xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ใช้ช่วงอาเซียนซัมมิตถกสหรัฐฯ ขอคืนสิทธิจีเอสพี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“พาณิชย์” เตรียมใช้โอกาสช่วงเป็นประธานประชุมอาเซียนซัมมิตเดือน พ.ย.นี้เจรจากับสหรัฐฯ ขอคืนสิทธิจีเอสพี ยันไม่เกี่ยวแบน 3 สารพิษ เหตุสหรัฐฯ แจ้งมาก่อนจะประกาศตัดจีเอสพีไทยช่วงปลาย ต.ค.หรือต้น พ.ย. ระบุการถูกตัดสิทธิไม่ได้เสียมูลค่าส่งออก 4 หมื่นล้าน ยังส่งออกได้เหมือนเดิม แค่เสียภาษีสูงขึ้น คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 1.8 พันล้านบาท วงในแฉยูเอสทีอาร์กดดันให้ไทยแก้กฎหมายแรงงาน 7 ข้อ แต่ทำตามได้ 5 ข้อ อีก 2 ข้อยันยอมไม่ได้ เหตุสหรัฐฯ เองก็ยังทำไม่ได้

นายกีรติ รัชโน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทยชั่วคราว มีผลในอีก 6 เดือนข้างหน้าว่า กระทรวงพาณิชย์จะเร่งเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอคืนสิทธิโดยเร็วที่สุด และไทยจะไม่ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ากลับคืน โดยคาดว่าจะหารือกับสหรัฐฯ ในช่วงไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนซัมมิตในเดือน พ.ย. 2562 เพราะสหรัฐฯ จะเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมกับอาเซียน รวมทั้งจะใช้เวทีเจรจาภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (ทิฟา) ด้วย

"ไทยจะไม่ตอบโต้ทางการค้า ต้องคุยกันด้วยเหตุด้วยผลเพื่อให้ได้มาซึ่งผลบวกของประเทศ โดยในช่วงประชุมอาเซียนซัมมิตอาจพอมีเวทีคุยกันได้เบื้องต้น ซึ่งสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แจ้งมาแล้วว่าจะให้ไทยจัดคณะไปคุยกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ก็ได้ หรือจะให้เขามาคุยที่ไทยก็ได้ ซึ่งจะเจรจาทำความเข้าใจให้ดีที่สุด เพราะเรื่องนี้มีหลายมิติที่ต้องดู ไม่ใช่เรื่องการค้าอย่างเดียว มีประเด็นแรงงานด้วย"

อย่างไรก็ตาม การให้สิทธิจีเอสพีเป็นการให้เพียงฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ ที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่เข้าตามเงื่อนไขที่สหรัฐฯ กำหนด และมีหลักในการทบทวนการให้สิทธิอยู่แล้ว เช่น ระดับการพัฒนาประเทศ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การกำหนดนโยบายลงทุน การสนับสนุนสหรัฐฯ ในการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นต้น หากประเทศที่ได้รับสิทธิ รวมถึงไทยไม่เข้าตามเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่ง หรือมีความสามารถในการส่งออกสินค้าจนเกินมูลค่าเพดานที่กำหนด สหรัฐฯ ก็อาจจะไม่ให้สิทธิ อย่างก่อนหน้านี้ก็ได้ตัดสิทธิอินเดียไปแล้ว และต่อมาเป็นไทย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสหรัฐฯ มีทั้งตัดสิทธิและคืนสิทธิสินค้าให้ไทยมาอย่างต่อเนื่อง อย่างในปี 2561 ได้ตัดสิทธิสินค้าไทย และปี 2562 ก็เพิ่งจะคืนสิทธิให้ 7 รายการ ได้แก่ เลนส์แว่นตา, เห็ดทรัฟเฟิล, กล้วยไม้, ปลาดาบ, หนังดิบ, โกโก้และเครื่องดื่มช็อกโกแลต และเครื่องประกอบแรงดันไฟฟ้า

นายกีรติกล่าวว่า สำหรับการตัดสิทธิสินค้าไทยในครั้งนี้มีจำนวนรวม 573 รายการ ไม่ได้หมายความว่าไทยจะส่งออกสินค้าดังกล่าวไปสหรัฐฯ ไม่ได้อีก หรือไทยจะสูญเสียมูลค่าการได้รับสิทธิไปทั้งหมด 40,000 ล้านบาท ยืนยันว่าไทยยังส่งออกไปได้เหมือนเดิม เพียงแต่สินค้าจากไทยต้องเสียภาษีนำเข้าอัตราปกติ (MFN Rate) เฉลี่ย 4.5% คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 1,800 ล้านบาท จากเดิมที่ไม่เสียภาษีเลย

ส่วนสินค้าสำคัญที่จะถูกระงับสิทธิ เช่น มอเตอร์ไซค์, แว่นสายตา, เครื่องจักรกล อุปกรณ์ไฟฟ้า, พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก, อาหารปรุงแต่ง, เคมีภัณฑ์, อุปกรณ์ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า, ทองแดง, ผลิตภัณฑ์เซรามิก, เครื่องประดับ เป็นต้น โดยกลุ่มสินค้าที่ถูกเก็บอัตราภาษีสูงสุด คือ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และเครื่องครัวเซรามิก ที่ 26% ส่วนสินค้าที่ถูกเรียกเก็บอัตราภาษีต่ำสุด คือ เคมีภัณฑ์ ที่ 0.1%

“ยืนยันว่าการตัดจีเอสพีไทยครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ไทยประกาศห้ามใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด เพราะสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณมาระยะหนึ่งแล้วว่าจะประกาศการตัดสิทธิไทยในช่วงปลายเดือน ต.ค. หรือต้นเดือน พ.ย. และกรมฯ ได้หารือกับภาคเอกชนให้เตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยแนะนำให้หาตลาดใหม่รองรับ พร้อมกับต้องปรับกลยุทธ์ในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวได้ เพราะก่อนหน้านี้ทั้งสหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่นก็ตัดสิทธิจีเอสพีไทยมาแล้ว และผู้ส่งออกไทยก็หาตลาดอื่นรองรับได้” นายกีรติกล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ส.ค.) ไทยใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ มูลค่า 3,234.38 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นการใช้สิทธิ 66.68% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่สหรัฐฯ ให้สิทธิไทย ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 2561 มีมูลค่าการใช้สิทธิ 2,858.82 ล้านเหรียญสหรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตัดจีเอสพีครั้งนี้เป็นเรื่องของสิทธิแรงงานเพียงอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงที่ไทยแก้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ยูเอสทีอาร์ได้พยายามกดดันให้ไทยแก้ไขกฎหมายตามประเด็นที่สหรัฐฯเรียกร้อง 7 ข้อ แต่ไทยดำเนินการตามได้ 5 ข้อ ส่วนที่เหลือ 2 ข้อ เช่น ขอให้แรงงานต่างด้าวในไทยตั้งสหภาพแรงงานนั้น ไทยไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะหากมีการประท้วงจะส่งผลกระทบต่อนายจ้าง และเศรษฐกิจของไทย โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจงให้ยูเอสทีอาร์ทราบอย่างต่อเนื่องว่าไทยดำเนินการไม่ได้ เพราะสหรัฐฯ เองก็ยังดำเนินการไม่ได้เช่นกัน แล้วเหตุใดจึงกดดันไทยเพื่อแลกกับการให้จีเอสพี


กำลังโหลดความคิดเห็น