xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีเอสเตรียมเปิดแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ติดตามตัวป้องกันโควิด-19 ระบาดระลอกสอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เตรียมเปิดตัวแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” สู้โควิด-19 เชิญประชาชนเช็กอินตรวจสอบร้านค้า ศบค.ยันไม่ละเมิดสิทธิ เป็นข้อมูลลับทางการแพทย์

วันนี้ (14 พ.ค.) นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ได้มีการทำแอปพลิเคชันชื่อ “ไทยชนะ” โดยจะทำหน้าที่จัดการดูแลเรื่องมาตรการ 5 ข้อของ ศบค. เริ่มต้นจากผู้ประกอบการ หรือร้านค้าจะต้องไปลงทะเบียนในเว็บไซต์เพื่อให้ได้คิวอาร์โค้ดมาแปะที่หน้าร้าน และเมื่อประชาชนมาใช้บริการจะต้องสแกนคิวอาร์โค้ด ถือเป็นการเช็กอินและลงทะเบียนข้อมูลไปยังกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยระบบของแอปพลิเคชันดังกล่าว ประชาชนจะทราบปริมาณความหนาแน่นของผู้ใช้บริการในร้านค้านั้นๆ และสามารถตัดสินใจว่าจะใช้บริการหรือไปร้านอื่น และควรจะเช็กเอาต์เมื่อออกจากร้านทุกครั้ง โดยเมื่อเช็กอินแล้วข้อมูลจะถูกส่งไปที่กรมควบคุมโรค เพื่อสามารถติดตามตัวผู้ใช้บริการที่ไปร้านค้าที่เป็นพื้นที่เสี่ยง โดยจะมีข้อความส่งไปยังโทรศัพท์มือถือให้สามารถไปรับบริการตรวจฟรีได้ ซึ่งข้อมูลทุกอย่างเป็นความลับหมด ไม่มีความซับซ้อนยุ่งยากอะไรในการใช้งาน นอกจากนี้ ระบบจะกำหนดให้ประชาชนตรวจสอบผู้ประกอบการว่าปฏิบัติตามมาตรการ 5 ข้อของ ศบค.หรือไม่ และจะมีการให้คะแนนถือเป็นผลดีของผู้ประกอบการที่จะเรียกเรตติ้ง หากปฏิบัติตามทุกข้อ และยังถือเป็นความปลอดภัยของผู้ใช้บริการด้วย

นพ.พลวรรธน์กล่าวต่อว่า ทุกกิจการที่ ศบค.ประกาศผ่อนคลาย สามารถไปลงทะเบียนในเว็บไซต์ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นร้านขนาดใหญ่ ร้านดัง หรือร้านรถเข็นริมทาง เราไม่ได้เลือกขนาด แต่เลือกตามการผ่อนปรน แต่หากร้านไหนไม่ใช้วิธีนี้จะต้องมีสมุดจดและรับหน้าที่ลงทะเบียนให้แก่ประชาชนที่มาใช้บริการซึ่งวิธีนี้จะวุ่นวายและยุ่งยาก เพราะหากร้านนั้นกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงจะต้องตามเช็กข้อมูลผู้ใช้บริการกันทั้งวันและไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ แต่หากใช้วิธีสแกนคิวอาร์โค้ดจะสามารถจำกัดบุคคลกลุ่มเสี่ยงได้เป็นช่วงเวลาซึ่งจะลดความวุ่นวายลงได้


อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เป็นการละเมิดสิทธิ เพราะเป็นเรื่องการควบคุมโรค เรื่องของแพทย์ เหมือนตอนเราไปโรงพยาบาลเราต้องบอกข้อมูลกับแพทย์ และข้อมูลนั้นจะเก็บไว้ในกรมควบคุมโรค นำมาใช้ด้วยเหตุผลในการควบคุมโรคเท่านั้น จะใช้ในกิจกรรมอื่นไม่ได้ ซึ่งในวันที่ 15 พ.ค.จะเริ่มเปิดให้ผู้ประกอบการลงทะเบียน โดยในช่วงแรกคงติดขัดกันบ้างเป็นเรื่องปกติของการปรับตัว ถ้าเราช่วยกันประเทศไทยเราชนะแน่นอน




กำลังโหลดความคิดเห็น