xs
xsm
sm
md
lg

โอนงบ8.8หมื่นล้านสู้โควิด-กลาโหมมากสุด1.7หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน360- สภาฯพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบ 8.8 หมื่นล้านสู้โควิด-19 วันนี้ กลาโหมโดนเฉือนมากสุด 1.7 หมื่นล้าน ศึกษาฯ 4.7 พันล้าน คมนาคม 3.4 พันล้าน ด้าน “หมอบุ๋ม”เผยมีผู้ป่วยโควิดรายใหม่ 1 ราย กลับมาจากซาอุฯ ผ่านด่านปาดังเบซาร์ ไม่พบการติดเชื้อในประเทศต่อเนื่อง ผู้ป่วยสะสมรวม 3,084 ราย กลับบ้านแล้ว 2,968 รายเหลือรักษาตัว 58 ราย ย้ำร่วมกันใช้ชีวิตวิถีใหม่ เพื่อให้ปลดล็อกระยะถัดไป "อนุทิน" เผย 5 แนวทาง ใช้เงินกู้ 4.5 หมื่นล้าน อย่างคุ้มค่า ชี้ภารกิจ สธ.มาก วอนสส.-สว. อย่าตัดพรบ.โอนงบ 63 และพรบ.งบ 64

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้ (4 มิ.ย.) จะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.... วงเงิน 88,452 ล้านบาท ตามที่ครม. เป็นผู้เสนอ มีทั้ง 5 มาตรา โดยมีหลักการและเหตุผล ให้โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของหน่วยรับงบประมาณเป็นบางรายการ ไปตั้งไว้เป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพิ่มเติม หลังวงเงิน 96,000 ล้านบาท ที่ตั้งไว้ในงบประมาณปี 2563 นั้นไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้จ่ายสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาและเยียายาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 รวมไปถึงกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินจำเป็นจากสถานการณ์ภัยแล้ง และสาธารณภัยอื่นที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ

ทั้งนี้ แต่ละหน่วยงานได้มีการโอนงบประมาณ 2563 คืนรัฐบาล เพื่อตั้งเป็นงบกลางไว้สำหรับแก้ไขปัญหาโควิด-19 โดยเรียงตามลำดับกระทรวงที่โอนงบคืนสูงที่สุด ดังนี้

1.กระทรวงกลาโหม จำนวน 17,700 ล้านบาท 2. กระทรวงศึกษาธิการ 4,746 ล้านบาท 3. กระทรวงคมนาคม 3,427 ล้านบาท 4. กระทรวงมหาดไทย 2,057 ล้านบาท 5. กระทรวงสาธารณสุข 1,356 ล้านบาท 6. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม 1,254 ล้านบาท 7.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1,153 ล้านบาท 8. สำนักนายรัฐมนตรี 1,065 ล้านบาท 9.กระทรวงการคลัง 778 ล้านบาท 10.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 641 ล้านบาท 11. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 571 ล้านบาท 12.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 506 ล้านบาท

13.กระทรวงยุติธรรม 384 ล้านบาท 14.กระทรวงพาณิชย์ 277 ล้านบาท 15.กระทรวงวัฒนธรรม 203 ล้านบาท 16.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 192 ล้านบาท 17. กระทรวงอุตสาหกรรม 139 ล้านบาท, 18.กระทรวงการต่างประเทศ 62 ล้านบาท 19. กระทรวงพลังงาน 37 ล้านบาท และ 20. กระทรวงแรงงาน 22 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการโอนงบของส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง รวม 775 ล้านบาท อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 544 ล้านบาท สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 177 ล้านบาท เป็นต้น รวมไปถึงงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด 2,537 ล้านบาท งบประมาณจากแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้ง 15 ด้าน รวมกันทั้งสิ้น 13,256 ล้านบาท และ งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ ซึ่งเป็นของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะอีก 35,303 ล้านบาท

นศ.กลับจากซาอุฯ ป่วยโควิดอีกราย

พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศบค. แถลงข่าวประจำวันว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 1 ราย กลับบ้านเพิ่ม 2 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้ป่วยสะสม 3,084 ราย แบ่งเป็นอยู่ในสถานกักกัน 147 ราย และติดเชื้อภายในประเทศ 2,444 ราย กลับบ้านรวม 2,968 ราย เสียชีวิตรวม 58 ราย และรักษาใน รพ. 58 ราย

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ เป็นนักศึกษาชายไทย อายุ 26 ปี กลับมาจากซาอุดีอาระเบีย ถึงกัวลาลัมเปอร์ และเข้าไทยผ่านด่านปาดังเบซาร์ โดยรถบัส เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ผลตรวจครั้งแรกไม่พบเชื้อ และเข้าพักในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ที่ จ.ปัตตานี การตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 31 พ.ค. ตรวจพบเชื้อแต่ไม่มีอาการ จึงส่งตัวรักษาที่ รพ.ใน จ.ปัตตานี แปลว่าไม่มีการติดเชื้อภายในประเทศในวันนี้

พญ.พรรณประภา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 มีกิจการหลายประเภทกลับมาเปิดได้ตามปกติ พี่น้องประชาชน สามารถใช้ชีวิตตามปกติมากยิ่งขึ้น ที่บอกตลอด คือความปกตินั้นไม่ใช่ความปกติเดิม แต่เป็นความปกติใหม่ หรือชีวิตวิถีใหม่ หลายคนอาจรู้สึกว่าขัดใจ ไม่คุ้นชิน ไม่สะดวกสบายบ้าง มาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อไม่ให้เกิดการะระบาดของเชื้อซ้ำใหม่ ทั้งผู้ประกอบกิจการ ผู้รับบริการ เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ มีการสแกนอุณหภูมิเข้าร่างกายก่อนเข้า การสแกนคิวอาร์โคด ผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของเชื้อซ้ำอีก หากระบาดจริงๆ ก็ป้องกันและจำกัดวงให้แคบที่สุด และสามารถติดตามผู้มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิด นำมาตรวจคัดกรองและรักษาได้ทัน

"จะเห็นจากบทเรียนหลายประเทศทั่วโลก เมื่อปลดล็อกผ่อนคลายแล้วกลับมาระบาดของโรคซ้ำใหม่ ประเทศไทยและประชาชนร่วมมือกันได้ คือ ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้า มีมาตรการผ่อนคลายระยะถัดไป หรือผ่อนคลายจนทุกอย่างปกติ เพื่อไม่ให้ถอยหลังกลับมาที่จุดเดิม หรือปิดกิจการที่เคยปิดไปแล้ว ช่วงแรกอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผ่านไปทุกคนจะปรับตัวให้เข้าชีวิตวิถีใหม่และกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้อีกครั้ง" พญ.พรรณประภา กล่าว

"อนุทิน" เผย 5 แนวทาง ใช้เงินกู้ 4.5 หมื่นล.

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองแผนงาน และโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ และสาธารณสุข แก้ปัญหาการระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้พิจารณากำหนดกรอบวงเงินการใช้งบประมาณ ตามแนวทางที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนด แล้ว ซึ่งมีกรอบการใช้เงิน 5 กลุ่ม ดังนี้

1. เพิ่มค่าตอบแทน อสม. คนละ 500 บาท จำนวน 1,050,000 คน เป็นเวลา 19 เดือน วงเงิน10,000 ล้านบาท

2. ค่าใช้จ่ายการตรวจ รักษา ผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วย โควิด โดย สปสช.(สิทธิบัตรทอง) วงเงิน10,000 ล้านบาท ตามสิทธิที่มีการประกาศไปแล้วให้สิทธิคนไทยทุกคน ตรจรักษาโควิด-19 ฟรีในจำนวนนี้ จะต้องเตรียมไว้รองรับประชาชน ซึ่งถูกเลิกจ้าง เป็นผู้ว่างงาน ซึ่งจะมีการเปลี่ยนสิทธิประกันสังคมมาใช้สิทธิบัตรทอง เพิ่มขึ้นนอีกประมาณ 1,000,000 คน ด้วย

3. ค่าใช้จ่ายที่ต้องสำรองไว้กรณีเกิดเหตุระบาดในช่วง 16 เดือน จัดหา วัคซีน ยา เวชภัณฑ์ และเบี้ยเลี้ยงสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ค่าใช้จ่ายในการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศไทย หรือค่าที่พัก State quarantine และการพัฒนาระบบไอที บริการประชาชน และผู้ป่วยที่จะใช้บริการของสถานพยาบาล ด้วยความปลอดภัย และลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ และติดเชื้อ วงเงิน 10,000 ล้านบาท

4. ค่าใช้จ่ายในการพัฒนนา และเพิ่มประสิทธิภาพของโรงพยาบาลทุกระดับ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ รวมถึง โรงพยาบาลเฉพาะทาง และ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อรองรับผู้ป่วย และการปรับปรุงระบบงานต่างๆ เพื่อให้การบริการประชาชน มีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น วงเงิน10,000 ล้านบาท

5. ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาความสามารถทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุข ที่อยู่นอกกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย และหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลกองทัพ โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลของกรุงเทพมหานคร เป็นต้นวงเงิน 5,000 ล้านบาท

นายอนุทิน กล่าวว่า การกำหนดกรอบวงเงินทั้ง 5 ข้อดังกล่าวนี้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการป้องกัน และควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยยึดแนวทางที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนด โดยมีเป้าหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุด แก่ประชาชน และทำให้ประชาชนปลอดภัยได้มากที่สุด

“เงิน 45,000 ล้านบาท ที่สภาพัฒน์ กำหนดให้ใช้ในการพัฒนาระบบสาธารณสุข เป็นเงินที่ไม่มากเลย เมื่อนำมาจัดกรอบวงเงินตามภารกิจแล้ว ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ สะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า เงินจำนวนนี้ ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับภารกิจที่ต้องรับผิดชอบ ดูแล ป้องกันควบคุมโรคทุกพื้นที่ และบริการประชาชนทั้งประเทศ จนถึง กันยายน 2564 เพราะจะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้ง โรงพยาบาล เครื่องมือแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ ไม่ให้เกิดการขาดแคลนเช่นในช่วงเวลาที่ผ่านมา หากมีการระบาดขึ้นมาอีก หลังจากที่มีการเปิดให้ประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ และผู้ประกอบธุรกิจสาขาต่าง ๆ จะกลับมาให้บริการตามปกติ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ เรามีบทเรียนมาแล้ว ต้องเตรียมความพร้อมไว้รับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ให้ดีที่สุด เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ทุกคน”

รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า แนวคิดของกระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายการแพทย์ และระบบสาธารณสุข มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การใช้งบประมาณจำนวนนี้ จะได้ผลคุ้มค่า หากว่าเป็นการนำไปใช้เพื่อป้องกัน และส่งเสริมให้ประชาชน สร้างพฤติกรรมที่สอดคล้องกับการควบคุมโรค และลดการแพร่เชื้อ ลดการติดเชื้อด้วยตนเอง ให้มากที่สุด จึงมีความเห็นตรงกันที่จะใช้งบประมาณลงไปในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนช่วยกันสอดส่องดูแล และควบคุมโรคในชุมชนให้มากที่สุด ถ้ามีผู้ติดเชื้อน้อย ก็จะมีผู้ป่วยน้อย ภารกิจของโรงพยาบาลก็จะไม่มาก ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณในการรักษาผู้ป่วย แต่ถ้าควบคุมการระบาดไม่ได้ผล จะส่งผลให้มีผู้ป่วยในโรงพยาบาลจำนวนมาก และ การรักษาต้องใช้งบประมาณมากว่าการป้องกัน และควบคุมโรค

นายอนุทิน กล่าวว่า เท่าที่ทราบจากคณะกรรมการพิจารณาโครงการ หน่วยบริการต่าง ๆ ทั้งในกระทรวงสาธารณสุข และนอกกระทรวงสาธารณสุข เสนอโครงการขึ้นมาจำนวนมาก และเกินวงเงิน 45,000 ล้านบาท ค่อนข้างมาก ซึ่งทุกโครงการมีความเกี่ยวข้องกับการป้องกัน ควบคุมตรวจ รักษาผู้ป่วยโควิด-19 สร้างความหนักใจให้คณะกรรมการ ที่ต้องปรับลดวงเงิน หรือ ตัดโครงการบางโครงการออกไป หรือ ตัดเครื่องมือแพทย์บางรายการออกไป เพราะโครงการเหล่านั้นมีเป้าหมายเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย และสร้างสุขภาพคนไทยให้แข็งแรง ปลอดจากโควิด-19

ดังนั้น หากมีความจำเป็น จะไปปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อขอแนวทางในการเพิ่มสัดส่วนงบประมาณ ในส่วนของการแพทย์ และการสาธารณสุข ซึ่งในการอภิปรายของส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ก็เห็นด้วยว่าควรจะเพิ่มงบประมาณในส่วนของการแพทย์ และการสาธารณสุข เพิ่มขึ้น

“หากไม่สามารถเพิ่มได้ใน พ.ร.ก.เงินกู้ ก็ขอให้ ส.ส. และ ส.ว. ทุกท่าน ช่วยกันสนับสนุนภารกิจด้านการแพทย์ และการสาธารณสุข ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ และ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2564 ด้วย ถ้าให้เพิ่มไม่ได้ ก็ขอเพียงว่าอย่าตัด เพราะทุกบาทที่ใช้จ่ายในภารกิจการแพทย์ และการสาธารณสุข มีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัย เพื่อรักษาชีวิตของประชาชน จริง ๆ ”



กำลังโหลดความคิดเห็น