นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองแผนงาน และโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ และสาธารณสุข แก้ปัญหาการระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้พิจารณากำหนดกรอบวงเงินการใช้งบประมาณ ตามแนวทางที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนด แล้ว ซึ่งมีกรอบการใช้เงิน 5 กลุ่ม ดังนี้
1. เพิ่มค่าตอบแทน อสม. คนละ 500 บาท จำนวน 1,050,000 คน เป็นเวลา 19 เดือน วงเงิน 10,000 ล้านบาท
2. ค่าใช้จ่ายการตรวจ รักษา ผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วย โควิด โดย สปสช.(สิทธิบัตรทอง) วงเงิน 10,000 ล้านบาท ตามสิทธิที่มีการประกาศไปแล้วให้สิทธิคนไทยทุกคน ตรจรักษาโควิด-19 ฟรีในจำนวนนี้ จะต้องเตรียมไว้รองรับประชาชน ซึ่งถูกเลิกจ้าง เป็นผู้ว่างงาน ซึ่งจะมีการเปลี่ยนสิทธิประกันสังคมมาใช้สิทธิบัตรทอง เพิ่มขึ้นนอีกประมาณ 1,000,000 คน ด้วย
3. ค่าใช้จ่ายที่ต้องสำรองไว้กรณีเกิดเหตุระบาดในช่วง 16 เดือน จัดหา วัคซีน ยา เวชภัณฑ์ และเบี้ยเลี้ยงสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ค่าใช้จ่ายในการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศไทย หรือค่าที่พัก State quarantine และการพัฒนาระบบไอที บริการประชาชน และผู้ป่วยที่จะใช้บริการของสถานพยาบาล ด้วยความปลอดภัย และลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ และติดเชื้อ วงเงิน 10,000 ล้านบาท
4. ค่าใช้จ่ายในการพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพของโรงพยาบาลทุกระดับ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ รวมถึง โรงพยาบาลเฉพาะทาง และ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อรองรับผู้ป่วย และการปรับปรุงระบบงานต่างๆ เพื่อให้การบริการประชาชน มีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น วงเงิน 10,000 ล้านบาท
5. ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาความสามารถทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุข ที่อยู่นอกกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย และหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลกองทัพ โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลของกรุงเทพมหานคร เป็นต้นวงเงิน 5,000 ล้านบาท
นายอนุทิน กล่าวว่า การกำหนดกรอบวงเงินทั้ง 5 ข้อดังกล่าวนี้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการป้องกัน และควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยยึดแนวทางที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนด โดยมีเป้าหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุด แก่ประชาชน และทำให้ประชาชนปลอดภัยได้มากที่สุด
“เงิน 45,000 ล้านบาท ที่สภาพัฒน์ กำหนดให้ใช้ในการพัฒนาระบบสาธารณสุข เป็นเงินที่ไม่มากเลย เมื่อนำมาจัดกรอบวงเงินตามภารกิจแล้ว ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ สะท้อนเป็นเสียงเดียวกัน ว่า เงินจำนวนนี้ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับภารกิจที่ต้องรับผิดชอบ ดูแล ป้องกันควบคุมโรคทุกพื้นที่ และบริการประชาชนทั้งประเทศ จนถึง กันยายน 2564 เพราะจะต้องมีการ
เตรียมความพร้อม ทั้ง โรงพยาบาล เครื่องมือแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ ไม่ให้เกิดการขาดแคลนเช่นในช่วงเวลาที่ผ่านมา หากมีการระบาดขึ้นมาอีก หลังจากที่มีการเปิดให้ประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ และผู้ประกอบธุรกิจสาขาต่างๆ จะกลับมาให้บริการตามปกติ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ เรามีบทเรียนมาแล้ว ต้องเตรียมความพร้อมไว้รับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ให้ดีที่สุด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนทุกคน”
รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า แนวคิดของกระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายการแพทย์ และระบบสาธารณสุข มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่า การใช้งบประมาณจำนวนนี้ จะได้ผลคุ้มค่า หากว่าเป็นการนำไปใช้เพื่อป้องกัน และส่งเสริมให้ประชาชน สร้างพฤติกรรมที่สอดคล้องกับการควบคุมโรค และลดการแพร่เชื้อ ลดการติดเชื้อด้วยตนเอง ให้มากที่สุด จึงมีความเห็นตรงกันที่จะใช้งบประมาณลงไปในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนช่วยกันสอดส่องดูแล และควบคุมโรคในชุมชนให้มากที่สุด ถ้ามีผู้ติดเชื้อน้อย ก็จะมีผู้ป่วยน้อย ภารกิจของโรงพยาบาลก็จะไม่มาก ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณในการรักษาผู้ป่วย แต่ถ้าควบคุมการระบาดไม่ได้ผล จะส่งผลให้มีผู้ป่วยในโรงพยาบาลจำนวนมาก และ การรักษาต้องใช้งบประมาณมากกว่าการป้องกัน และควบคุมโรค
นายอนุทิน กล่าวว่า เท่าที่ทราบจากคณะกรรมการพิจารณาโครงการ หน่วยบริการต่างๆ ทั้งในกระทรวงสาธารณสุข และนอกกระทรวงสาธารณสุข เสนอโครงการขึ้นมาจำนวนมาก และเกินวงเงิน 45,000 ล้านบาท ค่อนข้างมาก ซึ่งทุกโครงการมีความเกี่ยวข้องกับการป้องกัน ควบคุมตรวจ รักษาผู้ป่วยโควิด-19 สร้างความหนักใจให้คณะกรรมการ ที่ต้องปรับลดวงเงิน หรือ ตัดโครงการบางโครงการออกไป หรือ ตัดเครื่องมือแพทย์บางรายการออกไป เพราะโครงการเหล่านั้นมีเป้าหมายเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย และสร้างสุขภาพคนไทยให้แข็งแรง ปลอดจากโควิด-19
ดังนั้น หากมีความจำเป็น จะไปปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อขอแนวทางในการเพิ่มสัดส่วนงบประมาณ ในส่วนของการแพทย์ และการสาธารณสุข ซึ่งในการอภิปรายของ ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ก็เห็นด้วยว่าควรจะเพิ่มงบประมาณในส่วนของการแพทย์ และการสาธารณสุข เพิ่มขึ้น
“หากไม่สามารถเพิ่มได้ใน พ.ร.ก.เงินกู้ ก็ขอให้ ส.ส. และ ส.ว. ทุกท่าน ช่วยกันสนับสนุนภารกิจด้านการแพทย์ และการสาธารณสุข ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ และ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2564 ด้วย ถ้าให้เพิ่มไม่ได้ ก็ขอเพียงว่าอย่าตัด เพราะทุกบาทที่ใช้จ่ายในภารกิจการแพทย์ และการสาธารณสุข มีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัย เพื่อรักษาชีวิตของประชาชนจริงๆ”