ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-สหรัฐฯ ที่เพิ่งซื้อขายยานเกราะลำเลียงพล “สไตรเกอร์” เติมฝันตามเป้าหมาย 100 คัน เป็นความหวานชื่นชั่วข้ามคืน เพราะทันทีที่ไทยตัดสินสั่งห้ามใช้หรือ “แบน” 3 สารพิษเกษตร คือ “พาราควอต ไกลโฟเซตและคลอร์ไพริฟอส” สหรัฐฯ ก็เล่นบท “อเมริกันอันธพาล” ตัดสิทธิพิเศษทางการค้าหรือ GSP รวม 573 รายการ มูลค่าร่วม 4 หมื่นล้านบาท โต้ตอบทันที แถมจับตามีก๊อกสองบีบไทยนำเข้า “เนื้อหมูปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง” ตามมาอีกด้วย
“ผลประโยชน์อเมริกา” ต้องมาก่อน
แม้ฉากหน้าหน่วยงานของรัฐจะออกมาปฏิเสธว่าการตัดจีเอสพีไม่เกี่ยวกับการสั่งแบนสารพิษเกษตรโดยมีเหตุจากเรื่องที่ไทยยังไม่แก้ไข “กฎหมายแรงงาน” ตามมาตรฐานสากลที่สหรัฐฯ เรียกร้อง อีกอย่างการตัดจีเอสพี ก็เป็นเรื่องในกระบวนการพิจารณาของสหรัฐฯ ซึ่งส่งเสียงเตือนมาเป็นระยะๆ ก่อนหน้านี้แล้ว แต่สถานการณ์ประจวบเหมาะแบบโป๊ะเช๊ะเช่นนี้ เป็นที่รู้กันดีว่าเจอเข้าให้แล้ว เพราะสหรัฐฯ นั้น มีไพ่เล่นในมือและพร้อมตอบโต้ทุกชาติที่ขัดขวางผลประโยชน์ของตนเอง กรณีของไทยก็หนีไม่พ้นที่ต้องรับแรงกระแทกจากการแบนสารพิษเกษตรอย่างเลี่ยงไม่พ้น
“ดึงสติ อย่าตื่น เราไม่ใช่เมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกา” เป็นคำปลุกขวัญกำลังใจจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ปักหลักมั่นยืนหยัดโต้แรงกดดันรอบทิศในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะมีมติสั่งแบน 3 สารเคมีเกษตร
หรือถ้าจะดรามาหนักมากอย่าง “น้าแอ๊ด” ยืนยง โอภากุล หรือ “แอ๊ด คาราบาว” ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต ก็ต้องบอกแบบใจถึงใจว่า “เห็นสันดานอเมริกาหรือยังครับพี่น้อง มันหาได้คำนึงถึงชีวิตของคนอื่นเลย มุ่งแต่จะเอาประโยชน์เพื่อตนฝ่ายเดียว รัฐบาลไทยอย่าไปยอมมันนะครับ มันจะเเบนสินค้าเราก็ช่างแม่ง เวลานี้ คุณสมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ได้ออกเดินสายหาคู่ค้ารายใหม่ๆ ในประเทศต่างๆ ที่มีคุณธรรม เเละไม่เอาเปรียบข่มเหงรังแกเรา
“.... นี่คือ อเมริกันเฟิสต์ ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ต้องมาก่อนจริงๆ จับตากันดีๆจากนี้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะงัดอะไรออกมากดดันไทยอีก.”
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการตัด GSP ไทย เกิดขึ้นหลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติแบนสารเคมีการเกษตร 3 ชนิด เพียงไม่กี่วัน ในทำนองเดียวกันว่าน่าจะไปขัดผลประโยชน์ภาคเอกชนสหรัฐฯ มหาศาล เพราะอย่างที่รู้ๆ กันว่า ในสหรัฐฯ “อุตสาหกรรมยา” มีอิทธิพลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจสร้างความร่ำรวยให้กับอเมริกามาช้านาน
วงในลึกๆ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เจอนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ มาเข้าพบลุงตู่ ก็มักจะพูดเรื่องยามาเป็นวาระพูดคุยเป็นเรื่องหลัก
ลองมองย้อนไปก่อนที่ไทยจะประกาศแบนสารพิษ ก็ปรากฏข่าว “ทุนยักษ์”บริษัทยาข้ามชาติจากสหรัฐฯ วิ่งล็อบบี้กันฝุ่นตลบ กระทั่งตอนนี้ก็ยังกดดันหนัก เพราะเป็นเดิมพันที่แลกมาซึ่งผลประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่มีเครือข่ายธุรกิจครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมยา สารเคมีเกษตร และเมล็ดพันธุ์ ทั่วทั้งโลก
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ยังเห็นการดิ้นรนของกลุ่มสนับสนุนให้ใช้สารเคมีเกษตรฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้มีคำสั่งระงับการแบน 3 สารพิษในไทย ซึ่งศาลไต่สวนฉุกเฉินแล้วแต่ยังไม่มีคำสั่งออกมา ทั้งยังมีคนที่เปิดหน้ามาหนุนอีกหนึ่งอย่าง นายอนันต์ ดาโลดม อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ที่มีข้อสังเกตถึงความเกี่ยวข้องกับ “มอนซานโต้” มาก่อน
การตัดสิทธิจีเอสพีคราวนี้ สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า การที่ไทยถูกสหรัฐอเมริกาตัดจีเอสพีอาจถูกโยงไปถึงการที่ไทยประกาศแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่ามีบริษัทผลิตสารเคมีใหญ่ของสหรัฐฯเป็นผู้ส่งออก และก่อนหน้านี้ นายเท็ด เอ. แมคคินนีย์ (Ted Mckinly) ผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตรเพื่อการค้าและกิจการเกษตรต่างประเทศ กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (USDA) ทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยแสดงความกังวลต่อกรณีไทยห้ามสารเคมีเกษตร 3 ชนิด พร้อมขอรัฐบาลไทยเลื่อนการตัดสินใจเกี่ยวกับสารเคมี “ไกลโฟเซต” โดยระบุว่าสารเคมีที่รัฐบาลไทยห้ามยังมีใช้ในหลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้าทางการเกษตรของสหรัฐฯที่ส่งออกมายังไทยหลายรายการ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี และยังไม่พบสารเคมีทดแทนที่เหมาะสม อยากขอให้ไทยใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือเป็นพื้นฐานการตัดสินใจ
ทั้งนี้ จากสถิติปี 2561 สหรัฐฯส่งออกข้าวสาลีและถั่วเหลืองมาไทย คิดเป็นมูลค่า 5,400 ล้านบาท และ 17,790 ล้านบาท ตามลำดับ
และตรงกับ ความเห็นของ พอล ครุกแมน (Paul Krugman) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเจ้าของรางวัลโนเบล ปี 2551 ที่ทวีตข้อความว่า เขาไม่เชื่อว่าการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยกเลิกสิทธิพิเศษด้านภาษีหรือ GSP ที่มีต่อประเทศไทย จะเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิแรงงานตามที่รัฐบาลสหรัฐฯ อ้าง
“อะไรคือเหตุผลแท้จริงกันแน่? โทษที ผมไม่เชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะใส่ใจเรื่องสิทธิของผู้ใช้แรงงานอย่างที่อ้าง”
ที่สำคัญคือ การสหรัฐฯ พุ่งเป้าปกป้อง “ไกลโฟเซต” เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า แม้ บริษัทไบเออร์ของเยอรมนีซื้อบริษัทมอนซานโต้ของสหรัฐฯ ไปแล้ว แต่สัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของไบเออร์ มีสัดส่วน 30.2% มาจากสหรัฐฯ และแคนาดา ในขณะที่สัดส่วนผู้ถือหุ้นจากเยอรมนีมีสัดส่วน 20.2% และผู้ถือหุ้น 4.8% มาจากสิงคโปร์
ส่วนตัว นายเท็ด เอ. แมคคินนีย์ (Ted Mckinly) นั้น เคยทำงานมาอย่างยาวนานถึง 19 ปี กับบริษัทดาวอะโกรไซแอนส์ บริษัทผู้ผลิตและเจ้าของผลิตภัณฑ์สารเคมีกำจัดแมลง “คลอร์ไพริฟอส” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ระหว่างตัวนักการเมือง นักธุรกิจและรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เป็นอย่างดี
เห็นหรือยังว่า “อเมริกันนั้นอันตราย” ขนาดไหน
อย่างไรก็ดี นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา เดินทางเข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ยืนยันว่า กระบวนการเรื่อง สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP มีการตัดสินใจมานานแล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่ไทยแบน 3 สารเคมีการเกษตร
ม็อตโต้ “ลุงตู่” ปัญหามีไว้พุ่งชน
พาณิชย์ ยันกระทบส่งออกไม่มาก
แต่ไม่ว่าเบื้องลึกเบื้องหลังการตัดจีเอสพีจะเกี่ยวกับการสั่งแบน 3 สารพิษ จะจริงเท็จหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตามฉากหน้า ท่านผู้นำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ต้องออกมาปรามๆ ไม่อยากให้เอาไปโยงกัน ไม่อยากให้เป็นเรื่องการเมือง และไม่อยากให้วิตกเพราะผลกระทบไม่มาก อีกอย่างยังมีเวลาเจรจาต่อรองกันอีกในช่วง 6 เดือน ก่อนจะมีผลบังคับใช้
“ต้องหาวิธีการและเจรจาพูดคุย เดี๋ยวเขาทำกันเอง อย่าเพิ่งไปตื่นเต้น ปัญหาทุกปัญหาก็ต้องแก้กันไป ช่วยกันคิดช่วยกันทำช่วยกันแก้ไข อย่าไปคาดการณ์กันเอง อย่าไปตีกันไปมา ได้หรือไม่ได้ก็แล้วแต่เขา เราต้องทำให้ดีที่สุดก็แล้วกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว และยืนยันว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 4 พฤศจิกายน 2562 นี้ หากได้พบกับผู้นำสหรัฐฯ หรือผู้แทนจะหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยกันอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะคุยกันในเวที
สำหรับการตัดสิทธิจีเอสพีของไทยคราวนี้ สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ส่งจดหมายแจ้งต่อนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง และนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่าได้ตัดสินใจระงับการค้าปลอดภาษีกับสินค้าไทยหลายรายการ เนื่องจากไทยไม่ได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมแรงงานตามสิทธิแรงงานสากล
สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ หรือยูเอสทีอาร์ ประเมินว่า การระงับสิทธิทางการค้าครั้งนี้ มีมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 39,000 ล้านบาท ภายใต้ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรทั่วไป หรือจีเอสพี ที่ให้สหรัฐฯผ่อนปรนแก่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมาตรการจะมีผลบังคับใช้ใน 6 เดือนข้างหน้าคือ 25 เมษายน 2563 และจะส่งผลกระทบต่อสินค้า 1 ใน 3 ของไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯภายใต้ระบบสิทธิพิเศษ ซึ่งรวมถึงอาหารทะเลทั้งหมด
เรื่องที่เกิดขึ้น กระทรวงพาณิชย์ ก็ต้องว่าการตัดจีเอสพีไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ไทยห้ามนำเข้าสารเคมี 3 ชนิด เป็นจังหวะบังเอิญมากกว่า โดย น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แจกแจงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า สหรัฐฯ จะตัดสิทธิจีเอสพีไทย 573 รายการ คิดเป็น 40% จากจำนวนสินค้าที่ไทยใช้สิทธิในปี 2561 รวม 1,485 รายการ โดยจะมีผลบังคับใช้ 25 เมษายน 2563 และมีการคืนสิทธิให้ไทย 7 รายการ สำหรับสินค้ากลุ่มที่ถูกตัดสิทธิในปี 2563 (เมื่อมาตรการมีผลบังคับใช้) ลดลงมูลค่า 28.8- 32.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.01% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทยเฉลี่ยรายปี แต่มีสินค้าบางรายการที่ใช้สิทธิมากที่อาจได้รับผลกระทบมากกว่ารายการอื่น
ในปี 2561 ไทยมีการใช้สิทธิจีเอสพี เพียง 355 รายการ (จาก 573 รายการ) มูลค่า 1,279.8 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการใช้สิทธิเฉลี่ย 66.7% เช่น อาหารทะเลแปรรูป พาสตา ถั่วชนิดต่างๆ แยมผลไม้ น้ำผลไม้ ซอสถั่วเหลือง เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์เครื่องครัวและของใช้ในบ้าน มอเตอร์ไฟฟ้า เหล็กแผ่นและสเตนเลส เครื่องดนตรี และอุปกรณ์ตกปลา โดยการถูกตัดสิทธิจีเอสพีทำให้ต้นทุนส่งออกไทยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 50.33 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากสินค้าไทยกลุ่มนี้จะถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 4.5% (อ้างอิงจากอัตรา MFN rate ของสหรัฐฯ ปี 2561)
สำหรับกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด กล่าวคือ มีการพึ่งพาสิทธิจีเอสพีมากกว่า 50% และส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่า 10% ได้แก่ คอนโซล โต๊ะและฐานรองอื่นๆ ที่ติดตั้งด้วยเครื่องอุปกรณ์ รถจักรยานยนต์ แว่นสายตาหรือแว่นกันลม/กันฝุ่น หลอดหรือท่ออ่อนทำจากยางวัลแคไนซ์ อ่างล้างหน้า เครื่องสูบของเหลว สารเคลือบผิว Epoxy Resin เครื่องสูบลมหรือสูบสุญญากาศ อาหารปรุงแต่งที่ทำจากธัญพืช ยางนอกชนิดอัดลม รวมทั้งกลุ่มเซรามิก ที่ต้องเสียภาษีสูงถึง 26% จากเดิมไม่ต้องเสียภาษี เช่นเดียวกับ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องเสียภาษีเฉลี่ยที่ 5% จากก่อนหน้านั้นไม่เสียภาษีเลย แต่หากไทยสามารถกระจายความเสี่ยงส่งออกสินค้าที่ถูกตัดสิทธิไปยังตลาดอื่นๆ ได้จะช่วยลดผลกระทบต่อการส่งออกไทยได้
ส่วนที่มาที่ไปของการประกาศตัดจีเอสพีดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า เป็นการพิจารณาทบทวนการให้สิทธิเป็นรายประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่สหภาพแรงงานสัมพันธ์ของสหรัฐฯ ร้องเรียนให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) พิจารณาตัดสิทธิไทยเพราะไม่มีการคุ้มครองแรงงานที่มากพอ รวมถึงสมาพันธ์ผู้เลี้ยงสุกรแห่งสหรัฐฯ ได้ร้องเรียนให้ยูเอสทีอาร์ตัดสิทธิไทยเพราะจำกัดการเข้าสู่ตลาดของสินค้าจากสหรัฐฯ และภายหลังการพิจารณาตามการร้องเรียนแล้วยูเอสทีอาร์ได้ตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทยโดยพิจารณาจากเรื่องแรงงานเป็นหลัก และไม่เกี่ยวกับกรณีที่ไทยห้ามการใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมายูเอสทีอาร์ได้หารือกับกระทรวงพาณิชย์ มาอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้ไทยแก้ไขกฎหมายแรงงานตามที่สหรัฐฯ เรียกร้องในหลายประเด็น เช่น ให้สิทธิแรงงานต่างด้าวตั้งสหภาพแรงงานในไทยได้, ให้แรงงานต่างด้าวในไทย มีสิทธิ์ฟ้องร้องนายจ้างโดยนายจ้างต้องไม่ฟ้องกลับ, ให้แรงงานมีสิทธิแสดงความเห็นในที่สาธารณะ เป็นต้น ซึ่งไทยชี้แจงว่าอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และสวนกลับว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวในสหรัฐฯ เองยังไม่สามารถดำเนินการได้
อย่างไรก็ตาม พอสหรัฐฯ ยกประเด็นเรื่องไทยไม่ยกระดับสิทธิแรงงานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการตัดจีเอสพี กระทรวงแรงงาน โดยนายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน ให้คำอธิบายว่าทางสหรัฐฯ พยายามให้ไทยรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ซึ่งฉบับที่ 87 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรวมตัวตั้งเป็นสหภาพแรงงาน โดยแรงงานไทยนั้นเราได้อนุญาตให้ตั้งสหภาพอยู่แล้ว แต่ต่างชาติหรือต่างด้าวนั้นยังไม่ให้ทำ แต่ได้แก้พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ให้ลูกจ้างต่างด้าวสามารถร่วมเป็นสมาชิกสหภาพได้ และสามารถเป็นกรรมการได้สัดส่วน 1 ใน 5 ของกรรมการทั้งหมด
ส่วนอนุสัญญาฉบับที่ 98 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเจรจาต่อรอง ซึ่งไทยจะให้การรับรองฉบับที่ 98 ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการ โดยมีการแก้กฎหมาย 2 ฉบับ ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับ 98 คือ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 กับ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งการแก้ไขที่ต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภา คาดว่าอาจจะใช้เวลาเป็นปี
หากการตัดจีเอสพีคราวนี้อ้างเหตุรวมไปถึงปัญหาสิทธิแรงงานประมงต่างด้าวด้วย นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ก็ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยดำเนินการแก้ไขเรื่องแรงงานประมงมาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการจัดอันดับขึ้นมาเป็นเทียร์ 2 ซึ่งในช่วงที่ประเทศไทยอยู่เทียร์ 3 ทางสหรัฐฯก็ไม่เคยตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย จึงเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้สหรัฐตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทยนั้น น่าจะเป็นการตอบโต้ทางการไทยที่สั่งแบน 3 สารเคมีเกษตร ดังนั้นการที่สหรัฐนำแรงงานประมงมาเป็นแพะเพื่อบีบทางการไทยจึงไม่ถูกต้อง
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันการยกระดับมาตรฐานแรงงานของไทย ตอบโต้ฝ่ายค้านที่โจมตีว่ารัฐบาลคุยโวว่าแก้ปัญหาแรงงานได้สำเร็จ แต่กลับเจอการตัดจีเอสพีจากประเด็นปัญหาเรื่องแรงงาน “.... ก็เห็นชัดๆ ว่าไทยได้เลื่อนขั้นขึ้นมาเป็นเทียร์ 2 ซึ่งสำเร็จทั้งภาคประมงและแรงงาน....”
หากมองย้อนกลับไป นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยโดนตัดสิทธิจีเอสพี เพราะในปี 2558 ไทยถูกสหภาพยุโรป ตุรกี และแคนาดา ตัดสิทธิ จีเอสพีมาแล้ว และในช่วงเดือนเมษายน 2562 นี้เอง ญี่ปุ่นก็ได้ตัดสิทธิจีเอสพีที่เคยให้กับไทยเช่นกัน ขณะที่สหรัฐฯ นอกจากจะตัดสิทธิจีเอสพีของไทยแล้ว ก่อนหน้านี้สหรัฐฯได้ตัดสิทธิจีเอสพีตุรกี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 และ ตามมาด้วยการตัดสิทธิจีเอสพีที่ให้กับอินเดียเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 โดยอ้างเหตุผลว่าไม่เปิดตลาดให้สหรัฐฯ
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) ประเมินว่า กรณีการตัดสิทธิ GSP สหรัฐดังกล่าว คาดต้นทุนภาษีนำเข้าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเฉลี่ยราว 4.5% ทั้งนี้ หากพิจารณาในอดีต ไทยเคยถูกตัดสิทธิ GSP จากยุโรปเมื่อปี 2558 จากยุโรป แต่พบว่ายอดส่งออกไปยุโรปกลับไม่ลดลง คือ ส่งออกไปยุโรปปี 2558 อยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านเหรียญ ขณะที่ปี 2561 อยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านเหรียญ
ถึงกระนั้นก็ตาม ผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งจะเกี่ยวเนื่องมายังภาคเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการถูกตัดสิทธิจีเอสพี ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลไทยต้องโชว์ฝีมือในการเจรจาต่อรองเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติอย่างถึงที่สุด
ก๊อกสอง กดดันนำเข้าหมูปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง
ขณะที่อีกปมสำคัญคือ การกดดันให้ไทยนำเข้าหมูที่ปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง เป็นอีกเรื่องที่ต้องตั้งรับให้ได้เพราะไม่ใช่แค่จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเท่านั้น แต่ยังจะมีปัญหาส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอีกด้วย
ถือเป็นอีกเรื่องใหญ่ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกชัดว่า ยอมไม่ได้ “.... ยืนยันว่าไทยไม่มีการอนุญาตให้นำเข้าอะไรก็ตามที่มีสารปนเปื้อนหรือสารตกค้าง หรือสารที่ไม่มีประโยชน์อะไรกับร่างกายมนุษย์....”
แรงกดดันจากสหรัฐฯ ทั้งเรื่องการตัดจีเอสพีและการเปิดตลาดเนื้อหมูปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง คือ กระทรวงพาณิชย์ ได้เคยเสนอเรื่อง “การเสนอข้อมูลการต่ออายุโครงการ GSP ของสหรัฐฯ” ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รับทราบตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2561 ซึ่งขณะนั้น นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
รายงานดังกล่าว เป็นข้อมูลการต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preference : GSP) ของสหรัฐฯ ซึ่งได้ประกาศต่ออายุโครงการ GSP แก่ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา อีก 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561-31 ธันวาคม 2563 และทบทวนรายชื่อประเมินคุณสมบัติ ประเทศที่ได้รับสิทธิด้วย โดยรายชื่อประเทศที่ต้องถูกทบทวนประเมินคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย และ คาซัคสถาน เป็นต้น โดยไม่มีประเทศไทยอยู่ในรายชื่อดังกล่าว เนื่องจากไทยมีแผนปฏิบัติการด้านคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน และการปราบปราม และการบังคับใช้กฎหมาย และการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี สภาผู้ผลิตสุกรสหรัฐฯ (National Pork Producers Council : NPPC) ได้ยื่นคำร้องขอให้ United States Trade Representatives (USTR) พิจารณาตัดสิทธิ GSP แก่ไทย เนื่องจากไทยไม่เปิดตลาดสินค้าให้แก่สหรัฐฯ อย่างเป็นธรรม และสมเหตุผลจากการที่ไทยห้ามนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ ที่มีสารเร่งเนื้อแดง ซึ่ง USTR จะนำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาข้อเท็จจริงก่อนที่จะประกาศรับคำร้องในช่วงพฤษภาคม 2561
กระทรวงการต่างประเทศ ได้สรุปการทบทวนการให้สิทธิ GSP แก่ประเทศไทยเกี่ยวข้องกับ 2 ประเด็นหลัก โดยประเด็นแรก เป็นเรื่องการเปิดตลาดเนื้อสุกร ซึ่งรวมถึงเครื่องในสุกรและเนื้อสุกรที่ผลิตโดยสารเร่งเนื้อแดง เป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ติดตามเร่งรัดกับฝ่ายไทยในหลายระดับอย่างต่อเนื่อง ทั้งคู่ “นายกฯ ประยุทธ์-วิลเบอร์ รอสส์ รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ” คู่ “กฤษฎา บุญราช” อดีต รมว.เกษตรฯ กับ “Peter Haymond” รองหัวหน้าสถานทูตสหรัฐฯ และ การหารือของ “รองนายกฯ สมคิด” กับ “กลิน ที. เดวิส” อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สหรัฐฯ จำนวน 44 คน มีหนังสือ ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 ถึงเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน แสดงความห่วงกังวลต่อการจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตร สหรัฐฯ โดยไทย ซึ่งรวมถึงการห้ามนำเข้าเนื้อสุกร และเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการจำกัดดังกล่าว ซึ่งหากไม่มีความคืบหน้าอย่างสำคัญในเรื่องนี้ คาดว่า สหรัฐฯ อาจพิจารณาความเหมาะสมในการระงับสิทธิประโยชน์บางประการ ที่ประเทศไทยได้รับภายใต้โครงการ GSP ในไม่ช้า
ประเด็นที่สอง คือเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ซึ่งรวมถึงแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.... ซึ่งสหพันธ์แรงงานสหรัฐฯ และสภาองค์กรอุตสาหกรรม (American Federation of Labor and Congress of Industrial Organizations: AFL-CIO) ได้เคยยื่นคำร้องเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานของไทย
กระทั่งนำมาซึ่งการตัดสิทธิจีเอสพีกับไทยโดยสหรัฐฯ อ้างเรื่องมาตรฐานแรงงาน ในช่วงจังหวะการแบน 3 สารเคมีเกษตรพอดิบพอดี
แต่ไม่ว่า ต้นสายปลายเหตุในเรื่องการตัดสิทธิจีเอสพีจะมาจากอะไร สิ่งที่จริงแท้แน่นอนก็คือ ข้อกล่าวอ้างของสหรัฐฯ เรื่อง “ไกลโฟเซต” ที่ไม่อันตราย นั้น เวลานี้ลุกลามบานปลายโดยมีคดีความฟ้องร้องกันมากมาย ล่าสุด สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า บริษัทไบเออร์แห่งเยอรมนีซึ่งเข้าเทกโอเวอร์มอนซานโต้เมื่อปีที่แล้ว กำลังเผชิญหน้ากับการฟ้องร้องของโจทก์ 42,700 รายในสหรัฐฯ ซึ่งกล่าวโทษยากำจัดวัชพืชที่ใช้สารเคมี “ไกลโฟเซต” ว่าเป็นต้นตอทำให้พวกเขาเป็นมะเร็ง และมีความเป็นไปได้ที่ไบเออร์อาจต้องสูญเงินจากการขอยอมความมากขึ้นไปอีกในอนาคต
มีการคาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่า ท้ายที่สุดแล้ว ไบเออร์ จะยอมจ่ายเงินชดเชยเพื่อให้หลุดพ้นจากการถูกดำเนินคดี นักวิเคราะห์ประมาณการว่า ณ ปัจจุบัน การขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทใดๆ ในอนาคต อาจต้องใช้เงินราว 8,000 ถึง 12,000 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว อีกทั้งการดิ่งลงของหุ้นไบเออร์ สะท้อนว่า ในท้ายที่สุดแล้วการฟ้องร้องคดีจะก่อความเสียหายแก่บริษัทสูงสุดถึง 20,000 ล้านดอลลาร์
ดังนั้น จากนี้ คงต้องจับตาดูว่า การเจรจาของไทยจะประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไร และสุดท้ายแล้วจะมี “การทบทวน” หรือ “เปลี่ยนท่าที” ไปจากเดิมหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือในทางปฏิบัติการประกาศตัดสิทธิจีเอสพีรายประเทศได้ “จบแล้ว” ดังนั้น หากเจรจาแล้วสหรัฐฯ ยอมคืนสิทธิให้ไทยก็ไม่น่าจะคืนได้ทันในปีนี้
แต่ถามว่ายัง “มีโอกาส” เจรจาขอคืนสิทธิได้ไหม ก็ต้องตอบว่า “มี” เพราะในการประกาศ สหรัฐฯ ใช้คำว่า “แขวน” กับไทย ซึ่งต่างจากอินเดียและตุรกีที่ใช้คำว่า ยุติการให้สิทธิและถอนออกจากการเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิ
รวมทั้งหลังการยึดสิทธิจีเอสพี ก็ปรากฏร่างของ นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา เดินทางเข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ซึ่งย่อมแสดงให้เห็นว่า น่าจะเป็นการ “ตบ” เพื่อเปิดให้มีการเจรจาตามสไตล์ของ “รัฐบาลทรัมป์”
กระนั้นก็ดี รัฐบาลไทยต้องไม่ลืมเช่นกันว่า ความปลอดภัยของประชาชนคนไทยก็สำคัญเช่นกัน.