xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ตัดจีเอสพีไทย วาระซ่อนเร้นของใคร

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


การประกาศตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าส่งออกจากไทย 571 รายการ มูลค่าร่วม 4 หมื่นล้านบาทของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม เกิดขึ้นเพียง 3 วัน หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายของไทย มีมติยกเลิกการใช้สารพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต

สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ส่งหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แสดง “ความเป็นห่วง” ต่อมติดังกล่าว ว่า จะทำให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการนำเข้าถั่วเหลือง –ข้าวสาลีจากสหรัฐฯ

ทั้งสองเรื่องจึงถูกผูกโยงเป็นเรื่องเดียวกันว่า สหรัฐฯ ตัดสิทธิจีเอสพีเป็นการตอบโต้ที่ไทยแบน 3 สารพิษ

ความจริงแล้ว ไม่เกี่ยวกันเลย กระบวนการพิจารณาถอนจีเอสพีนั้น ไม่ใช่ม. 44 ของ คสช.ที่งัดขึ้นมาใช้ได้ในทันที แต่มีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลายาวนานเป็นปี ไม่ใช่พอไทยแบนสารพิษ สหรัฐฯ ถอนจีเอสพีตอบโต้ทันที

ที่สำคัญ สหรัฐฯ ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะไม่ใช่ผู้ส่งออกสารเคมีทั้ง 3 ชนิดมาไทย อาจได้รับผลทางอ้อมจากการที่ถั่วเหลือง และข้าวสาลีจากสหรัฐฯ ซึ่งใช้สารไกลโฟเซต จะถูกห้ามนำเข้าตามกฎขององค์การการค้าโลก ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ห่างไกล และยังไม่ชัดเจน

เหตุผลที่เพิกถอนจีเอสพีสินค้าส่งออกหลายชนิดจากไทย ก็คือ “ทางการไทย ไม่สามารถยกระดับสิทธิแรงงานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล”

มาตรฐานแรงงานที่ว่านี้ ก็คือ ประเทศไทยยังไม่ได้รับรองและให้สัตยาบัน อนุสัญญาฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

อนุสัญญาทั้งสองฉบับได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานในการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ

อนุสัญญาฉบับที่ 87 เป็นเรื่องเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน อนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวกันและการร่วมเจรจาต่อรอง

มาตรา 2 ของอนุสัญญาฉบับที่ 87 ให้การรับรองสิทธิของลูกจ้างในการจัดตั้งองค์กรทางด้านแรงงานโดยปราศจากความแตกต่างใดๆ ซึ่งหลักการปราศจากความแตกต่างนี้ หมายความถึงความแตกต่างทางด้านอาชีพหรืองานที่ทำ และความแตกต่างทางด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ สัญชาติ เพศ ความคิดเห็นทางการเมือง โดยลูกจ้างทุกคนมีสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงานและเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ตนเลือก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ของไทยไม่ห้ามการจัดตั้งสหภาพแรงงาน แต่กำหนดคุณสมบัติของกรรมการสหภาพ และสมาชิกสหภาพข้อหนึ่งว่า ต้องมีสัญชาติไทย

หากประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับ ก็จะต้องแก้ไขกฎหมายแรงงาน ยกเลิกคุณสมบัติเรื่องสัญชาติไทยของกรรมการ และสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งจะทำให้ แรงงานต่างด้าวตั้งสหภาพ และเป็นสมาชิกสหภาพได้

นี่คือ ประเด็นสำคัญที่สุดที่ทำให้ไทยไม่ให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับ ในขณะที่กลุ่มนักเคลื่อนไหว และนักวิชาการด้านแรงงาน พยายามผลักดันเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 30 ปี ภายหลังการหายตัวอย่างลึกลับของนายทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงาน เมื่อพ.ศ. 2534 ในยุค รสช.วันแรงงาน 1 พฤษภาคมทุกปี เรื่องการรับรองและให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 จะเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องขององค์กรจัดตั้งของผู้ใช้แรงงานเสมอ โดยที่ประชาชนทั่วไปน้อยคนนักที่จะรู้ว่า อนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 คืออะไร

ในอดีต แรงงานต่างด้าวมีเฉพาะในกิจการประมง แต่ปัจจุบันขยายตัวไปแทบทุกสาขาธุรกิจ การให้สัตยาบันอนุสัญญา 87 และ 98 อาจจะนำไปสู่การตั้งสหภาพแรงงานพม่าแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานพม่าในกิจการปั๊มน้ำมัน สหภาพแรงงานย้ายถิ่นในธุรกิจร้านอาหาร ฯลฯ

การมีสหภาพแรงงานต่างด้าว จึงเป็นเรื่องน่ากลัวทั้งต่อนายจ้าง และต่อประเทศไทยในมิติของความมั่นคง และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไทยยังไม่รับรองให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับนี้ ในอาเซียนมีเพียงเมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และกัมพูชา เท่านั้นที่ให้การรับรอง

สหรัฐอเมริกาซึ่งยกเลิกจีเอสพีประเทศไทยโดยอ้างว่า ไทยไม่สามารถยกระดับสิทธิแรงงานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ก็ไม่รับรองและให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับเช่นกัน

สมาพันธ์สหภาพแรงงานสหรัฐอเมริกา หรือ AFL-CIO American Federation of Labor and Congress of Industrial Organization เป็นผู้ผลักดันอนุสัญญาทั้งสองฉบับ ในยุคสงครามเย็น เพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ของขบวนการแรงงานที่มีจุดยืนประชาธิปไตย ในกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต

AFL-CIO มีอิทธิพลสูงมากในสหรัฐฯ ทั้งต่อฝ่ายบริหาร และรัฐสภา ไม่ว่าจะมาจากพรรคใด การที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศยกเลิกจีเอสพีสินค้าส่งออกจากไทย ก็น่าจะเป็นไปตามความต้องการแรงกดดันของ AFL-CIO

ส่วน AFL-CIO จะได้รับการร้องขอให้หนุนช่วยจากองค์กรแรงงาน กลุ่มสารพัดสิทธิในไทย กลุ่มไหนให้จับตาดูว่า กลุ่มไหนใครออกมาขานรับเห็นดีเห็นงามกับการยกเลิกจีเอสพีในครั้งนี้

เบื้องหลังเรื่องสิทธิแรงงานต่างด้าว อาจจะมีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองในประเทศอยู่ก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น