xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนไทม์ไลน์มติ ครม. ปี 61 พบ 3 หน่วยงานรัฐให้ข้อมูล เตรียมรับความเสี่ยง GSP ก่อนสินค้าไทยถูกตัดสิทธิปี 62

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ย้อนไทม์ไลน์มติ ครม. ยุค รบ.คสช. ปี 2561 รับความเสี่ยงโครงการ GSP ของสหรัฐฯ ก่อนสินค้าไทยถูกตัดสิทธิ มีผลในอีก 6 เดือน พบความเห็น 3 หน่วยงานรัฐ “สภาพัฒน์-สาธารณสุข-ต่างประเทศ” สภาพัฒน์แนะเตรียมความพร้อม รองรับความเสี่ยงในอนาคต เน้นขยายการค้าไปยังตลาดใหม่ๆ และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนประเทศที่ได้รับสิทธิ ด้าน “กระทรวงต่างประเทศ” สรุปไทม์ไลน์ เจรจา GSP ไทย-สหรัฐฯ ทั้งคู่ “นายกฯ ประยุทธ์-วิลเบอร์ รอสส์ รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ” คู่ “กฤษฎา บุญราช” อดีต รมว.เกษตรฯ กับ “Peter Haymond” รองหัวหน้าสถานทูตสหรัฐฯ และ การหารือของ “รองนายกฯ สมคิด” กับ “กลิน ที. เดวิส” อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ

วันนี้ (28 ต.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า กรณีรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทย ซึ่งจะมีผลในอีก 6 เดือนข้างหน้า คือ 25 เม.ย. 63 นั้น ล่าสุดพบว่า มีมติคณัรฐมนตรี เพื่อทราบ เสนอโดย กระทรวงพาณิชย์ เรื่อง “การเสนอข้อมูลการต่ออายุโครงการ GSP ของสหรัฐฯ” เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2561 รัฐบาล คสช. ยุค ประยุทธ์ จันทรโอชา ในสมัยมี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นั่ง รมว.พาณิชย์

ครม.ได้มีรับทราบข้อมูลการต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preference : GSP) ของสหรัฐฯ ซึ่งได้ประกาศต่ออายุโครงการ GSP แก่ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา อีก 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561-31 ธันวาคม 2563 รวมทั้งจำเป็นต้องทบทวนรายชื่อประเมินคุณสมบัติประเทศที่ได้รับสิทธิด้วย โดยได้ประกาศรายชื่อประเทศที่ต้องถูกทบทวนประเมินคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย และ คาซัคสถาน เป็นต้น

“มติ ครม. ระบุว่า โดยไทยไม่อยู่ในรายชื่อดังกล่าว เนื่องจากไทยมีแผนปฏิบัติการด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน และการปราบปรามและการบังคับใช้กฎหมาย และการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง”

อย่างไรก็ดี สภาผู้ผลิตสุกรสหรัฐฯ (National Pork Producers Council : NPPC) ได้ยื่นคำร้องขอให้ United States Trade Representatives (USTR) พิจารณาตัดสิทธิ GSP แก่ไทย เนื่องจากไทยไม่เปิดตลาดสินค้าให้แก่สหรัฐฯ อย่างเป็นธรรม และสมเหตุผลจากการที่ไทยห้ามนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ ที่มีสารเร่งเนื้อแดง ซึ่ง USTR จะนำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาข้อเท็จจริงก่อนที่จะประกาศรับคำร้องในช่วงพฤษภาคม 2561 ต่อไป ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

มติ ครม. ยังให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เช่น การติดตามการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงานของไทย และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างใกล้ชิด เพื่อประโยชน์ต่อการทบทวนประเมินคุณสมบัติประเทศที่ได้รับสิทธิ (Country Assessment) เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิ GSP อย่างต่อเนื่อง และการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ ในอนาคต อาทิ ขยายการค้าไปยังตลาดใหม่ๆ และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในประเทศที่ได้รับสิทธิดังกล่าว เป็นต้น ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

มติ ครม.ดังกล่าว นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ขณะนั้น ได้แจ้ง “ไทม์ไลน์” การประกาศตัด GSP ว่า กระทรวงการต่างประเทศขอเรียน ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามรับรองกฎหมาย งบประมาณสหรัฐฯ ประจำปี 2561 หรือ “Consolidated Appropriations Act, 2018” ซึ่งจะขยายโครงการ GSP สำหรับสินค้าที่นำเข้าไปยังสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2561 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใข้ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2561 และจะมีผลให้ผู้นำเข้าสินค้าประเภทที่มีสิทธิ ได้รับ GSP และนำเข้าสินค้าไปยังสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2561 จนถึงวันท 21 เมษายน 2561 สามารถ ขอรับคืนภาษีอากรขาเข้าได้

2. เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 ตามเวลาท้องถิ่น สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representatives-USTR) ได้ประกาศรับคำร้องขอของสภาผู้ผลิตเนื้อสุกรของสทรฐฯ (National Pork Producers Council-NPPC) ที่ขอให้ทบทวนการให้สิทธิ GSP แก่ประเทศไทย โดย USTR จะให้มีการทบทวนสาธารณะ (public review) เกี่ยวกับการให้สิทธิ GSP แก่ประเทศไทย ประกอบด้วย การรับฟังและการให้ความเห็บประกอบการพิจารณาจากสาธารณชน (รายละเอียดตามข้อมูลในเว็บไซต์ https://ustr.gov/sites/default/files/files/gsp/FRN%20reopening%202017-2018%20AR%204-4-18.pdf)

ทั้งนี้ คาดว่า กระบวนการทบทวนสาธารณะสำหรับประเทศไทยจะมีขี้นในวันที่ 19 มิถุนายน 2561 พร้อมกับ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐอินเดีย และสาธารณรัฐคาซัคสถาน และคาดว่า จะสามารถสรุปผลการทบทวน สาธารณะดังกล่าวภายในเดือนกรกฎาคม 2561 โดย USTR อาจตัดสินใจให้สิทธิ GSP แก่ประเทศไทยต่อไป หรืออาจยืดระยะเวลาการดำเนีนกระบวบการพิจารณา เพื่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติม

3. การทบทวนการให้สิทธิ GSP แก่ประเทศไทยเกี่ยวข้องกับ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่

(1) การเปิดตลาดเนี้อสุกร ซึ่งรวมถึงเครื่องในสุกรและเนื้อสุกรที่ผลิตโดยสารเร่งเนื้อแดง เป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ติดตามเร่งรัดกับฝ่ายไทยในหลายระดับอย่างต่อเนื่อง อาทิ การหารือระหว่างพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับ นายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 การหารือระหว่าง นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ขณะนั้น) กับ นาย Peter Haymond รองหัวหน้าสำนักงานสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทคไทย เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561

และการหารือระหว่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กับ นายกลิน ที. เดวิส เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย (ขณะนั้น) เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 ตลอดจนการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (Trade and Investment Framework Agreement Joint Council: TIFA JC) เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 รวมถึงการพบหารือของ NPPC กับฝ่ายไทยโดยตรง ซึ่งขณะนี้ NPPC กำลังพยายามกดดันฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ให้ดำเนินการเพื่อให้ไทยเปิดตลาดในเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว

“เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จำนวน 44 คน ไดัมีหนังสือ ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 ถึงเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน แสดงความห่วงกังวลต่อการจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตร สหรัฐฯ โดยไทย ซึ่งรวมถึงการห้ามนำเข้าเนื้อสุกร และเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการจำกัดดังกล่าว ซึ่งหากไม่มีความคืบหน้าอย่างสำคัญในเรื่องนี้ คาดว่า สหรัฐฯ อาจพิจารณาความเหมาะสมในการระงับสิทธิประโยชน์บางประการ ที่ประเทศไทยได้รับภายใต้โครงการ GSP ในไม่ช้า”

(2) การคุ้มครองสิทธิแรงงาน ซึ่งรวมถึงแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.... ซึ่งสหพันธ์แรงงานสหรัฐฯ และสภาองค์กรอุตสาหกรรม (American Federation of Labor and Congress of Industrial Organizations: AFL-CIO) ได้เคยยื่นคำร้องเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานของไทย

4. เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้องไทย อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมทั้งกระทรวงแรงงาน พิจารณาทั้งสองประเด็นตามข้อ 3 เพื่อกำหนดวางท่าทีของไทยในการเจรจากับฝ่ายสหรัฐฯ ให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารพาของ USTR ในการต่ออายุสิทธิ GSP สำหรับประเทศไทยต่อไป

ขณะที่ นายปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ขณะนั้น ให้ความเห็นว่า กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาแล้ว มีข้อเสนอเพิ่มเติมให้ปรับถ้อยความเพื่อความสมบูรณ์และครอบคลุมในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง และสอดคล้องกับ กฎหมายในประเทศไทยปัจจุบันที่สอดคล้องกันตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่การห้ามใช้สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (p-agonist) ในการเลี้ยงสัตว์และห้ามพบการตกค้างในอาหารที่ผลิต หรือนำเข้าเพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภคในประเทศ ดังมีข้อความขอปรับแก้ดังนี้

“.....ไทยได้แจ้งในการประชุม TIFA JC ว่าการที่ไทยจะยอมรับค่าความปลอดภัยของสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูและเครื่องใน ตามมาตรฐาน Codex ก็ต่อเมื่อมีผลการศึกษาและมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับระดับความปลอดภัยของการใช้สาร Ractopamine รองรับความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งประกอบด้วยการประเมินความเสี่ยงต่อผู้บริโภค การจัดการด้านความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร รวมถึงการรับฟังความเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และการจัดการด้านความ ปลอดภัยผู้บริโภค ฯลฯ ซึ่งในการประชุมทั้งไทยและสหรัฐฯ กำหนดแผนการดำเนินงานคู่ขนานด้าน Food Safety และ Animal Health และแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามความคืบหน้าร่วมกัน โดยสหรัฐฯ จะส่งข้อมูล ทางวิทยาศาสตร์ให้แก่ฝ่ายไทยเพื่อใข้ประโยชน์ในการศึกษาต่อไป”

ขณะที่ นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาสภาพัฒน์ ขณะนั้น ให้ความเห็นว่า สำนักงานฯ พิจารณาแล้ว เห็นควรรับทราบข้อมูลการต่ออายุโครงการ GSP ของสหรัฐฯ ตามที่ กระทรวงพาณิชย์เสนอ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ควรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามการดำเนินการตามแผนปฎิบัติการด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงานของไทย และการคุ้มครองทรัพย์สินทางป้ญญาอย่างใกล้ขีด เพื่อประโยชน์ต่อการทบทวนประเมินคุณสมบัติประเทศที่ได้รับสิทธิ (Country Assessment) เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิ GSP อย่างต่อเนื่อง

“นอกจากนี้ ควรมิการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความเสี่ยง จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ ในอนาคต อาทิ ขยายการค้าไปยังตลาดใหม่ๆ และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในประเทศที่ได้รับสิทธิดังกล่าว” ความเห็นสุดท้ายของสภาพัฒน์ต่อเรื่องดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น