xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยลดเงินเดือน มิ.ย.-ส.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รักษาการดีดี การบินไทย ประกาศลดเงินเดือนพนักงานอีก 3 เดือน (มิ.ย.-ส.ค.) แบบให้สมัครใจ และสั่งหยุดทำการบินอีก1เดือน "อดีตปธ.สหภาพฯ" ชี้คำสั่งลดเงินเดือนส่อผิดกม. เลี่ยงให้สมัครใจแทน เผยมีเงินสดหมื่นล้าน พอใช้จ่าย

รายงานข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) บริษัทฯ ครั้งพิเศษ โดยมี พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการบริษัท การบินไทยฯ เป็นประธาน ซึ่งมีรายงานข่าวว่า ที่ประชุมมีมติ พิจารณาขยายการปรับลดเงินเดือน และค่าตอบแทนพนักงานออกไปอีก1 เดือน คือถึงวันที่ 30 มิ.ย.63 จากเดิมที่ได้มีการลดเงินเดือนและค่าตอบแทนพนักงานมาแล้ว 2 เดือน คือเดือนเม.ย.และพ.ค.ในรูปแบบอัตราลดแบบขั้นบันได

โดยเมื่อวันที่ 31 พ.ค. นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปธ.คนที่ 2 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ปฏิบัติหน้าที่ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้มีคำสั่ง บริษัทที่ 069/2563 เรื่อง ข้อปฏิบัติสำหรับพนักงานในระหว่างบริษัทฯหยุดทำการบินชั่วคราว ซึ่งขยายการหยุดบินชั่วคราวออกไปถึง 30 มิ.ย.63 โดยให้ผู้บริหาร EVP MD และ VP พิจารณาให้พนักงานปฏิบัติงานจากที่บ้าน สำหรับงานที่ไม่สามารถมอบหมายให้ทำที่บ้านได้ ให้พิจารณาตามความจำเป็น และประกาศ บริษัทฯ ที่ 046/2563 แจ้งถึงมติบอร์ด เมื่อวันที่ 29 พ.ค.63 เรื่องการจ่ายเงินเดือนรวมค่าตอบแทน ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. ถึง 31 ส.ค.63 โดยให้พนักงานสมัครใจ ดังนี้

1. พนักงานระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (EVP)บริษัทฯ จ่ายเงินเงินเดือนและค่าตอบแทนให้ 50%

2. พนักงานระดับผู้อำนวยการใหญ่ (VP)หรือกรรมการผู้จัดการ (MD)จ่ายเงินเงินเดือนและค่าตอบแทนให้ 60%

3.พนักงาน (ไม่รวมข้อ 1 และ 2) จ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนในอัตราขั้นบันได ได้แก่ เงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาท ปรับลด 10% , เงินเดือนตั้งแต่ 20,001-40,000 บาท ปรับลด 25% , เงินเดือนตั้งแต่ 40,001-60,000 บาท ปรับลด 30% , เงินเดือนตั้งแต่ 60,001-100,000 บาท ปรับลด 35% ,เงินเดือนตั้งแต่ 100,001 บาทขึ้นไป ปรับลด 40%

โดยบริษัท จะจัดทำหนังสือยินยอมด้วยความสมัครใจของพนักงาน ในการรับเงินเดือนรวมค่าตอบแทนที่ปรับลดลง ให้พนักงานทุกคนลงนาม หรือ แสดงแจตนาผ่านช่องทางอื่น ภายใน วันที่ 15 มิ.ย.63

นอกจากนี้ ยังให้ระงับจ่ายค่าพาหนะทุกประเภทแก่พนักงานทุกระดับ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงหากพนักงานมีความประสงค์ไม่รับเงินเดือนรวมค่าตอบแทน หรือยอมลดเงินเดือนรวมค่าตอบแทนลงในอัตราที่มากกว่าที่กำหนดไว้ หรือประสงค์ใช้สิทธิลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนด้วยความสมัครใจ สามารถกระทำได้ โดยแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ

บอร์ดไม่ขอรับค่าตอบแทนรายเดือน

ขณะที่ในส่วนของคณะกรรมการบริษัทฯ ได้ร่วมใจช่วยเหลือองค์กร โดยไม่รับค่าตอบแทนรายเดือนตั้งแต่เดือนมิ.ย.63 เป็นต้นไป ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้ร่วมใจลดค่าตอบแทนรายเดือนลง 50 % ตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ และครอบครัวไม่ได้รับสิทธิบัตรโดยสารฟรี และสิทธิประโยชน์ใดๆ ตั้งแต่ปี 57 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริษัทฯ และผลการประชุมจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในปี 57 ให้ยกเลิกสิทธิประโยชน์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ หรือบริการของรัฐวิสาหกิจและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ

อดีตปธ.สหภาพฯชี้คำสั่งลดเงินเดือนส่อผิดกม.

นายนเรศ ผึ้งแย้ม อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การบินไทย กล่าวว่า คำสั่ง รักษาการดีดี แจ้งลดเงินเดือนพนักงานแบบสมัครใจเดือน มิ.ย.-ส.ค.63 เป็นการหลีกเลี่ยง ปัญหาทางประเด็นข้อกฎหมาย ขณะที่ 2 เดือนก่อนหน้านั้น บริษัทลดเงินเดือน โดยมีพนักงานยินยอมเพียง 5,000 คน จาก 21,000 คน แต่ทางรักษการ ดีดี บอกว่า ถ้าไม่ทำ จะกู้เงินไม่ได้ พนักงานจึงยอมช่วยบริษัทฯ ซึ่งเมื่อสิ้นเดือนมี.ค. บริษัทฯ มีเงินสดประมาณ9,000 ล้านบาท กันค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนไว้ 2,500 ล้านบาท โดยกรณีจ่ายเงินเดือนปกติ จะใช้เงิน 1,176 ล้านบาท แต่เมื่อมีการปรับลดเงินเดือนลง ทำให้ค่าใช้จ่ายเงินเดือน อยู่ที่ 840 ล้านบาท ต่อเดือน

ขณะที่มีการเจรจาเจ้าหนี้ที่ครบดิว และการหยุดหนี้อัตโนมัติ หลังจากยื่นศาลล้มละลาย ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลง อีกทั้งในเดือนมิ.ย. ยังมีเครดิตไลน์ในมืออีก ส่วนหนึ่ง รวมๆ ตอนนี้ มีกระแสเงินในมือประมาณ 10,000 ล้านบาท และปัจจุบันแม้ว่า บริษัทฯจะแจ้งหยุดทำการบิน แต่พนักงานส่วนใหญ่ยังคงทำงาน ยกเว้น นักบินและลูกเรือ การลดเงินเดือน จึงไม่เป็นธรรมกับพนักงาน ขณะที่ในสภาพความเป็นจริง พนักงานจำนวนมากมีเงินเหลือไม่ถึง 15% บางคนติดลบ เพราะมีการหักสหกรณ์ เมื่อบริษัทลดเงินเดือน ต้องไปลดการจ่ายสหกรณ์ เพื่อให้มีเงินใช้จ่ายในแต่ละเดือน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นการลดแบบสมัครใจ ขอให้บริษัทฯ ทำตามเงื่อนไข เฉพาะผู้ที่สมัครใจ หากละเมิด ไม่ทำตามเงื่อนไข ตนได้ประสานกับพนักงานเตรียมดำเนินการฟ้องร้องตามสิทธิ์ ซึ่งมี 2 แนวทางคือ ทำหนังสือร้องเรียนถึงอธิบดีกรมสวัสดิการแรงงาน หรือ ยื่นฟ้องศาลตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

"เรื่องนี้ ทราบว่าบอร์ดให้ขยายเวลาลดเงินเดือนออกไป 1 เดือน หรือถึงเดือนมิ.ย. แต่รักษาการดีดี ประกาศออกมา มิ.ย.-ส .ค. หรือ ลดอีก 3 เดือน แต่ปรับเป็นสมัครใจ ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของฝ่ายบริหาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายบริหารไม่จริงใจกับพนักงาน และหากต่อไปต้องมีการลดพนักงาน การยินยอมลดเงินเดือน จะมีผลต่ออัตราเงินเดือนสุดท้ายที่จะนำมาคิดเงินชดเชยอีกด้วย" นายนเรศ กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น