“วิษณุ” แนะยื่นตีความให้หายสงสัยทุกประเด็นจะได้จบทีเดียว ชี้หากมีการยื่นตีความกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไปอีกฉบับก็ไม่น่าจะใช้เวลานานถึง 3 เดือน ถือว่าอยู่ในกรอบเวลา
วันนี้ (19 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีหากต้องยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.อีกฉบับจะใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ว่า ถ้ามีการยื่นให้ตีความอีกฉบับจะต้องใช้เวลามากขึ้นกว่าเดิม แต่ไม่นานเท่าไหร่ เพราะเป็นข้อกฎหมาย ไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องสืบพยาน ถ้าสืบพยานจะต้องมีการนัดแต่ละฝ่าย แต่ถ้าเรื่องข้อกฎหมาย ไม่ต้องสืบพยาน มีแต่นัดมาแถลง มันจึงทำได้เร็ว อย่างไรก็ตาม การยื่นประเด็นเดียวจะใช้เวลาน้อยถ้ายื่น 2-3 ประเด็นจะใช้เวลามากขึ้น แต่รวมแล้วไม่คิดว่าจะยาวนานเท่าไหร่
เมื่อถามถึงกรณีนายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอให้นักการเมืองมาลงสัตยาบันขยายเวลาการเลือกตั้งออกไปอีก 3 เดือน หากจะให้ยื่นตีความ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไปอีกฉบับนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ไม่น่าจะนานขนาดนั้น และตนไม่รู้ว่าสัตยาบันที่นายสมชายเสนอคืออะไร ไม่มีความเห็น
เมื่อถามว่า ถ้ายื่นให้ตีความทั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ระยะเวลาในการตีความจะไม่ต่างจากการยื่นเพียงฉบับเดียวใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมี 9 คน สามารถแบ่งงานกันได้ เป็นเรื่องข้อกฎหมาย สามารถปิดประตูกันนั่งคิด เมื่อถึงเวลานัดมาประชุมกันแล้ววินิจฉัยถือว่าจบ ทำเหมือนตอนตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. ดังนั้น ยื่นให้เสร็จแล้วกัน อย่าไปหลายขยัก
เมื่อถามว่า นายกฯ ระบุว่านอกจากในเดือน มิ.ย.จะมีการประกาศวันเลือกตั้ง จะมีการเชิญพรรคการเมืองมาพูดเรื่องนโยบาย และแผนในการบริหารประเทศ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าภาพประชุม เมื่อพบกันแล้วอาจจะมีการหารือเรื่องอื่นด้วย แต่ตนไม่รู้ว่าใครจะทำอะไร และจะคุยอะไรกันบ้าง
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงกรณีปรากฏถ้อยคำว่า “ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่” ในหนังสือราชการของจังหวัดขอนแก่น ที่ลงนามโดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ว่าตอบไม่ถูก เพราะยังไม่เห็นหนังสือ เห็นแต่ข่าว และพยายามจะดูว่าเขียนว่าอย่างไร อยากได้ตัวหนังสือนั้นมาดูเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม หนังสือนั้นจะเชิญใครก็แล้วแต่ แต่การตั้งหัวข้ออย่างนั้นถือว่าประหลาด การทำหนังสือราชการต้องใช้ความระมัดระวัง ควรใช้คำที่เป็นทางการ
เมื่อถามถึงกรณีอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) อธิบายว่ามาจากคำว่า “โง่ จน เจ็บ” แสดงว่าข้าราชการยังมองประชาชนในชนบทว่ามีปัญหาในเรื่องแบบนี้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตอบไม่ถูก ควรให้คนที่เขียนออกมาพูดก่อนแล้วคนอื่นค่อยวิจารณ์