดของคนไทย นั่นคือ ๑.๙ ล้านล้านบาท เป็นตัวเลขที่รัฐบาลใช้เพื่อการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ๑๙ และเพื่อดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน เจ้าภาพที่ทำหน้าที่กู้เงินและใช้เงินในนามประชาชนชาวไทยมี ๒ หน่วยงาน คือ รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในส่วนของรัฐบาลกู้รวม ๑ ล้านล้านบาท ส่วนของ ธปท. ใช้รวม ๙ แสนล้านบาท
เงินจำนวน ๑ ล้านล้านบาท เป็นเงินที่รัฐบาลยอมรับว่าเป็นเงินกู้และแน่นอนว่านั่นคือหนี้สินแน่ ๆ แต่เงินอีก ๙ แสนล้านบาทรัฐบาลบอกว่าไม่ใช่เงินกู้ แต่ใช้สภาพคล่องของ ธปท. หรือพูดภาษาชาวบ้านก็คือใช้เงินของ ธปท. นั่นแหละ แต่เงินเหล่านี้ ธปท.จะเอามาจากที่ใดละ เอาเงินสะสมของหน่วยงานออกมาใช้หรือจะพิมพ์ธนบัตรใหม่ออกมาใช้ หรือจะไปกู้จากที่ใด ดูเหมือน ธปท.ยังไม่เผยเปิดให้เกิดความกระจ่างแก่ผู้คนในสังคมแต่อย่างใด
รัฐบาลเอาเงิน ๑ ล้านล้านบาทไปทำอะไรบ้าง หลักๆ คือใช้ภายใต้ ๒ แผนงาน ๓ เรื่อง แผนงานแรกตั้งชื่อว่า แผนงานสาธารณสุขและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบวงเงิน ๖ แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ก้อนๆ แรก ๔๕,๐๐๐ ล้านบาทใช้ดูแลด้านสาธารณสุข ซึ่งมีแผนงานย่อย ๕ แผนงานคือ ๑) เป็นค่าใช้จ่าย ค่าเยียวยา ค่าชดเชย และค่าเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณะสุข ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดหาผู้ชำนาญการทั้งในและต่างประเทศ ๒) จัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และห้องปฏิบัติการณ์ทางการแพทย์ ๓) ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษา ป้องกันและควบคุมโรค รวมทั้งการวิจัยพัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุข ๔) ค่าใช้จ่ายในการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล ค่ารักษาพยาบาล และค่ากักตัวผู้มีความเสี่ยง และ๕) โครงการด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน จากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙
เงินก้อนนี้สังคมมีคำถามไม่มากนักเพราะเข้าใจดีถึงความทุ่มเทเสียสละของบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข อย่างไรก็ตามก็มีจุดที่ควรตั้งข้อสังเกตเอาไว้อยู่เรื่องหนึ่งคือในข้อ ๕ ที่เขียนไว้กว้างครอบจักรวาล เปิดช่องว่างให้ตีความอย่างหาขอบเขตได้ยาก การเขียนลักษณะนี้มีความเสี่ยงต่อการเปิดทางให้เกิดการเบี่ยงเบนและใช้งบประมาณไปในทางที่ห่างไกลจากวัตถุประสงค์ได้ง่าย
ก้อนที่สองจำนวน ๕.๕ แสนล้านบาท ใช้เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ก้อนนี้ก็คือ เงินจำนวนเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท ต่อเดือนจำนวน ๓ เดือนรวม ๑๕,๐๐๐ บาทที่จ่ายให้แก่ผู้ลงทะเบียนรับสิทธินั่นเอง รอบแรกเป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่เกษตรกร ส่วนรอบสองที่ดำเนินการภายหลังเป็นผู้ลงทะเบียนเป็นเกษตรกรที่ไม่มีชื่อซ้ำซ้อนกับระบบประกันสังคมและไม่เป็นข้าราชการ ส่วนที่จะจ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ ถึงขณะนี้ยังไม่เห็นชัดเจนว่ามีหลักเกณฑ์หรือดำเนินการอย่างไร
เงินก้อนที่สองนี้รัฐบาลไทยใช้นโยบายแบบให้ผลประโยชน์แก่กลุ่มคนบางกลุ่มในสังคมแบบเฉพาะเจาะจง เป็นกลุ่มที่รัฐบาลประเมินว่าได้รับผลประทบโดยตรงจากโควิดเท่านั้น ด้วยข้ออ้างของการมีงบประมาณจำกัด และด้วยเหตุผลที่อ้างว่ารัฐพึงช่วยเหลือกลุ่มคนที่ควรได้รับการช่วยเหลือ ส่วนบางกลุ่มที่ช่วยตนเองได้ ก็ควรพึ่งตนเองไป แม้ว่ากระแสสังคมส่วนใหญ่เห็นด้วยในเชิงหลักการกับความช่วยเหลือแบบนี้ แต่ ก็มีข้อเสนอแย้งขึ้นมาบ้างจากบางกลุ่มในสังคม ที่เห็นว่ารัฐควรช่วยเหลือประชาชนทุกคนที่มีบัตรประชาชนหรือมีอายุ ๑๘ ปีขึ้นไปดังที่ใช้ในบางประเทศ ภายใต้หลักคิดว่า ทุกคนในสังคมได้รับผลกระทบเหมือนกันจากโควิด ดังนั้นรัฐบาลจึงควรเยียวยาอย่างทั่วหน้า แทนที่จะช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม
สำหรับก้อนที่สาม จำนวน ๔ แสนล้านบาท ใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม มี ๔ แผนงานย่อย ๑) แผนงานและโครงการลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพและยกระดับการค้า การผลิต และบริการ ด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุนท่องเที่ยวและบริการ ๒) แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ โดยส่งเสริมตลาดสำหรับการผลิต และผลิตภัณฑ์ของธุรกิจชุมชนที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวหรือภาคบริการอื่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน การจัดหาปัจจัยการผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน การเข้าถึงช่องทางการตลาด การยกระดับมาตรฐานคุณภาพและมูลค่าของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน ๓) แผนงานหรือโครงการเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน การลงทุนต่าง ๆ ของภาคเอกชน ๔) แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต
เงินก้อนนี้เป็นงบประมาณที่สังคมเฝ้าจับตาดูมากที่สุด และมีการคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มเป็นเงินที่จะละลายหายไปโดยมีความคุ้มค่าน้อยที่สุด และอาจเป็นเงินก้อนที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตสูงที่สุดด้วย และยิ่งพิจารณาแนวทางการดำเนินงานที่นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงไว้ว่า ดำเนินการโดยให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้นำเสนอโครงการและคำของบประมาณส่วนนี้ภายในวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๓ และลักษณะโครงการต้องเป็นโครงการขนาดเล็ก ระยะสั้นทำเสร็จภายใน ๑ ปี แล้ว ความกังวลของประชาชนผู้เสียภาษีต่อการใช้งบประมาณส่วนนี้จึงเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างแผนงานหรือโครงการที่นายทศพร หยิบยกขึ้นมา เช่น การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การจัดทำเพกเกจการท่องเที่ยว หรือ แจกส่วนลดค่าที่พัก ๕๐ - ๖๐ % โครงการทำเรื่องแหล่งน้ำ หรือ ระบบดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งเป็นโครงการภายใต้หลักคิดแบบเดิม ๆ ที่เคยพิสูจน์แล้วว่าประสบความล้มเหลวเสียเป็นส่วนใหญ่
และหากพิจารณาขั้นในการจัดทำและอนุมัติโครงการสัญญาณว่างบประมาณ ๔ แสนล้านจะกลายเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำก็มีสูงยิ่ง กล่าวคือในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด แจ้งเกี่ยวกับกรอบคิดและกรอบเวลาในการนำเสนอโครงการ โดยให้จังหวัดจัดส่งบัญชีข้อเสนอโครงการเบื้องต้นต่อ สศช. ในวันที่ ๕ มิถุนายน และ สศช. ตรวจสอบ ปรับปรุง และอนุมัติ จนถึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติภายในวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓ รวมเวลาทั้งหมดในการจัดทำจนถึงอนุมัติโครงการเพียง ๔๐ กว่าวันเท่านั้น
บรรดาข้าราชการและหน่วยงานของแต่ละจังหวัดมีเวลาในการคิดและเขียนโครงการ ๑๐ วัน เพื่อยื่นเสนอไปยัง สศช. ภายใต้เวลาที่เร่งรัดเช่นนี้ การคิดริเริ่มโครงการใหม่และประเมินโครงการอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดคุ้มค่ากับงบประมาณที่ต้องจ่ายลงไปเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ดังนั้นภาพที่จะเห็นคือ การที่หน่วยงานต่าง ๆหยิบโครงการเดิมที่เคยทำไว้แล้วมาปัดฝุ่น ปรับเปลี่ยนหลักการและเหตุผลบางประการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลกำหนดแล้วนำเสนอเพื่อขออนุมัติ ซึ่งคาดว่าคงมีโครงการจำนวนมหาศาลนับหมื่นโครงการที่ถูกนำเสนอขึ้นมา และคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการของ สศช. ก็มีเวลาพิจารณาและอนุมัติให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งเดือน ภายใต้กรอบเวลาที่เร่งรีบและรวบรัดเช่นนี้ เราสามารถทำนายได้ว่าความผิดพลาดคลาดเคลื่อนมีแนวโน้มเกิดขึ้นสูงอย่างยิ่ง มากยิ่งกว่าโครงการที่ทำภายใต้งบประมาณปกติหลายเท่านัก
เมื่อโครงการได้รับการอนุมัติและนำไปปฏิบัติความเสี่ยงของความล้มเหลว และสร้างผลกระทบทางลบในหลายมิติก็จะเกิดตามมา ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นและการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องของกลุ่มที่มีอำนาจในการนำเสนอโครงการและทำโครงการเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ไม่ยากว่ามีโอกาสเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย
เงินสี่แสนล้านบาทนี้เปรียบประดุจเนื้อก้อนใหญ่อันโอชะ ที่บรรดาสรรพสัตว์ที่หิวโหยคอยจ้องรุมทึ้งและแย่งรับประทานกัน ดังบทเรียนที่เราเคยเห็นมากมายในอดีตของบรรดาโครงการต่าง ๆ ทั้งที่เป็นโครงการแบบใช้งบประมาณประจำหรืองบประมาณพิเศษแบบนี้ ร่องรอยความล้มเหลวสามารถพบเห็นได้ทันทีหากเดินทางไปในพื้นที่ต่างจังหวัด อย่างเช่น ตลาดชุมชนร้าง โรงสีชุมชนร้าง การล่มสลายของกลุ่มอาชีพ บ่อบาดาลถูกทิ้งขว้าง ท่าเรือที่ไร้เรือ ห้องเย็นที่ไม่มีการดำเนินการ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีแต่ฝุ่น ฯลฯ
ข้อเสนอสำหรับสี่แสนล้านบาทในเวลานี้ ที่มีการขับเคลื่อนเป็นกฎหมายออกมาแล้วคือ การจำกัดขอบเขตความสูญเสียให้อยู่ในวงที่จำกัด โดยการอนุมัติโครงการให้น้อยที่สุดเพื่อลดความเสียหายและภาระหนี้สินของประชาชนและประเทศ ขอให้บรรดาผู้มีอำนาจหน้าที่และคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการทั้งหลายอย่าคิดว่าเมื่อกฎหมายให้กู้เงินสี่แสนล้านบาทแล้วต้องละเลงใช้ให้หมด ขอให้มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและคำนึงถึงอนาคตของประเทศให้มาก ๆ เอาไว้
สำหรับในส่วนที่ ธปท. รับผิดชอบ ๙ แสนล้านบาท ซึ่งมีสองก้อน ก้อนแรกให้สินเชื่อใหม่ ๕ แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย ๒ % แก่ SMEs วงเงินสินเชื่อไม่เกิน ๕๐๐ ล้านบาทต่อราย โดยจัดสรรการกู้เงินผ่านธนาคารพาณิชย์ มีปมปัญหาที่สำคัญคือ ความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้กู้ที่เคยเป็นลูกค้าเก่าของธนาคารกับผู้กู้ที่เป็นลูกค้าใหม่ ผู้กู้ที่เป็นลูกค้าเก่าจะมีโอกาสได้รับอนุมัติเงินกู้สูงกว่าลูกค้าหน้าใหม่ ขณะที่ SMEs หน้าใหม่ที่ไม่เคยเป็นลูกค้าธนาคารมาก่อนอาจเข้าไม่ถึงแหล่งทุนหรือยากลำบากที่จะได้รับเงินกู้ ซึ่งทำให้ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือมีจำนวนจำกัดไม่ทั่วถึง ดังนั้นในเรื่องนี้ ธปท. ต้องหามาตรการและกลไกเพื่อช่วยให้ SMEs ที่ไม่เคยเป็นลูกค้าเก่าของธนาคารมีโอกาสได้รับเงินกู้อย่างเท่าเทียมกันด้วย
ส่วนอีกก้อนจำนวน ๔ แสนล้านบาท ที่อ้างว่าเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ปมปัญหาที่คาใจสังคมคือ การใช้เงินก้อนนี้มีแนวโน้มจะไปช่วยเหลือเจ้าสัวหรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทั้งที่บรรดาเจ้าสัวเหล่านั้นมีทรัพย์สินเงินทองมหาศาลอยู่แล้ว และได้รับผลประโยชน์จากโครงการของรัฐมากมายภายใต้รัฐบาล คสช. ในช่วง ๖ ปีที่ผ่านมา แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่บรรดาบริษัทของเจ้าสัวเหล่านั้นจะไม่มีปัญญาหาเงินมาจ่ายหนี้หุ้นกู้ของตนเอง เพราะการจ่ายเงินคืนตราสารหนี้นั้น มีการกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าต้องชำระคืนในเวลาที่แน่นอนชัดเจนอยู่แล้ว บรรดาเจ้าสัวที่รัฐบาลประยุทธ์ชื่นชมว่าเก่งกาจหนักหนาและนำไปเป็นที่ปรึกษารัฐบาลหลายเรื่องควรมีความสามารถเพียงพอในการชำระเงินคืนด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือของรัฐ แต่หากออกตราสารหนี้ใหม่และธปท. เข้าไปรับซื้อเพื่อให้บริษัทเจ้าสัวเอาเงินของแผ่นดินไปคืนเจ้าหนี้ของตนเอง ก็หมายความว่าแท้จริงแล้วบริษัทเจ้าสัวที่รัฐบาลเชื่อว่ามีความเก่งกาจด้านเศรษฐกิจ ก็เป็นเพียงเรื่องไม่จริงและเป็นมายาภาพหลอกลวงผู้คนในสังคมเท่านั้น เช่นนี้แล้วจะมีหลักประกันอะไรว่าในอนาคตบริษัทเจ้าสัวจะสามารถคืนเงินแก่ ธปท. และหากไม่คืน ใครเป็นผู้แบกภาระหนี้สูญครับ คงไม่ใช่ผู้ว่า ธปท. แน่ หากแต่คือประชาชนทั้งประเทศครับ
ดังนั้นตัวเลขเงิน ๑.๙ ล้านล้านบาท คงเป็นตัวเลขที่หลอกหลอนประชาชนไปอีกยาวนานหลายสิบปี และคงเป็นร่องรอยที่ประทับความล้มเหลวของการบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกเรื่องหนึ่งในบัญชีความล้มของรัฐบาลประยุทธ์