xs
xsm
sm
md
lg

มท.ดิ้นหลัง “ครูแดง-ดร.พันธุ์ทิพย์” ตามบี้แก้ปมผู้เฒ่าไร้สัญชาติเชียงราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - มหาดไทยดิ้นแจงผ่านเพจ PR ปมสัญชาติผู้เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์บนดอยเชียงราย ยันได้เลข 13 หลักแล้ว แต่ขาดคุณสมบัติบางข้อ คาดไม่นานได้บัตร ปชช.แน่ ขณะที่นักวิชาการชี้ขั้นตอนตรวจสอบไม่สอดคล้องวิถีชีวิต


หลังนางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือครูแดง คณะกรรมการจัดตั้ง พชภ.และที่ปรึกษา ร่วมกับ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสนุทร ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสถานะบุคคล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางเพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการ พชภ.ลงพื้นที่สำรวจประชากรผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านกิ่วสะไตและบ้านเฮโก หมู่ 19 ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย และบ้านป่าคาสุขใจ หมู่ 5 ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย พบมีผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยหรือเป็นผู้เฒ่าไร้รัฐอยู่เป็นจำนวนมากนั้น

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกระทรวงมหาดไทย (เพจกระทรวงมหาดไทย PR) ได้เผยแพร่ข้อมูลกรณีกลุ่มผู้สูงอายุไร้สัญชาติเรียกร้องการมีสัญชาติไทย ว่าตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวผู้สูงอายุกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าและชนเผ่าอื่นในพื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวง อาศัยอยู่ในประเทศไทยมากว่า 50 ปี และได้ยื่นเอกสารขอแปลงสัญชาติ แต่ยังไม่ได้รับการแปลงสัญชาตินั้น ผู้สูงอายุดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ได้รับการจัดทำทะเบียนราษฎรและมีเลขประจำตัว 13 หลักแล้ว แต่ยังขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่เคยกำหนดไว้ โดยขณะนี้กรมการปกครองกำลังดำเนินการแก้ไขหลักเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคอยู่ซึ่งจะใช้เวลาไม่นานก็จะสามารถดำเนินการให้สัญชาติได้

ด้านนางเตือนใจเปิดเผยว่า จากการทำงานในพื้นที่พบกรณีศึกษาว่ามีผู้เฒ่าไร้สัญชาติจำนวน 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่เป็นกรณีตัวอย่างความสำเร็จ จากความร่วมมือของทุกฝ่าย โดย พชภ.เป็นผู้ประสานงานจนทำให้ผู้เฒ่าบางส่วนได้บัตรประจำตัวประชาชนตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียบราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. 2543 (ระเบียบ 43) รวม 15 คน อายุ 65-97 ปี ซึ่งทำให้สามารถเข้าถึงสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเดินทางไปเยี่ยมลูกหลานนอกพื้นที่ตามที่ใฝ่ฝันไว้นานได้แล้ว ปัจจุบันทุกคนมีความสุขกับการได้รับสิทธิในฐานะพลเมืองไทยอย่างสมบูรณ์

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มผู้เฒ่าที่เกิดในไทยแต่หน่วยงานรัฐ 2 แห่งบันทึกข้อมูลที่ขัดกัน หน่วยงานที่สำรวจก่อนเมื่อปี 2530 บันทึกว่าเกิดในประเทศไทย ต่อมาหน่วยงานที่บันทึกในปี 2534 ระบุว่าเกิดในเมียนมาและมีการขอแก้รายการสถานที่เกิดทำให้ยังมีปัญหาเรื่องพยานหลักฐานที่จะใช้ยืนยันให้สำนักทะเบียนอำเภอยอมรับและเชื่อถือได้

และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มผู้เฒ่าที่เข้ามาอยู่ไทยนาน 30-50 ปี จนกลมกลืนกับสังคมไทย มีลูกหลานที่ได้สัญชาติไทยแล้ว ผู้เฒ่ากลุ่มนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการการแปลงสัญชาติ ซึ่งมีเกณฑ์ขั้นตอนที่ไม่สอดคล้องกับสภาพชีวิตและสังคม ได้แก่ การตรวจสอบประวัติที่เกี่ยวกับอาชญากรรม ยาเสพติด ความมั่นคงของรัฐ ต้องมีหลักฐานการเสียภาษีต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ไม่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีเพราะพ้นวัยแรงงานแล้ว ต้องสอบความรู้ภาษาไทย ฯลฯ

รวมทั้งต้องผ่านขั้นตอนจากผู้ใหญ่บ้าน ถึงอำเภอ จังหวัด กรมการปกครอง ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบ แล้วทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย ซึ่งขั้นตอนที่ซับซ้อนเหล่านี้ทำให้แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้เสร็จภายในช่วงอายุของผู้เฒ่าเหล่านี้ได้เลย ทั้งๆ ที่รัฐบาลได้ประกาศเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติแล้ว


ด้าน ดร.พันธุ์ทิพย์กล่าวว่า ยังไม่เคยเห็นกระทรวงมหาดไทยประกาศคำมั่นกับภาคประชาชนแบบนี้ ซึ่งตนอยากเห็นท่าทีที่ชัดเจนแบบไม่ต้องรอจดหมายร้องเรียนเช่นนี้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนเปราะบาง มีการแสดงถ้อยความ แนวคิดว่ามีปัญหาที่หลักเกณฑ์ และแจ้งต่อว่าจะต้องทำอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ต่อไป แล้วให้ความหวังว่าจะแก้ปัญหานี้ในเวลาไม่ช้าอีกด้วย ซึ่งโดยส่วนมากแล้วหนังสือราชการจะไม่บอกในลักษณะนี้มาก่อนด้วย

ทั้งนี้ การแปลงสัญชาติก็มีหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ที่ผ่านมาปัญหาอยู่ที่การตีความกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งหลายกรณีเสี่ยงต่อการนำไปสู่การทุจริตคอรัปชั่น โดยข้อมูลจากงานวิจัยชี้ว่ายังมีผู้ที่ตกหล่นตั้งแต่อดีต จึงควรจะมาศึกษาเรื่องกฎระเบียบต่างๆ และมีการยกเลิกหนังสือสั่งการที่คลุมเครือและผิดพลาดด้วย

กรณีการแปลงสัญชาติของผู้เฒ่าในบ้านป่าคาสุขใจ อ.แม่ฟ้าหลวง เป็นกลุ่มชาวบ้านที่เป็นแกนนำหลักในการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ ในพื้นที่ต้นน้ำแม่จันแม่สลอง สามารถใช้มาตรา 11 (1) ซึ่งมีงานวิจัยรองรับว่าชาวเขากลุ่มนี้ได้สร้างประโยชน์แก่ประเทศไทย


นอกจากนี้ สิ่งที่ชัดและควรแก้เลย คือ การตรวจประวัติอาชญากรรมซ้ำซ้อน ควรใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรทำภายในระยะเวลา 90 วันอยู่แล้ว ส่วนเรื่องคุณสมบัติการประกอบอาชีพเป็นหลักฐานก็ไม่ควรเรียกร้องใบอนุญาตทำงานจากชาวเขาเพราะหน่วยงานราชการไม่เคยออกให้ ในกรณีนี้ควรให้กระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงแรงงาน ลงมารับรองการประกอบอาชีพสุจริต ไม่ควรให้ชาวบ้านไปยื่นทำเรื่อง เพราะชาวบ้านทำการเกษตร เช่น ชา กาแฟ ฯลฯ การประกอบธุรกิจไม่เกิน 2 ล้านบาท ก็เป็นหน้าที่ของแรงงานจังหวัดที่ต้องลงมารับรอง

สำหรับคุณสมบัติการอาศัยอยู่เกิน 5 ปี ที่มีหนังสือสั่งการว่าให้ถือใบต่างด้าวก่อนถือเป็นเรื่องผิด เพราะสามารถใช้การพิจารณาจากทะเบียนบ้านหรือ ทร.13 หรือ 14 เป็นหลักฐานได้แต่ปัจจุบันใช้อ้างอิงจากหนังสือสั่งการที่มีมานานแล้ว

ขณะที่คุณสมบัติข้อสุดท้ายคือการรู้ภาษาไทยนั้น ตนเห็นว่าเราต้องรู้ว่ามาตรฐานภาษาไทยของคนชาติพันธุ์นั้นต่างกัน โดยภาษาชาวเขา 9 เผ่าก็เป็นภาษาถิ่นไทยไม่ต้องเป็นภาษาไทยกลางก็ได้ และเป็นนโยบายแห่งชาติเรื่องภาษาไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on Elimination of All Forms of Racial Discrimination หรือย่อว่า CERD) ปี 2508 ดังนั้น การทดสอบภาษาไทยของชาวเขาจึงไม่ควรเอามาตรฐานของภาษาไทยภาคกลางมาใช้
กำลังโหลดความคิดเห็น