“อนุทิน” สั่งการผ่านไลน์ ทำแผนใช้งบเงินกู้ของ สธ.4.5 หมื่นล้าน แก้ปัญหา Covid-19 เน้นโปร่งใสตรวจสอบได้ ย้ำจัดซื้อของไทยก่อนเพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียน
วันนี้ (22 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความลงในกลุ่มไลน์ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ที่มีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขนิเทศก์ ทั้ง 12 เขต (ทั่วประเทศ) เกี่ยวกับการนำเสนอโครงการตามงบประมาณตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับจัดสรรมาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงินจำนวน 45,000 ล้านบาท โดยมีเนื้อหาว่า
“เรียนพี่น้องผู้บริหาร สธ.ทุกท่านครับ กระทรวงสาธารณสุขของเราจะต้องนำเสนองบประมาณในวงเงิน 45,000 ล้านบาท เพื่อรับมือสถานการณ์โควิด-19 จากนี้ไป งบประมาณนี้ได้รับการจัดสรรมาตามมติ ครม.ที่อนุมัติในที่ประชุมเมื่อวานนี้ เราควรต้องจัดการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งกระทรวงต้องการให้ผู้บริหารทุกท่าน มีส่วนร่วมและนำเสนอข้อแนะนำดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และความก้าวหน้าของกระทรวงสาธารณสุข
ผมอยากเน้นให้ทุกท่านได้ใช้หลักการพิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจที่เสียหายไป และการช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชนในช่วงนี้ หากงบประมาณนี้จะได้ถูกหมุนเวียนใช้เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเงินภายในประเทศได้มากที่สุดก็จะเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือประชาชนในขณะเดียวกันด้วย พยายามใช้ของที่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศให้น้อยที่สุด อุดหนุนกิจการของคนไทยให้มากที่สุด กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นที่ศรัทธาและเชื่อมั่นของประชาชนอย่างล้นหลาม เราดูแลประชาชนในทุกมิติ ไม่ใช่แค่เรื่องการสาธารณสุขเท่านั้น เยียวยาทุกอาการ ผมในฐานะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบกระทรวงนี้จึงขอให้ทุกท่านได้ร่วมกันคิดให้ละเอียด และนำเสนอมาตามสายงานบังคับบัญชาเพื่อนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด หากเป็นไปได้จะขอเชิญประชุมร่วมภายในปลายสัปดาห์หน้าครับ เพื่อที่ท่านทั้งหลายจะได้มีเวลาเตรียมตัวให้ดีที่สุด ขอให้ทุกท่านเริ่มดำเนินการทันทีนะครับ ขอบพระคุณมากครับ”
สำหรับแผนงานตามที่ ครม.อนุมัติดังกล่าวกำหนดไว้ ประกอบไปด้วย 1. แผนงานหรือโครงการที่รองรับค่าใช้จ่าย ค่าเยียวยา ค่าชดเชย และค่าเสี่ยงภัย สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดหาผู้นำชาญการทั้งในประเทศและต่างประเทศ 2. เพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรควัคซีนป้องกันโรค และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ 3. แผนงานหรือโครงการเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษา ป้องกัน ควบคุมโรค รวมทั้งการวิจัยพัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อการฟื้นฟูด้านการสาธารณสุขของประเทศ 4. แผนงานหรือโครงการเพื่อการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการกักตัวผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ 5. แผนงานหรือโครงการด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019