xs
xsm
sm
md
lg

พบผู้เฒ่าไร้รัฐบนดอยสูงยังไม่ได้บัตรปชช.อื้อ-นักวิชาการขู่ใช้ไม้แข็งฟ้องจนท. รัฐเมินปัญหา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.)พร้อมนักวิชาการเดินทางเข้าสำรวจประชากรในพื้นที่ดอยสูงพบปัญหาผู้เฒ่าหลายรายยังไม่ได้รับการแปลงสัญชาติและบัตรประชาชนยังไม่ได้รับแม้จะเกิดในผืนแผ่นดินไทย พร้อมพบปัญหาหยุมหยิมจากหน่วยงานรัฐเพียบ



ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างวันที่ 10-11 ม.ค.นี้ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดให้มีโครงการพัฒนาสุขภาวะผู้เฒ่าไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ในพื้นที่พรมแดนไทย-เมียนมา และไทย-ลาว โดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือครูแดง คณะกรรมการจัดตั้ง พชภ.และที่ปรึกษา พชภ.ร่วมกับ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสนุทร นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ทำงานด้านสิทธิบุคคล นางเพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการ พชภ.และคณะได้เดินทางไปสำรวจและพบปะกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดำเนินโครงการของ พชภ.เขตบ้านบริวารของหมู่บ้านสันติสุข หมู่ 19 ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย คือบ้านกิ่วสะไตและบ้านเฮโก และหมู่บ้านป่าคาสุขใจ หมู่ 5 ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เพื่อพบปะและช่วยเหลือผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยโดยเป็นผู้เฒ่าไร้รัฐ


โดยจากการสำรวจที่หมู่บ้านป่าคาสุขใจพบว่ามีผู้เฒ่าไร้รัฐมากถึง 126 คน โดยเป็นผู้ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากรัฐฉาน ประเทศเมียนมา เมื่อกว่า 43 ปีก่อนปัจจุบันคนรุ่นลูกหลานได้สัญชาติไทยไปหมดแล้วเหลือแต่คนรุ่นปู่ย่าตายายดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมา พชภ.ได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานขอแปลงสัญชาติเป็นคนไทยไปยังฝ่ายปกครอง อ.แม่จัน แต่เรื่องก็ยืดเยื้อมานานหลายสิบปีดังกล่าว

ส่วนที่หมู่บ้านเฮโกซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของชาวลีซอพบผู้เฒ่าหลายคนที่มีหลักฐานและพยานบ่งชี้ว่าเกิดและอาศัยอยู่ในประเทศไทยแต่บางราย เช่น นายอาเหล่ งัวยา อายุ 81 ปีผู้ประกอบพิธีกรรมของหมู่บ้านที่มีหลักฐานของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาว่าอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่อดีตแต่ต่อมาทางฝ่ายปกครองระบุว่าเป็นชาวสัญชาติเมียนมา ขณะที่ผู้เฒ่าอายุ 65 ปีขึ้นไปที่หมู่บ้านกิ่วสะไตจำนวน 16 คน ได้รับการช่วยเหลือจาก พชภ.เมื่อปี 2561 ในการรวบรวมหลักฐานเดียวกันไปยื่นต่อที่ว่าการ อ.แม่จัน โดยใช้เวลา 7 เดือนจึงได้รับสัญชาติไทยและบัตรประจำตัวประชาชน


นางเตือนใจ กล่าวว่าตนได้เข้าทำงานในพื้นที่ขุนเขาเหล่านี้เมื่อครั้นยังเป็นนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี 2517 และเข้าไปทำงานที่หมู่บ้านป่าคาสุขใจเป็นแห่งแรกก็ได้พบว่าผู้คนเหล่านี้อาศัยอยู่ในพื้นที่มานานแล้ว แต่ด้วยสภาพพื้นที่ วัย ฯลฯ ทำให้ตกสำรวจและการรวบรวมเอกสารหลักฐานก็ผ่านกระบวนการซับซ้อนเกินความสามารถของผู้เฒ่า เอกสารบางอย่างเช่นกรณีที่หมู่บ้านเฮโกก็ขัดแย้งกันจึงต้องพิสูจน์ทราบกันใหม่

ดังนั้นตนจึงเห็นว่าควรจะจัดขั้นตอนวิธีการให้เหมาะสม หรือแม้แต่หลักเกณฑ์แปลงสัญชาติตาม พรบ.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปแต่ก็มากเกินไปควรแก้ไขปรับลดให้เหลือ 60 ปี ลักษณะเหมือนกรณีกฎหมายให้เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยจะได้รับสัญชาติไทยซึ่งก็ควรให้ผู้เฒ่าที่ยังไร้รัฐที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปได้รับโอกาสนี้ด้วย เพราะผลจากการไม่มีบัตรทำให้ไม่ได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองไทยทั้งการรักษาพยาบาล เบี้ยยังชีพ การเดินทาง ฯลฯ

นางหมี่จร เบกากู่ อายุ 88 ปีชาวบ้านเลขที่ 164 บ้านกิ่วสะไต กล่าวว่าตนเกิดที่บ้านหัวแม่คำ ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง และย้ายมาอยู่ที่บ้านกิ่วสะไตกระทั่งปัจจุบันอายุมากแล้วพึ่งได้รับบัตรประจำตัวประชาชน ที่ผ่านมาจึงใช้ชีวิตอย่างยากลำบากโดยเมื่อเจ็บป่วยก็ต้องใช้เงินสดไปรักษาดังนั้นเมื่อได้รับแล้วก็ภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยอย่างมาก

แต่นายอาเหล่ กล่าวว่าตนเกิดที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และย้ายมาอยู่ที่บ้านเฮโกกระทั่งเป็นคนประกอบพิธีประจำหมู่บ้านโดยได้รับการยกย่องจากชาวบ้านจำนวนมาก แต่ปรากฎว่าตัวเองกลับไม่ได้รับสัญชาติไทยและถูกระบุว่าเป็นชาวเมียนมา ทำให้ไม่ได้รับสิทธิเหมือนคนไทยทั่วไปขณะที่ผู้นำทางจิตวิญญานของหมู่บ้านอื่นต่างขออนุมัติงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มาจัดกิจกรรมด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมในหมู่บ้านตนเองได้แต่ตนทำไม่ได้จึงรู้สึกน้อยใจอย่างมาก


ขณะที่ครอบครัวของนางอาบา เชอมือกู่ อายุ 61 ปีชาวบ้านเลขที่ 464 หมู่บ้านกิ่วสะไต พบว่าปัจจุบันนางอาบาถือบัตรชุมชนพื้นที่สูง (ชาวเขา 9 เผ่า) โดยไม่มีสัญชาติไทย ขณะที่คนอื่นๆ ในครอบครัวพึ่งได้รับ เช่น นางหมี่กา เชอมือกู่ อายุ 42 ปีลูกสะใภ้ก็พึ่งได้รับเมื่อ 4-5 ปีก่อนมานี้เอง นอกจากนี้พบว่าในหมู่บ้านเดียวกันพบว่าบางรายได้รับบัตรประจำตัวประชาชนแล้วแต่ไม่ระบุวันที่และเดือนเกิดทำให้นำไปประกอบการทำเอกสารอื่นๆ เช่น หนังสือเดินทางระหว่างประเทศหรือพาสปอร์ตไม่ได้ เมื่อไปขอเพิ่มเติมก็ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่าทำไม่ได้อีกด้วย ฯลฯ

นายอาฮือ หว่อปอกู่ อายุ 67 ปีชาวบ้านป่าคาสุขใจ กล่าวว่าตนรอมานานกว่า 43 ปีแล้วที่จะได้สัญชาติไทยโดยที่ผ่านมาลูกๆ หลานๆ ต่างก็ได้รับกันหมดแล้ว

ด้าน ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าวว่าการขอแปลงสัญชาติสามารถทำได้แบบทั่วไป แบบผู้ที่ทำคุณประโยชน์ และแบบให้ผู้ด้อยโอกาส ซึ่งกรณีชาวบ้านที่หมู่บ้านป่าคาสุขใจนั้นถือเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทยในการร่วมกันอนุรักษ์ผืนป่าเอาไว้เป็นที่ประจักษ์ และสามารถขอได้ทั้งแบบทั่วไปและแบบผู้ทำคุณประโยชน์ซึ่งเข้าเงื่อนไข 5 ข้อคือมีอายุ 20 ปีขึ้นไป มีความประพฤติดี มีอาชีพเป็นหลักฐาน มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และพูดฟังภาษาไทยได้ ซึ่งพบว่าแต่ละรายมีคุณสมบัตินี้แต่ติดขัดปัญหาบางประการ เช่น กรณีอาชีพนั้นทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้ออกให้ทั้งๆ ที่เขาก็ทำอาชีพเกษตรกรรม เช่น ปลูกชา กาแฟ ฯลฯ มาตั้งแต่อดีต แต่ละคนต่างเป็นผู้เฒ่าจึงไม่ต้องพูดถึงอายุจะเข้าเกณฑ์หรือไม่ และไม่มีประวัติอาชญากรรมซึ่งตรวจสอบกันได้อยู่แล้ว ขณะที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านมานานมากกว่า 40 ปีแล้วด้วย

ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าวอีกว่าดังนั้นต่อไปจะมีการช่วยกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ให้ และสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีเอกสารขาดไปโดยเฉพาะหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ จากนั้นจะยื่นต่อกรมการปกครองเพื่อขอให้ดำเนินการเพราะปัญหาที่ทำให้เรื่องยืดเยื้อจากการยื่นเรื่องที่ผ่านมาคือเจ้าหน้าที่ไม่ออกใบรับคำร้องให้เรื่องจึงถูกค้างเอาไว้นานโดยไม่มีกำหนดหลายสิบปี ทั้งนี้จะพยายามให้เจ้าหน้าที่ได้ออกใบรับคำร้องกฎหมายเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบตามกระบวนการซึ่งกฎหมายระบุว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน หากว่าพ้นเวลาดังกล่าวไปแล้วเจ้าหน้าที่ยังไม่ดำเนินการให้ก็จะมีการฟ้องร้องเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างต่อไป

นักวิชาการคนเดียวกันนี้ กล่าวด้วยว่าส่วนกรณีชาวบ้านที่หมู่บ้านเฮโกนั้นพบว่าเอกสารที่ใช้สำรวจบุคคลยังไม่แจ้งที่มาที่ไปชัดเจนและข้อมูลขัดแย้งกันระหว่างหน่วยงานด้วย จึงจะรวบรวมข้อมูลหลักฐานเพื่อยื่นเสนอไปอีกครั้ง ขณะที่กรณีชาวบ้านบางรายที่บัตรประจำตัวประชาชนที่พึ่งได้รับกลับไม่มีวันที่และเดือนเกิดจนทำให้มีปัญหานั้นตามกฎหมายสามารถไปขอเพิ่มเติมได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ และการที่เจ้าหน้าที่ระบุว่าทำไม่ได้นั้นเห็นว่าไม่มีข้อกฎหมายใดมาอ้างอิงได้เลยจึงเป็นเรื่องที่จะต้องรีบปรับปรุงแก้ไขทั้งด้านความรู้ด้านกฎหมายเพราะไม่เช่นนั้นก็จะไปแจ้งกับชาวบ้านแบบผิดๆ ได้เช่นกัน ทั้งนี้ตนเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นคนดีและปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ดังนั้นจะขับเคลื่อนโดยร่วมกับ พชภ.ในการแก้ไขปัญหานี้ต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น