"หม่อมเต่า" เตรียมนัดคุยสถานทูตสหรัฐฯ เผยถูกบีบให้ยกแรงงานต่างด้าว ได้สิทธิมากกว่าคนไทย พร้อมให้ตั้งสหภาพแรงงานแบบรวมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ด้าน"พาณิชย์" แจงสหรัฐฯ ตัดจีเอสพีไทย 573 รายการ คิดเป็น 40% ของสินค้าที่ไทยใช้สิทธิในปี 61 ยันมีผลต่อการส่งออกไม่มากนัก แนะกระจายความเสี่ยงส่งออกไปยังตลาดอื่น เพื่อชดเชยตลาดสหรัฐฯ "จุรินทร์" เตรียมยื่นขอให้ทบทวน ชี้ถ้าสหรัฐฯยืนกราน ไทยก็ต้องรับภาระภาษีเพื่อการนี้ประมาณ ปีละ 1.5-1.8 พันล้าน ยันไม่เกี่ยวกับการที่ไทยแบน 3 สารพิษ
วานนี้ (27ต.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เรียกประชุมด่วน คณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือกรณีสหรัฐฯ จะตัด จีเอสพี ของไทยในวันที่ 25 เม.ย.63 โดยให้เหตุผลประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยใช้เวลาในการหารือประมาณ 45 นาที
ม.ร.ว.จัตุมงคล ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ที่สหรัฐฯตัดจีเอสพีไทย เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิแรงงานทั้งไทย และต่างชาติ ว่าไม่เป็นมาตรฐานสากล ถือเป็นเรื่องใหญ่ มีหลายมิติที่มีความเกี่ยวข้องกับประโยชน์หลายฝ่าย หลายกระทรวง ทั้ง กระทรวงพาณิชย์ ก.แรงงาน และก.เกษตรและสหกรณ์ ก็ต้องรอท่าทีจากหน่วยงานเหล่านี้ด้วย อย่างกระทรวงพาณิชย์ ที่จะมีการแถลงในวันนี้(28ต.ค.) ถ้าทางกระทรวงพาณิชย์อยากให้กระทรวงแรงงานเข้าร่วมประชุมด้วย ก็ยินดี
ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงแรงงาน กฎหมายที่เกี่ยวข้องก็เป็นมาตรฐานของไทย ต้องบอกว่าเราคงไม่สามารถไปยกเอากฎหมายสากล มาแปลใช้ได้เลย ต้องมีกฎหมายที่สอดคล้องกับบริบทของไทย ทั้งสภาพเศรษฐกิจ นายจ้าง และสภาพของคนไทยเอง แน่นอนว่าแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เราก็ได้ให้สิทธิต่างๆ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ต้องไม่ได้มากไปกว่าคนไทยเอง
"ที่เขาขอมา เกือบจะเป็นอย่างนั้น คนต่างด้าวที่อยู่เมืองไทยจะได้สิทธิมากกว่าคนไทย ผมคิดว่าคงเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เช่น ที่เรียกร้องคือ การตั้งสหภาพแรงงานแบบรวมอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีการรวมตัวกันเป็นล้านคน มีอำนาจการต่อรองสูง แต่อนุโลมให้เป็นการรวมกลุ่มในแต่ละสถานประกอบการ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ควบคุมได้ง่ายกว่า ผมเชื่อว่า ไม่มีประเทศไหนที่ยกเอามาตรฐานสากลมาแปลใช้กับแรงงานในประเทศของคนเองหมดเลย ต่างก็ออกกฎหมายที่เหมาะสมกับสภาพสังคม ประเทศของตัวเองทั้งนั้น" รมว.แรงงาน กล่าว
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะไทยยังไม่ได้รับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)ข้อที่ 87 ว่าด้วยการรวมตัว และ 98 ว่าด้วยการเจรจาต่อรองหรือไม่ ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า เรื่องนี้ก็ส่วนหนึ่ง แต่มีคนคิดถึงเรื่องอื่นด้วย เราคิดว่าเป็นเรื่องนั้น ซึ่งทั้งหมดเป็นมาตรฐานสากล เราต้องเอามาตรฐานของเรา ยืนยันทุกเรื่องทางกระทรวงแรงงานดำเนินการมาตลอด บางเรื่องก็เรียบร้อยบางเรื่องก็ค้างอยู่ แต่ก็ต้องดำเนินการต่อ
"สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ผมจะไปพูดคุยกับคนในสถานทูตอเมริกา โดยจะเข้าไปพูดคุยกับคนที่ทำงานจริง เพราะหากเราสื่อสารกับคนที่ทำงาน เขาจะรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเราสามารถแก้ไขประมาณไหน คนที่พูดคุยกับเรา ก็จะได้นำเรื่องดังกล่าวนั้นไปคุยกับนายของเขาอีกที ซึ่งผมจะไปเองเพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ" ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว
เมื่อถามว่า กรณีดังกล่าวเกี่ยวกับการที่ประเทศไทย มีมติยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายในภาคเกษตรหรือไม่ เพราะสหรัฐฯ ท้วงติงให้ไทยต้องทบทวน รมว.แรงงาน กล่าวว่า เราต่างก็รู้เท่ากัน เพราะตนไม่ได้นั่งในห้องประชุม เขาทำเรื่องมาอย่างนี้
"แต่ที่เห็นชัดๆ คงไม่มีใครว่าประธานาธิบดีทรัมป์ นิสัยดี แต่เขามาสายธุรกิจ เป็นประธานาธิบดีคนแรก ซึ่งไม่เคยเล่นการเมืองของสหรัฐฯ เป็นธุรกิจมาตั้งแต่วันแรก จนวันสุดท้าย และวันนี้เป็นประธานาธิบดี ผมว่าเขาก็ยังทำธุรกิจอยู่เยอะ ถูกโจมตียับเหมือนกัน แล้ววิธีกระบวนการค่อนข้างเป็นเช่นนั้น ส่วนร่าง แก้พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ที่กระทรวงแรงงาน เคยผลักดันนั้น หลังผมเข้ามาก็กำลังดูอยู่ แต่เกิดเรื่องนี้ขึ้นก่อน" ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว
สหรัฐฯ ตัดจีเอสพีไทย 573 รายการ
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึง กรณีที่สหรัฐฯ ประกาศจะตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่เคยให้ไทยบางรายการ ว่า จากการตรวจสอบ พบว่าสหรัฐฯ จะตัดสิทธิจีเอสพีไทย 573 รายการ คิดเป็น 40% จากจำนวนสินค้าที่ไทยใช้สิทธิในปี 2561 รวม 1,485 รายการ โดยจะมีผลบังคับใช้ 25 เม.ย. 63 และมีการคืนสิทธิให้ไทย 7 รายการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ประมาณ 0.01% ของการส่งออกรวมของไทยเฉลี่ยรายปี แต่มีสินค้าบางรายการ ที่ใช้สิทธิมากที่อาจได้รับผลกระทบมากกว่ารายการอื่น
ทั้งนี้ ในปี 61 ไทยมีการใช้สิทธิ จีเอสพี เพียง 355 รายการ (จาก 573 รายการ) มูลค่า 1,279.8 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการใช้สิทธิเฉลี่ย 66.7% เช่น อาหารทะเลแปรรูป พาสต้า ถั่วชนิดต่างๆ แยมผลไม้ น้ำผลไม้ ซอสถั่วเหลือง เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์เครื่องครัวและของใช้ในบ้าน มอเตอร์ไฟฟ้า เหล็กแผ่นและสเตนเลส เครื่องดนตรี และอุปกรณ์ตกปลา โดยการถูกตัดสิทธิ จีเอสพี ทำให้ต้นทุนส่งออกไทยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 50.33 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากสินค้าไทยกลุ่มนี้ จะถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 4.5% (อ้างอิงจากอัตรา MFN rateของสหรัฐฯ ปี 61)
"การถูกตัดสิทธิ จีเอสพี ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยอย่างจำกัด อัตราภาษีที่สูงขึ้น อาจทำให้มูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ สำหรับสินค้ากลุ่มที่โดนตัดสิทธิ ในปี 63 (เมื่อมาตรการมีผลบังคับใช้) ลดลงมูลค่า 28.8–32.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.01% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย"
สำหรับกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด (มีการพึ่งพาสิทธิจีเอสพี มากกว่า 50% และส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่า 10%) ได้แก่ คอนโซล โต๊ะ และฐานรองอื่น ๆที่ติดตั้งด้วยเครื่องอุปกรณ์ รถจักรยานยนต์ แว่นสายตา หรือแว่นกันลม/กันฝุ่น หลอดหรือท่ออ่อนทำจากยางวัลแคไนซ์ อ่างล้างหน้า เครื่องสูบของเหลว สารเคลือบผิว Epoxy Resin เครื่องสูบลม หรือสูบสูญญากาศ อาหารปรุงแต่งที่ทำจากธัญพืช ยางนอกชนิดอัดลม แต่หากไทยสามารถกระจายความเสี่ยงส่งออกสินค้าที่ถูกตัดสิทธิไปยังตลาดอื่นๆ ได้ จะช่วยลดกระทบต่อการส่งออกไทยได้
อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทย ที่มีจุดเด่นในการกระจายตัวของสินค้ากลุ่มใหม่ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในอนาคต เช่น เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้าน ซึ่งจะช่วยยังสนับสนุนการส่งออกของไทยในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นต่อไปได้
ไทยต้องแบกภาระภาษี1.8พันล้าน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ประเด็นก็คือ ปัจจุบันสหรัฐฯ ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือที่เรียกว่า จีเอสพี ที่ส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ รวมทั้งหมดราคา 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไทยไม่ได้ใช้สิทธิ์เต็มตามจำนวนที่ให้สิทธิเรา ใช้สิทธิ์แค่ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ส่งออกไปในทุกวันนี้
ผลจากการถูกตัดจีเอสพี หมายความว่า ต่อไปนี้สินค้าของไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ จำนวนยอดขายรวมกัน 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ นั้นจะต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐ จากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษี ภาษีที่ต้องเสียตก ร้อยละ 4-5 โดยประมาณ ซึ่งทั้งหมดนี้หมายความว่า ต่อไปนี้สินค้าไทยที่จะส่งไปขายสหรัฐฯ จะต้องมีภาระภาษี แทนที่จะไม่ต้อง จ่ายภาษี ซึ่งภาระทางภาษีแต่ละปี เมื่อคำนวณแล้ว ตกประมาณ 1,500 ถึง 1,800 ล้านบาท
"กล่าวโดยสรุปก็คือ การตัดสิทธิ์พิเศษภาษีทางศุลกากรของสหรัฐฯ ทำให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปขายยังสหรัฐฯ มีภาระที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น 1,500 -1,800 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตามประเด็นที่เป็นที่มา ของสหรัฐฯใช้เป็นเงื่อนไขในการตัดสิทธิ ทำให้เราต้องเสียภาษี คือเรื่องแรงงาน สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าว ที่มาทำงานอยู่ในประเทศไทยสามารถตั้งสหพันธ์แรงงานได้ อันนี้เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ ส่วนประเด็นอื่นนั้น ขอให้ทางทรวงแรงงาน เป็นผู้ให้ข้อเท็จจริง" นายจุรินทร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงพิจารณาประจำปีของเขา แต่เราสามารถที่จะอุทธรณ์ หรือขอให้ทบทวนใหม่ได้ ซึ่งหลายครั้งที่ผ่านมาอย่างเช่นปีที่แล้ว ก็ทบทวนรายการสินค้าคืนมาให้ 7 รายการ และปีนี้เราก็จะยื่นขอทบทวนอีก ถ้าเขาไม่ทบทวน ก็ถือว่าเป็นอำนาจของเขาเช่นกัน เพราะเขามีสิทธิ์ฝ่ายเดียว เขาสามารถให้หรือไม่ให้ประเทศใดก็ได้ ถ้าเขาไม่ให้ หรือทบทวนแล้วไม่ให้ เราก็จะไม่ได้สิทธิ์พิเศษนั้น จากนี้ไปเราก็จะต้องจ่ายภาษีตามเงื่อนไขที่เขากำหนด ทำให้เรามีภาระทางภาษีเพิ่มขึ้น 1,500 -1,800 ล้านบาท
ส่วนคำถามเรื่องการแบน 3 สารเคมีเกษตร เท่าที่ติดตามไม่ได้เป็นเงื่อนไขของครั้งนี้ สิ่งที่เราทราบเป็นทางการคือ เกี่ยวกับประเด็นแรงงาน สรุปว่าสิ่งที่เขาอ้างในการตัดสิทธิ์ ไม่เกี่ยวกับการแบน 3 สารเคมี แต่อย่างใด
ยันไม่เกี่ยวแบน 3 สารพิษ
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้รับทราบข้อมูลมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว เมื่อครั้งที่รมว.พาณิชย์ สหรัฐฯ มาร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่ไทย ซึ่งมีการหยิบยกประเด็นนี้มาหารือ ขณะเดียวกันนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ก็ได้มีหนังสือรายงานถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว
นอกจากนี้ ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่ไทยห้ามนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรของสหรัฐฯ อย่างแน่นอน เป็นคนประเด็นกัน
แนะ"ลุงตู่"รีบเคลียร์สหรัฐฯ
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช เลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีสหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้าจากไทย โดยอ้างเหตุเรื่องสิทธิ สวัสดิการแรงงานไทยล้มเหลว ไม่สามารถจัดการแรงงานให้เทียบมาตรฐานสากลได้ และจากการที่ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำมากมาโดยตลอด ซึ่งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ผล แถมตอนนี้ยังมีมาตรการจากสหรัฐฯ ที่ตัดสิทธิ GSPอีก อย่างนี้คนไทยจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างไร
ทั้งนี้ จากการที่ตนได้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับสหรัฐฯ มาหลายรัฐบาล ทราบดีถึงระบบการทำงานที่เป็นมืออาชีพของสหรัฐฯ ซึ่งยึดผลประโยชน์ของประชาคมโลกเป็นหลักมาโดยตลอด และจากความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯ กับประเทศไทย มีมายาวนาน จึงเป็นไปได้ยาก ที่ว่าสหรัฐฯ จะมีมาตรการตอบโต้ไทยจากการที่ได้สั่งแบนสารพิษทั้ง 3 ชนิด เพราะสหรัฐฯ ก็คงไม่ยอมให้บริษัทสารพิษ มาบัญชาการอยู่เบื้องหลัง และท่ามกลางความขัดแย้งของสองมหาอำนาจ รัฐบาลไทยควรต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ หรือรัฐบาลให้ประเทศจีน มาทำเมกะโปรเจกต์ ในไทยมากเกินไป หรือไปเอาใจ และใช้เงินภาษีของประชาชนคนไทย ซื้ออาวุธ จะเป็นต้นเหตุหรือไม่ ก็ไม่อาจจะทราบได้ ซึ่งอย่างไรก็ตาม ตนจึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ เร่งประสานความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ โดยด่วน และเสริมสร้างรายได้ให้กับคนไทยทันที่ โดยการสนับสนุนให้คนไทยใช้ของไทย ส่งเสริมการส่งออกอย่างเป็นระบบ สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาระบบ Blockchain ระบบโครงข่ายในการทำธุรกรรมออนไลน์ เพื่อนำเงินภาษีเข้าสู่ระบบ และจัดเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และจัดการเพื่อให้มีความสะดวกสบายและปลอดภัยสำหรับนักลงทุนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ