รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์กำลังเริ่มต้นให้ประชาชนติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐแบบยุคดิจิทัล ด้วยการประกาศเลิกใช้สำเนาบัตรต่างๆในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ ในขณะที่เอกชนก็เริ่มขยายบริการด้วยการดึงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทนการใช้สำเนาเช่นกัน แต่ทว่า การยืนยันตัวตนของแต่ละการใช้บริการ ทุกภาคส่วนยังคงให้ประชาชนนำบัตรประชาชนตัวจริงมายืนยันอยู่ ทำให้เกิดช่องว่างของมิจฉาชีพในการปลอมแปลงบัตรหรือสวมรอยบัตรประชาชนของคนอื่นทั้งที่มีชีวิตและเสียชีวิตแล้วในการทำผิดเรื่องกฎหมาย
***พัฒนาการระบบยืนยันตัวตน
ปัญหาคลาสิคที่มักพบอยู่บ่อยครั้งคือ การรับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร โดยที่บัตรประชาชนไม่ใช่ของตนเอง และระบบเดิมไม่สามารถยืนยันตัวตนได้อย่างแม่นยำ จึงยังคงมักเห็นปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นระยะๆ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงเริ่มพัฒนาระบบการยืนยันตัวตนขึ้นตั้งแต่ปี 2557 กับระบบยืนยันตนเอง '2 แชะ' เพื่อให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือเข้ามายืนยันตนเองในระบบว่าเป็นเจ้าของเบอร์โทรศัพท์มือถือตัวจริง ในการกันมิจฉาชีพออกจากระบบ หากเกิดปัญหาจะได้รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ
จากนั้นก็เริ่มพัฒนาระบบการยืนยันตัวตนให้มีความปลอดภัยและมีข้อมูลเชิงลึกที่ไม่สามารถปลอมแปลงได้ ด้วยระบบแอปพลิเคชัน '3 ชั้น' ในปี 2560 เพื่อป้องกันการลักลอบนำบัตรประชาชนของเจ้าของไปลงทะเบียนในระบบโทรศัพท์มือถือ หากเจ้าของเบอร์พบว่าตนเองไม่ได้ลงทะเบียนในเบอร์ดังกล่าวก็สามารถล็อค เพื่อป้องกันการเปิดใช้เลขหมายใหม่โดยบุคคลอื่น และทำการปลดล็อคจากแอปพลิเคชันได้ด้วยตัวเอง
ต่อมาในปี 2561 กสทช.ได้เพิ่มฟังก์ชันการยืนยันตัวตนให้มีข้อมูลเชิงลึกขึ้นไปอีกกับ '2 แชะ อัตลักษณ์' เป็นการพัฒนาแอปพลิเคชันจาก '2 แชะ' โดยเพิ่มขั้นตอนการสแกนลายนิ้วมือ และการจดจำใบหน้า ควบคู่กับบัตรประชาชน
***จาก 2 แชะ สู่ แทนบัตร
ล่าสุด กสทช.ได้พัฒนาระบบการยืนยันตัวตนไปสู่ การใช้คิวอาร์โคด หรือ ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์มือถือ Mobile ID เรียกง่ายๆ ว่า 'แทนบัตร' โดยเริ่มนำร่องกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) รายแรกคือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS และ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ลงนามความร่วมมือกันไปเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2562 ในการพัฒนาระบบร่วมกัน และ เริ่มทำลองในกลุ่มตัวอย่าง 400 คนเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา
จนมั่นใจได้ว่าระบบมีความเสถียรและปลอดภัย จึงได้ขยายกลุ่มทดสอบบริการไปอีกเป็น 1,000 คน เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2563 ซึ่งต้องเป็นทั้งลูกค้าของAWNและธนาคารกรุงเทพ ทดลองกับบริการแรกคือ การเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารกับ 10 สาขาที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งหากผลทดสอบเป็นที่น่าพอใจ 'กึกก้อง รักเผ่าพันธุ์' รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า จะพิจารณาให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไปภายในไตรมาสสองปีนี้
***แทนบัตร ทำงานอย่างไร
'ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร' เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า 'แทนบัตร' จะต้องมีโอเปอเรเตอร์เป็นผู้รับลงทะเบียนข้อมูล ในการสร้างรหัสคิวอาร์โคดส่วนบุคคลขึ้นมา ซึ่งในคิวอาร์โคดนั้น จะมีหน้าตาไม่เหมือนกับคิวอาร์โคดทั่วไปที่สามารถสร้างขึ้นเองหรือปลอมแปลงได้ คิวอาร์โคดของ 'แทนบัตร' จะมีข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบไปด้วย ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และรหัสใบหน้า
ที่สำคัญคือ คิวอาร์โคดจะถูกกำหนดให้หมดอายุภายใน 4 นาที จากนั้นระบบจะทำให้ข้อมูลหรือหน้าตาของคิวอาร์โคดเปลี่ยนแปลงทุกครั้งที่ใช้งาน ทำให้การยืนยันตัวตนกับสถานที่ให้บริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร หรือหน่วยงานรัฐ จะปลอดภัยมากกว่าการใช้บัตรประชาชนตัวจริง
*** จับ 3 หน่วยงานรัฐขยายให้บริการ
เมื่อการทดสอบระบบในระยะแรกกับAWNและธนาคารกรุงเทพได้โมเดลในการขยายจำนวนผู้ใช้งานทดสอบแล้ว กสทช.จึงไม่รอช้าที่จะเดินหน้ากับ 3 หน่วยงานภาครัฐที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด นั่นคือ กรมการปกครอง กรมการขนส่ง และ สำนักงานประกันสังคม ด้วยการลงนามความร่วมมือกันเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ในการศึกษาและพัฒนาระบบร่วมกัน รวมถึงการหาบริการนำร่องที่จะทดลอง ทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างต่อไป ก่อนที่จะเปิดให้บริการกับประชาชนทั่วไปในอนาคต
'ฐากร ตัณฑสิทธิ์' เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า บริการที่ใกล้ชิดกับประชาชน นอกจากจะเป็นเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงินแล้ว การรักษาพยาบาล และ การทำธุรกรรมต่างๆกับกรมขนส่ง ก็เป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับประชาชน เช่นกัน ซึ่งการลงนามครั้งนี้ กรมการปกครองมีส่วนสำคัญในการเปิดศูนย์ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของประชาชนทั้งประเทศ ให้เชื่อมโยงร่วมกันกับบริการ 'แทนบัตร' นี้ในการอำนวยความสะดวกเรื่องการยืนยันตัวตนโดยไม่ต้องใช้บัตรประชาชน
ขณะที่ในภาคของสำนักงานประกันสังคม การใช้คิวอาร์โคดของ 'แทนบัตร' นี้ จะช่วยให้ประชาชนสะดวกในกรณีฉุกเฉินที่ต้องเข้าโรงพยาบาลแต่ลืมพกบัตรประชาชนมา ตลอดจนการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุให้สามารถยืนยันตัวตนได้ หากไม่พบบัตรประชาชน หรือ ช่วยแก้ปัญหาการปลอมแปลงบัตรประชาชนเพื่อเข้ารับสิทธิ์การรักษาแทนตัวจริงได้
ส่วนกรมขนส่ง ก็จะยิ่งเป็นการส่งเสริมนโยบายในการขอใบอนุญาตขับรถอิเล็กทรอนิกส์ได้ จากที่ผ่านมา กรมขนส่งเคยมีแนวคิดในการให้ประชาชนแสดงใบขับขี่แบบอิเล็กทรอนิกส์แทนใบขับขี่จริงได้ แต่มีเสียงคัดค้านเกรงว่าจะมีการปลอมแปลงหรือใช้รูปถ่ายของคนอื่นมาแสดงจึงทำให้นโยบายดังกล่าวไม่สำเร็จ แต่หากมีการพัฒนาระบบ 'แทนบัตร'ร่วมกัน จะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้น
***เอื้อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
ฐากร กล่าวต่ออีกว่า ตนเองกำลังมองเรื่องนี้ให้เป็นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบด้วย หลังจากที่รัฐบาลมีคำสั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คิดหาวิธีแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งตนเองได้มีโอกาสหารือกับ 'วิรไท สันติประภพ' ผู้ว่าการธปท.ถึงเรื่องนี้ จึงได้เสนอแนวคิดในการทำระบบ 'แทนบัตร' ในการช่วยแก้ปัญหากู้เงินนอกระบบ เนื่องจากผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนระบบ 'แทนบัตร' ย่อมมีข้อมูล และตัวตนจริง ตลอดจนมีความสามารถในการจ่ายค่าโทรศัพท์มือถือ
แต่สำหรับกลุ่มแม่ค้าที่ไม่ได้มีรายได้ประจำแบบพนักงานบริษัท แม้ว่าจะสามารถจ่ายค่าโทรศัพท์มือถือได้ มีรายได้มั่นคง แต่ไม่สามารถมีหลักฐานในการนำไปกู้เงินกับธนาคารได้ จึงเป็นที่มาของการกู้เงินนอกระบบ ในขณะที่ธนาคารเองก็ต้องการปล่อยสินเชื่อรายย่อยให้กับกลุ่มแม่ค้าอยู่แล้ว แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ตนเองจึงมองว่าการใช้ระบบ 'แทนบัตร' จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้
ดังนั้นในอนาคต กสทช.คาดหวังให้ทั้ง 5 โอเปอเรเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น AIS , บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) , บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ร่วมโครงการรวมถึงการขยายความร่วมมือในการให้บริการกับประชาชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน,ภาครัฐ และบริการต่างๆที่ต้องใช้บัตรประชาชนในการยืนยันตัว เพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว.