xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผย 5 แนวทางใช้เงินกู้ 4.5 หมื่น ล.ป้องกันโควิด กระจายทุกหน่วยงาน ไม่ใช่แค่ สธ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ. เผย 5 แนวทาง ใช้เงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อภารกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระจายทุกภาคส่วน ป้องกันโรคโควิด-19 ไม่ใช่ให้แค่ สธ.หน่วยงานเดียว

วันนี้ (4 มิ.ย.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการรับจัดสรรงบประมาณตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (1 ล้านล้านบาท) จากรัฐบาลจำนวน 45,000 ล้านบาท ว่า งบประมาณนี้ใช้ในภาพรวมระบบสาธารณสุขทั้งประเทศ ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หน่วยงานเดียว จะกระจายไปกลุ่มต่างๆ ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลทุกระดับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานภายนอก เช่น โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ ซึ่ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้มอบนโยบายว่า การใช้จ่ายงบประมาณต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า กระจายทุกภาคส่วน มีความโปร่งใส มีส่วนร่วม และคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก มีเป้าหมายเพื่อลดการติดเชื้อของประชากรในประเทศให้อยู่ระดับที่ควบคุมได้ ป้องกันความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคระลอกใหม่เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสามารถดำเนินการได้ ภายใต้บริบทความไม่แน่นอนจากโรคอุบัติใหม่ และประชาชนได้รับการบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ทันสมัย มีศักยภาพ

นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัด สธ.กล่าวว่า เงินกู้จะนำไปการใช้งบประมาณใน 5 แผนงาน ประกอบด้วย 1. แผนงานหรือโครงการเพื่อรองรับค่าใช้จ่าย ค่าเยียวยา ค่าชดเชย และค่าเสี่ยงภัย สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง และค่าใช้จ่ายในการจัดหาผู้ชำนาญการทั้งในประเทศและต่างประเทศ 2. แผนงานหรือโครงการเพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรค และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์

3. แผนงานหรือโครงการเพื่อค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษา ป้องกันควบคุมโรค การวิจัยพัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อการฟื้นฟูด้านสาธารณสุข 4. แผนงานหรือโครงการเพื่อเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาลและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการกักตัวผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ 5. แผนงานหรือโครงการเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าว จะมีคณะกรรมการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ เน้นให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ลดผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หากไม่เพียงพอจะนำเรียนท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประสานของบเพิ่มเติม เน้นนโยบายเร่งด่วน เช่น ค่าใช้จ่ายการกักตัวในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) การวิจัยพัฒนา และจัดซื้อจัดหาวัคซีนในอนาคต เป็นต้น




กำลังโหลดความคิดเห็น