โฆษก ศบค.แถลงตัวเลขยังใจชื้น แต่วางใจไม่ได้ ย้ำ การ์ดอย่าตก พบค่าเฉลี่ยติดเชื้อแล้วไปตรวจเจอ เฉลี่ย 4 วัน แต่บางคนผ่านไป 28 วัน เพิ่งมาตรวจ ย้ำ นิยามสอบสวนโรคใหม่ ถ้าสงสัยให้ตรวจได้เลย กรมสุขภาพจิต เผยแพทย์-พยาบาล เครียด 10% สั่งการให้ดูแล ผงะ “ดื่มสุรา-เล่นพนัน-ยาเสพติด” ฝ่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังมีต่อเนื่องไม่หยุด
วันนี้ (22 เม.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงข่าวสถานการณ์ประจำวัน ระบุว่า ผู้ป่วยรายใหม่ในวันนี้ 15 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,826 ราย ใน 68 จังหวัด หายป่วยแล้ว 244 ราย หายป่วยสะสม 2,352 ราย รักษาอยู่ 425 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย สะสมรวม 49 ราย ผู้เสียชีวิตเป็นหญิงไทย อายุ 58 ปี อาชีพแม่บ้าน มีโรคประจำตัว เบาหวานความดัน ไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วน มีประวัติใกล้ชิดกับลูกสาวซึ่งเป็นผู้ป่วยยืนยัน กลุ่มอายุที่พบบ่อยอยู่ 20-29 ปี ตัวเลขที่ต่ำลงถือเป็นข่าวดี เป็นความสำเร็จเล็กๆ แต่ยังไม่เสร็จสิ้น ขอบคุณที่เสียสละอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ผู้ป่วยใหม่ 15 ราย สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 10 ราย แต่อีก 5 ราย พบหนึ่งในนั้นอาชีพเสี่ยง พนักงานขนส่งสินค้า ทำงานกับนักท่องเที่ยว
เมื่อแยกผู้ป่วยสะสม กับผู้ป่วย State Quarantine พบว่า กรุงเทพมหานคร และ ภูเก็ต มีอัตราการป่วยสะสมมากที่สุด ส่วนจังหวัดที่ยังมีรายงานผู้ป่วย 14 จังหวัด กระจายตัวอยู่ที่ภาคใต้ เมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต รวมทั้งกรุงเทพฯ นนทบุรี และภาคตะวันออกที่ชลบุรี แต่มีจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยเลย 9 จังหวัด ไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 14 วันขึ้นไป 36 จังหวัด ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ต่างจังหวัดลดลง กรุงเทพฯ และนนทบุรี ก็ลดลง แต่เป็นผลมาจากการทำงานในช่วง 7-14 วันที่แล้ว ผลของการทำวันนี้ไม่ได้เห็นผลในวันพรุ่งนี้ วอนให้ความสำคัญ แม้เบาใจได้แต่วางใจไม่ได้ ย้ำว่าการ์ดอย่าตก
ระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยติดเชื้อแล้วไปตรวจเจอ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4 วัน มากที่สุด 28 วัน ถือว่าสุ่มเสี่ยงที่จะไปแพร่กระจายกับผู้อื่น ปัจจุบันการตรวจโควิด-19 ง่ายขึ้น ย้ำถึงนิยามผู้สงสัยการติดเชื้อในเกณฑ์การสอบสวนโรคใหม่ ได้แก่ 1. ประวัติมีไข้ / อุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป 2. ไอ / น้ำมูก / เจ็บคอ / หายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบาก / ผู้ป่วยปอดอักเสบ บวกกับการมีประวัติในช่วงเวลา 14 วัน ก่อนวันเริ่มป่วย อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เดินทางไปยังพื้นที่เกิดโรค / ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องนักท่องเที่ยว / ไปสถานที่ชุมนุมชน / สัมผัสกับผู้ป่วยก่อนหน้า สามารถเข้ามาตรวจได้เลย
ส่วนสถานการณ์โลก ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,554,568 ราย รักษาตัว 57,239 ราย รักษาหายแล้ว 689,445 ราย เสียชีวิต 177,402 ราย สหรัฐอเมริกายังเป็นอันดับหนึ่ง ผู้ป่วยสะสม 817,952 ราย เสียชีวิตสะสม 45,279 ราย เฉพาะวัน 2,772 ราย รองลงมา สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 ส่วนประเทศเอเชีย พบประเทศญี่ปุ่นสะสม 11,135 ราย สิงคโปร์ขึ้นไปเป็นอันดับ 31 ผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น 1,111 ราย รวม 9,125 ราย ถือเป็นจุดที่ ผอ.ศบค. (นายกรัฐมนตรี) ระบุว่า ถ้าปรับมาตรการให้อ่อนลงแล้วติดเชื้อขนาดนี้ ถือว่าสิ่งที่ทำมาดีและความเสียสละ พังทลายในเวลาอันสั้น และสูญเสียทุกอย่าง
มีการวิเคราะห์สถานที่แออัดหรือสถานที่ชุมนุมชน โดยกรมควบคุมโรค พบกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สถานบันเทิง สนามมวย ซูเปอร์มาร์เก็ต ฟิตเนส วัด ร้านเสริมสวย มหาวิทยาลัย ร้านอาหาร พื้นที่ท่องเที่ยว เช่น ซอยทองหล่อ ตลาด ห้างสรรพสินค้า การใช้ขนส่งสาธารณะ สถานที่ทำงาน สถานพยาบาล ส่วนต่างจังหวัด ได้แก่ สถานบันเทิง สนามมวย สถานที่มั่วสุมเพื่อเล่นการพนัน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สถานที่ประชาชนฝ่าฝืนกฎหมาย ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า พื้นที่ท่องเที่ยว สถานที่ทำงาน เช่น ภูเก็ต หาดใหญ่ สงขลา ชะอำ สำนักงาน สถานพยาบาล ตลาด วัด และมัสยิด
ขณะที่ กรมสุขภาพจิต ออกแบบสำรวจความเครียด 2 กลุ่มใหญ่ คือ บุคลากรสาธารณสุข และประชาชน ส่วนใหญ่วัยทำงาน ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบมีความเครียดค่อนข้างสูง บุคลากรสาธารณสุขความเครียดเริ่มเยอะขึ้นเกือบ 10% ส่วนประชาชนมีความเครียดประมาณ 6% สอดคล้องกับมาตรการการใช้เคอร์ฟิว และการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นปฏิกิริยาทางจิตใจต่อสถานการณ์ไม่ปกติ ซึ่งต้องดูแลเพราะแต่ละคนรับมือสถานการณ์แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่ 80% สามารถปรับตัวได้ ใครที่เครียดขอให้แสดงตัวออกมา ทุกหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ ขณะที่บุคลากรสาธารณสุข ผอ.ศูนย์ EOC สั่งให้ดูแลสุขภาพจิตและชีวิตความเป็นอยู่ วันลาพัก รวมทั้งค่าตอบแทน
มาตรการเคอร์ฟิว พบคดีชุมนุมมั่วสุมลดลง 10 ราย ออกนอกเคหสถานลดลง 139 ราย สามอันดับแรกของการมั่วสุมชุมนุม คือ ดื่มสุรา เล่นการพนัน และ ยาเสพติด ติดต่อกันอยู่นาน ซึ่งทางสาธารณสุขย้ำว่าไม่ควรทำเช่นนั้น เพราะการรวมกลุ่มกัน อยู่ใกล้กัน มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ได้แน่นอน กระจายพื้นที่เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร ขณะที่วันนี้จะมีคนไทยกลับจากรัสเซีย 25 คน เวียดนาม 115 คน และเกาหลีใต้ 60 คน ทุกคนเข้าสู่ State Quarantine ส่วนการกระจายหน้ากากอนามัย สาธารณสุขเพิ่ม 1.15 ล้านชิ้น มหาดไทยเพิ่ม 8.42 แสนชิ้น กองทัพไทย 8 หมื่นชิ้น
ในช่วงตอบคำถาม เมื่อถามว่า ตัวเลขการสำรวจความเครียด รัฐบาลมีข้อห่วงใยอย่างไร ชี้แจงว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ รับทราบและเข้าใจผู้ที่เดือดร้อนและความเครียด เพราะไวรัสโคโรนา 2019 นำไปสู่การออกมาตรการของรัฐ และกระทบทางเศรษฐกิจ หากสามารถควบคุมได้ ความสูญเสียก็น้อยลง ผอ.ศบค. เลือกดูแลสุขภาพก่อน เยียวยาที่หลัง แต่หลายมาตรการได้นำออกมาใช้ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข ได้ทุ่มงบประมาณ 45,000 ล้านบาท รมว.สาธารณสุข ระบุ ไม่ได้เน้นที่อุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ใช้ในการจ้างงาน เยียวยา ค่าชดเชย เสี่ยงภัย หรือทำโครงการรองรับการบำบัดรักษา ป้องกันควบคุมโรค หากโรคดีขึ้นกระจายรายได้ไปยังประชาชนด้วย ย้ำรักษาตัวให้ปลอดภัย เงินทองเดี๋ยวหาใหม่ได้
ส่วนการเตรียมคลายล็อกบางจังหวัด จะผ่อนผันพ่อค้าได้หรือไม่ และหากตัวเลขผู้ป่วยรายเดียวกลับมายืดหยุ่นได้หรือไม่ ชี้แจงว่า ผอ.ศบค. ต้องใช้สถิติและชุดข้อมูล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจัดทำขึ้นมา และความร่วมมือด้านต่างๆ มีความสำคัญ การที่จะยกเลิกมาตรการยังไม่มี ให้มีลักษณะผ่อนปรน เพราะประเทศรอบๆ ยังมีการติดเชื้อที่สูง การติดเชื้อยังเป็นเรื่องความมั่นคง นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับความจำเป็น เช่น การเปิดร้านตัดผม มาตรการของร้านจะต้องกำกับดูแลให้มั่นใจว่าลูกค้าปลอดภัย ไม่ติดโรค ต้องป้องกันทั้งสองฝ่าย เป็นวาระสำคัญ อาจจะทดลองในกลุ่มจังหวัดและบางพื้นที่ แต่นโยบายส่วนกลางวางลงไป แต่ละจังหวัดนำไปปฏิบัติให้เฉพาะเจาะจงในแต่ละพื้นที่ หากดูแลคนทั้งจังหวัดได้ดีจะมีพื้นที่ทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น แต่ให้รอมติ ครม. และ ศบค.ในเร็วๆ นี้
เมื่อถามว่า หลายบริษัทเริ่มกลับมาทำงานแล้ว การคลายล็อกพบว่ามีผู้ติดเชื้อใหม่เกิดจากที่ทำงาน ชี้แจงว่าจะมีการเก็บสถิติ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเปิด ก็ต้องสร้างมาตรการเข้มกว่าเดิม ยืนยัน ผอ.ศบค. ไม่ได้ตัดสินใจเพียงคนเดียว ใช้ข้อมูลและการตัดสินเป็นหมู่คณะเพื่อให้รอบด้าน เป็นแนวทางที่ปฏิบัติกันได้ หากพบให้รายงาน ทีมสอบสวนโรคจะเข้าไป และสถานประกอบการไม่ต้องกลัวว่าจะถูกปิด
ส่วนข้อกังวลการจัดการขยะ เช่น หน้ากากอนามัย การสั่งอาหารดีลิเวอรี ชี้แจงว่า ถ้าเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จะมีคนที่ดูแลและนำไปกำจัดอย่างเหมาะสม ฝ่ายความมั่นคงและสาธารณสุขจะดูแล มีพื้นที่จัดการขยะให้มั่นใจว่าไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อแน่นอน แต่ขยะที่บ้านดีที่สุดให้แยกขยะ ทั้งหน้ากาก เศษอาหาร เศษวัสดุรีไซเคิล นอกจากนี้ ยังทิ้งท้ายว่า วันนี้เป็นวันคุ้มครองโลก ฝากวลี “ป้องกันโรค ปกป้องโลก”