xs
xsm
sm
md
lg

เสร็จแล้ว!! แอปฯ “ไทยชนะ” สแกนเข้าออกร้านช่วยคุม “โควิด” หากมีผู้ป่วย ติดตามคนเกี่ยวข้องมาตรวจเชื้อฟรีทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบค.เผยทำแอปพลิเคชัน ไทยชนะ เสร็จแล้ว จ่อให้กิจการผ่อนปรนลงทะเบียนรับคิวอาร์โค้ด ประชาชนสแกนเช็กอิน-เช็กเอาต์เข้าออกร้าน ชี้ช่วยรู้ปริมาณคนเข้าร้านไม่ให้แออัด หากมีคนติดเชื้อติดตามผู้เกี่ยวข้องได้ ส่งข้อความไปตรวจเชื้อได้ฟรี ดีอีเอส เตรียมเปิดตัววันที่ 15 พ.ค. ยันข้อมูลเป็นความลับ ใช้เพื่อควบคุมโรคเท่านั้น ช่วยร้านต่างๆ สะดวกไม่ต้องใช้สมุดจดลงทะเบียน

วันนี้ (14 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงมาตรการเสริมในการใช้แอปพลิเคชันช่วยควบคุมดูแลป้องกันโรคโควิด-19 ในการลงทะเบียนเข้าใช้บริการกิจการต่างๆ เพื่อหากเกิดการติดเชื้อจะได้สามารถติดตามผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าสู่ระบบการตรวจได้ว่า การปรับสู่ชีวิตวิถีใหม่จะทำรูปแบบเก่าๆ ไม่ได้แล้วเพราะเรายังไม่มียาและวัคซีน ยังต้องอยู่กับไวรัสตัวนี้ไปอีกระยะ อย่างไรก็ตาม ศบค.ชุดเล็กรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ค.เพิ่งดำเนินการทำแพลตฟอร์มและระบบแล้วเสร็จ โดยนายกฯ ให้ใช้ชื่อว่า “ไทยชนะ” ซึ่งแอปพลิเคชันนี้จะช่วยให้การลงทะเบียนง่ายขึ้น จากเดิมต้องลงทะเบียน มานั่งจดใครเข้าร้าน เข้าออกกี่โมง ต่อไปง่ายๆ ก็ใช้วิธีเช็กอินผ่านแพลตฟอร์ม

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในส่วนของผู้ประกอบการก็เพียงลงทะเบียนผ่านดิจิทัลออนไลน์ก็จะได้รับคิวอาร์โค้ดมาแปะหน้าร้าน ไม่ต้องมีสมุดมาลงทะเบียนประชาชนผู้เข้าออกร้านอีก ก็ให้คิวอาร์โค้ดทำหน้าที่แทน ส่วนประชาชนไม่ต้องทำอะไร เพียงใช้สมาร์ทโฟนไปสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อเช็กอินตอนเข้าไป และสแกนออกเมื่อออกจากร้าน นอกจากนี้ยังช่วยให้รับรู้ว่ามีคนเข้าใช้บริการร้านนั้นจำนวนมากน้อยแค่ไหน เช่น ร้านตัดผม รองรับ 5 คน เมื่อเข้าไปในแอปพลิเคชันก็จะรู้ว่าถ้าร้านเต็มหมดแล้วก็อาจไม่ต้องไปตอนนั้น หรืออนาคตหากผ่อนปรนเปิดห้างสรรพสินค้า ก็สามารถค้นหาห้างใกล้บ้านได้ และเช็กดูว่าคนเข้าไปมากน้อยแค่ไหน เช่น รองรับ 1 พันคน คนเข้าไปเต็มแล้ว ก็อาจไม่ไปหรือหาห้างอื่นๆ

“คุณสมบัติของแพลตฟอร์มนี้ยังเปิดให้เราให้คะแนนร้านที่เราไปใช้บริการ เช่น ทำได้ดี ทำตามมาตรการป้องกันโรคหรือไม่ ก็ให้คะแนน อย่างทำดีให้คะแนนสูง ให้เรตติ้งดี เพื่อให้คนอื่นเข้ามาใช้บริการ อนาคตอาจพัฒนาต่อยอดในส่วนของการมีส่วนลด หรือแต้มต่างๆ ในฐานะคนใช้งานอาจได้ประโยชน์ตรงนี้ด้วย เป็นเรื่องดีนการปรับสู่ New Normal เจ้าของร้านก็ต้องแข่งทำดี เพื่อให้ได้เริตติ้งที่ดี อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว เพราะไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าเบอร์โทร.” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ถ้าใครไม่มีโทรศัพท์ เช่น มีลูกเล็ก หรือผู้สูงอายุที่เราพาไปด้วย ก็แนะนำว่าอาจจะต้องมีระบบ 2 ระบบควบคู่ คือ ระบบแมนวลในการลงทะเบียนแบบเดิมควบคู่กันไป ช่วงแรกอาจจะมีขลุกขลักกันบ้างก็ต้องขออภัยไว้ล่วงหน้า ทุกฝ่ายก็พยายามเต็มที่ ตรงนี้อาจตอบโจทย์ 70-80% ก็ยังดี เพราะคนมีมือถือก็ประมาณ 70-80% ของประชากร อาจจะขาดตกบกพร่อง 10-20% ก็ต้องขออภัย แต่อย่างที่บอกคือ เหมือนอิแทวอนที่ต้องตามคน 2 พันกว่าคน หากมีแอปพลิเคชันก็จะตามได้เร็ว ไม่เกิดการระบาดคลื่นลูกที่ 2 ซึ่งชุดข้อมูลจะอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ดูแลด้านสุขภาพเท่านั้น

“ขอฝากให้ทำ 5 มาตรการ คือ สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ทำความสะอาด อย่าให้แออัด ส่วนจะรู้ได้อย่างไรไม่ให้แออัด แอปฯ จะมาเป็นคำตอบ ถ้ามีแอปฯ มีแพลตฟอร์ม จะช่วยเราได้มาก ขอความร่วมมือประชาชน จะได้ผ่านระยะนี้ เข้าระยะ 2 อย่างปลอดภัย และหวังต่อได้ คือ ไปถึงระยะ 3 ระยะ 4 ให้ได้ อีกไม่กี่อึดใจก็จะผ่านไปด้วยกัน” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

ด้าน นพ.พลวรรธน์ วิฑูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ร้านต่างๆ สามารถลงทะเบียนเว็บไซต์เพื่อรับคิวอาร์โค้ด ส่วนประชาชนมีหน้าที่เช็กอินและเช็กเอาต์ตามปกติ แต่ที่ต่างจากปกติ คือ 1. ประชาชนใช้ระบบนี้ทราบปริมาณความหนาแน่นผู้ใช้บริการร้านค้านั้น 2. ติดตามผู้ป่วย จะเห็นว่าบางทีมีผู้ป่วย 1 คน แต่ต้องติดตาม 2-3 พันคน ความยุ่งยากจะหมดไป กรมควบคุมโรค (คร.) จะใช้ระบบนี้ติดตามผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยเข้ามาตรวจได้ โดยระบบจะมีการแจ้งเตือนย้อนกลับไปยังเบอร์โทร.ที่มีการลงทะเบียนไว้กับระบบ ถ้าได้ข้อความจากระบบก็ไปตรวจเชื้อฟรี

“ข้อดี คือ ไม่ต้องไปประกาศว่าไทม์ไลน์เราไปไหนเหมือนเมื่อก่อน ทุกอย่างเป็นความลับหมด ถ้าไม่ได้ใช้ระบบนี้ ก็ต้องไปให้การตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค ก็ค่อนข้างยากวุ่นวาย ต้องมาไล่ว่าไปไหนบ้าง ไปเจอใครพบใครก็ลืมไปแล้ว 14 วันไปไหนบ้าง แต่การใช้เช็กอินผ่านระบบนี้จะทำให้ตรวจสอบได้ทันทีว่าไปไหนมาบ้าง และสามารถจำกัดเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องได้จริงๆ หากไม่มีระบบนี้ก็อาจต้องเรียกผู้เกี่ยวข้องสถานที่นั้นทั้งวันมาสอบสวน แต่หากมีระบบนี้ก็จะเลือกเฉพาะคนที่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันมาตรวจได้ คนจำนวนมากไม่ต้องมาเดือดร้อน ที่สำคัญทุกอย่างเป็นความลับ ก็จะลดความโกลาหลวุ่นวาย ลดงบประมาณที่ต้องไปดูแลส่วนที่ไม่จำเป็น” นพ.พลวรรธน์กล่าว

นพ.พลวรรธน์กล่าวว่า สำหรับการลงทะเบียนจะชี้แจงรายละเอียดวันที่ 15 พ.ค. เพื่อขอให้ปรับปรุงระบบให้แข็งแรงก่อนในการรองรับคนเข้าใช้งานจำนวนมากๆ ส่วนกิจการที่จะมาลงทะเบียนก็จะเป็นไปตามกิจการที่ได้รับการผ่อนปรน ส่วนกิจการเล็กใหญ่ จะเป็นห้างสรรพสินค้า ร้านค้าริมทาง ร้านดังไม่ดัง สามารถเข้ามาลงทะเบียนได้ตามกิจการที่ผ่อนปรน เพราะเราไม่ได้เลือกจากขนาดกิจการ โดยย้ำว่าการให้ลูกค้าลงทะเบียนเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กร้านใหญ่ แต่การใช้ระบบนี้แนสมุดจดทุกอย่างจะเป็นความลับ และยืนยันว่าไม่มีละเมิดสิทธิหรือแอบติดตามข้อมูล เพราะข้อมูลนี้จะใช้เพื่อประโยน์ต่อการควบคุมโรคเท่านั้น ใช้เพื่อเหตุผลอื่นไม่ได้ ข้อมูลจะถูกเก็บโดยกรมควบคุมโรค


กำลังโหลดความคิดเห็น