“พาณิชย์” สยบความสับสน เผยสหรัฐฯ ตัดจีเอสพีไทย 1 ใน 3 ของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิทั้งหมดกว่า 3,500 รายการจากปัญหาแรงงาน ไม่ใช่จากสาเหตุแบน 3 สารเคมี ส่งผลให้ต้องเสียภาษีนำเข้าอัตราปกติเฉลี่ย 4-5% จากเดิมไม่เสีย ชี้กระทบส่งออกไทยแน่แต่ไม่มาก เตรียมทำหนังสือโต้แย้ง และหารือในเวทีประชุมร่วมกับสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 63
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ถึงกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทย ซึ่งจะมีผลในอีก 6 เดือนว่า การประกาศดังกล่าวเป็นการพิจารณาทบทวนการให้สิทธิเป็นรายประเทศ เกิดขึ้นหลังจากที่สหภาพแรงงานสัมพันธ์ของสหรัฐฯ ร้องเรียนให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) พิจารณาตัดสิทธิไทยเพราะไม่มีการคุ้มครองแรงงานที่มากพอ รวมถึงสมาพันธ์ผู้เลี้ยงสุกรแห่งสหรัฐฯ ได้ร้องเรียนให้ยูเอสทีอาร์ตัดสิทธิไทยเพราะจำกัดการเข้าสู่ตลาดของสินค้าจากสหรัฐฯ และภายหลังการพิจารณาตามการร้องเรียนแล้วยูเอสทีอาร์ได้ตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทยโดยพิจารณาจากเรื่องแรงงานเป็นหลัก และไม่เกี่ยวกับกรณีที่ไทยห้ามการใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมายูเอสทีอาร์ได้หารือกับกระทรวงพาณิชย์มาอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้ไทยแก้ไขกฎหมายแรงงานตามที่สหรัฐฯ เรียกร้องในหลายประเด็น เช่น ให้สิทธิแรงงานต่างด้าวสามารถตั้งสหภาพแรงงานในไทยได้, ให้แรงงานต่างด้าวในไทย เมื่อฟ้องร้องนายจ้างแล้วนายจ้างจะไม่สามารถฟ้องร้องกลับได้, ให้แรงงานมีสิทธิเรียกร้อง แสดงความเห็นในที่สาธารณะ เป็นต้น ซึ่งไทยได้ชี้แจงว่าอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พร้อมย้ำว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวในสหรัฐฯ เองยังไม่สามารถดำเนินการได้
ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐฯ ขณะนี้คณะทำงานของทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ว่าการบริโภคหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงจะมีผลต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคอย่างไร ถ้าพบว่าป็นอันตรายจริงไทยอาจพิจารณาไม่ให้นำเข้า ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้สหรัฐฯ นำมาเป็นข้ออ้างตัดจีเอสพีสินค้าไทยเพิ่มได้อีกในอนาคต
สำหรับการตัดสิทธิจีเอสพีดังกล่าว สหรัฐฯ ไม่ได้ตัดสิทธิสินค้าจากไทยที่สหรัฐฯ ให้สิทธิส่งออกภายใต้จีเอสพีทั้งหมด แต่จะตัดสิทธิเพียง 1 ใน 3 หรือในกว่า 3,500 รายการที่ไทยได้รับสิทธิจีเอสพี ซึ่งในปี 2561 ไทยใช้สิทธิส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐ จากมูลค่าที่ได้รับสิทธิส่งออกทั้งหมด 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นการใช้สิทธิ 66% ส่งผลให้สินค้าไทยในกลุ่มที่ถูกตัดสิทธิต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติที่เฉลี่ย 4-5% จากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าเลย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ บ้างแต่ไม่มากนัก และไม่น่าจะทำให้การส่งออกของไทยในภาพรวมลดลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมการค้าต่างประเทศได้หารือกับผู้ส่งออกไทยที่ใช้สิทธิส่งออกไปสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เตรียมพร้อมรับมือการถูกตัดสิทธิ และมีกำหนดจะแถลงข่าวรายละเอียดของการตัดสิทธิ และผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิจีเอสพีในวันที่ 28 ต.ค. 2562 ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์จะทำหนังสือโต้แย้งสหรัฐฯ และหารือกับสหรัฐฯ ในคณะกรรมการด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-สหรัฐฯ (ทิฟา) ที่มีการประชุมร่วมกันทุกปี และกำหนดจะประชุมครั้งต่อไปเดือน เม.ย. 2563