xs
xsm
sm
md
lg

กสทช. จับมือภาครัฐ ทดลองใช้ Mobile ID 'แทนบัตร'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช. เซ็นเอ็มโอยู กรมการปกครอง กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานประกันสังคมต่อยอดพัฒนาระบบ Mobile ID หรือ 'แทนบัตร' (บัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่) หลังเฟสแรก จับมือ เอไอเอส ธนาคารกรุงเทพ พัฒนาระบบเมื่อปี 2562 พร้อมเดินหน้าขยายกลุ่มทดสอบเป็น 1,000 ราย ใช้เปิดบัญชีแทนบัตรประชาชน คาดเปิดบริการทั่วไปไตรมาสสองปีนี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเตรียมการพัฒนาประเทศไปสู่ยุคสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในฝั่งการให้บริการโทรศัพท์มือถือเริ่มมีภาคการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง การดูแลความปลอดภัยส่วนบุคคลจึงมีความสำคัญมากขึ้น

ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. จึงได้พัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์มือถือ หรือที่เรียกในชื่อ Mobile ID หรือ 'แทนบัตร' โดยเริ่มทดสอบกับบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อเตรียมรองรับการทำธุรกรรมยุคดิจิทัลให้มีความสะดวก และปลอดภัย ซึ่งได้ลงนาม เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2562 และทดสอบกับกลุ่มทดลองไปแล้วเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2562 และขยายกลุ่มทดสอบเป็น 1,000 คน ในวันที่ 20 ม.ค. 2563

ดังนั้น ขณะนี้จึงมีความพร้อมที่จะขยายการให้บริการMobile ID ในระยะทดสอบไปยังหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมการปกครอง กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานประกันสังคม เพื่อร่วมกันพัฒนาการให้บริการกับประชาชนและส่งเสริมการใช้ดิจิทัลไอดีในอนาคต

'การร่วมมือกันระหว่าง 3 หน่วยงานภาครัฐที่จะพัฒนาใช้งานระบบ Mobile ID ในระยะทดสอบ จะเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ในการให้บริการกับประชาชน โดยประชาชนจะสามารถทำธุรกรรมกับหน่วยงานภาครัฐโดยใช้ Mobile ID แทนบัตรประชาชน และหน่วยงานภาครัฐสามารถนำระบบ Mobile ID ไปให้บริการประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น'

ด้านนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า รูปแบบการใช้งานระบบ Mobile ID ที่ถูกออกแบบขึ้นมานั้น ในเบื้องต้นจะสามารถใช้ได้กับผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ เครือข่าย AIS โดยในระยะทดสอบทดลองนี้จะมีการทดลองการลงทะเบียนสมัครใช้ที่ศูนย์บริการ จากนั้นจะมีการสร้างรหัสคิวอาร์โคดส่วนบุคคลซึ่งมีข้อมูล ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ และรหัสใบหน้า

รวมทั้งจะมีการทดสอบทดลองการใช้ Mobile ID ในการเข้าทำธุรกรรมที่ธนาคารกรุงเทพ โดยใช้ข้อมูลในคิวอาร์โคดเปรียบเทียบกับข้อมูลภาพใบหน้าจริงเพื่อยืนยันว่าเป็นบุคคลเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลประโยชน์โดยตรงในการพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลทั้งยังเป็นการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลของผู้ใช้บริการด้วย โดยจะมีการทดสอบทดลองภายในระหว่าง AIS และธนาคารกรุงเทพก่อนในช่วง Sandbox และจึงมีการประเมินผลก่อนเปิดให้บริการกับประชาชนต่อไป


นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า สำหรับการเข้าร่วมพัฒนาโครงการ Mobile ID ในครั้งนี้ จะใช้ประโยชน์สำหรับการพัฒนาการให้บริการประชาชนในด้านต่าง ๆ เช่น การออกใบอนุญาตขับรถ การดำเนินการทางทะเบียนรถบางประเภท และการทำธุรกรรมต่างๆ กับกรมการขนส่งทางบก ซึ่งต่อไปในอนาคตกรมการขนส่งทางบกจะพิจารณานำระบบ Mobile ID ที่จะดำเนินการนี้ ไปพัฒนาต่อยอดเพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนในการขอใบอนุญาตขับรถอิเล็กทรอนิกส์ (QR License) อย่างเต็มรูปแบบต่อไป รวมถึงการนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาในด้านอื่นๆ เช่น Blockchain เป็นต้น

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในโครงการ Mobile ID นี้ ถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการให้บริการด้านต่างๆ ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้าถึงสิทธิประกันสังคมให้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น ทุกที่ ทุกเวลา ตลอดจนสามารถลดเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ลงได้โดยเฉพาะบัตรประจำตัวประชาชน โดยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนนั้น จะสามารถยืนยันความเป็นเจ้าของสิทธิ์ที่แท้จริงได้ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการรับบริการต่างๆจากสำนักงานประกันสังคม

นายวีนัส สีสุข รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า กรมการปกครองถือเป็นศูนย์ข้อมูลทะเบียนราษฎรของประชาชนทั้งประเทศ การดำเนินงานร่วมกับสำนักงาน กสทช. ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกัน และการใช้ Mobile ID จะสามารถยืนยันตัวตนของประชาชนที่มาใช้บริการกับกรมการปกครองได้อย่างถูกต้อง ถือเป็นก้าวแรกในการเริ่มทำธุรกรรมโดยไม่ต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชน ทั้งยังจะสามารถให้บริการประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น

นายกึกก้อง รักเผ่าพันธุ์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นับเป็นโอกาสดีที่ธนาคารกรุงเทพได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบดังกล่าวร่วมกับภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมตั้งแต่เริ่มโครงการ เพื่อความปลอดภัยในการให้บริการทางการเงิน มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ธนาคารจะต้องยืนยันตัวบุคคลของลูกค้าได้อย่างถูกต้องก่อนทำธุรกรรม ในขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มความมั่นใจและความน่าเชื่อถือให้กับสถาบันการเงินในการให้บริการได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

'ธนาคารกรุงเทพให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และความถูกต้องของข้อมูลลูกค้าผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าบุคคล หรือลูกค้าผู้ประกอบการภาคธุรกิจต่างๆ ซึ่งโครงการ Mobile ID นี้ อยู่ภายใต้ความร่วมมือในการพัฒนาระบบร่วมกับสำนักงาน กสทช. และเอไอเอส ที่จะตอบโจทย์ความต้องการของธนาคารกรุงเทพในเรื่องดังกล่าว โดยในระยะแรกธนาคารจะเริ่มทดลองระบบ Mobile ID ในส่วนหนึ่งของขั้นตอนการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร โดยมีสาขาที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 10 สาขา หากผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ ธนาคารจะพิจารณาในการให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไป ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563'





กำลังโหลดความคิดเห็น