xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กตู่"เร่งแก้ปม"จีเอสพี"…วอนหยุดซ้ำเติมสถานการณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- "บิ๊กตู่" ขอคนไทยอย่าตื่นตระหนก กรณีสหรัฐฯตัดจีเอสพี บอกยังมีเวลาคุยอีก 6 เดือน วอนอย่าพูดให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม ยันต้องเคารพกฎหมาย แต่ละประเทศ "อนุทิน" ดึงสติคนไทย สหรัฐฯตัดจีเอสพี ไม่เกี่ยวแบน 3 สารพิษ ยันไม่ทบทวนมติแน่นอน ชี้ตัดจีเอสพีไทยผลกระทบตกแก่คนอเมริกัน เพราะต้องซื้อของจากเราแพงขึ้น “พาณิชย์”เตรียมใช้โอกาสช่วงเป็นประธานประชุมอาเซียน ซัมมิต พ.ย.นี้ เจรจากับสหรัฐฯ ขอคืนสิทธิจีเอสพี พร้อมจัดทำแผนรับมือ กระจายความเสี่ยงให้สินค้าที่โดนผลกระทบ ขณะที่วงในแฉยูเอสทีอาร์กดดันให้ไทยแก้กฎหมายแรงงาน 7 ข้อ แต่ทำตามได้ 5 ข้อ อีก 2 ข้อ ยันยอมไม่ได้ เหตุสหรัฐฯ เองก็ยังทำไม่ได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณี สหรัฐฯ มีคำสั่งระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) กับสินค้าจากประเทศไทย ว่า เป็นเรื่องของสหรัฐฯ เป็นเรื่องของกฎหมายใคร ก็กฎหมายเขา ซึ่งมีการทำงานของหน่วยงานเขา ของเราก็มีของเรา จึงไม่อยากให้ไปคาดเดาว่า ตัดตรงนี้เพราะอะไร อย่างไร โดยรัฐบาลทราบมาอยู่แล้วว่าจะมีปัญหาตรงนี้ ที่ผ่านมาก็แก้ปัญหามาโดยตลอด กระทรวงพาณิชย์ก็ได้มีการเจรจาต่อรองเยอะแยะ โดยข้อสำคัญเราเจรจาอย่างเดียวไม่ได้ เราก็ต้องแก้ไขปัญหาภายในของเราด้วย โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาแรงงาน เราก็จะต้องไปดูว่าเราทำได้มากน้อยแค่ไหน บางอย่างมันมีปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ที่เกี่ยวข้องกับในประเทศของเรา ทั้งคนของเรา แรงงานของเรา แรงงานต่างด้าวในประเทศของเรา ซึ่งเราพยายามเดินหน้าเรื่องนี้ให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นวันนี้ตนคิดว่าจะคาดเดาไม่ได้ เหมือนเขาก็คาดเดาเราไม่ได้เหมือนกัน ว่าเราจะทำอะไรต่อไป จึงขึ้นอยู่กับว่า กติกามันอยู่ตรงไหน

ทั้งนี้ กติกาของเรา เราก็ทราบอยู่แล้วในหลายเรื่องด้วยกัน จึงอยากจะบอกว่าไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องตื่นตระหนก หรือว่ากล่าวให้ร้ายกันไปมา และเท่าที่กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงมา ตนคิดว่าครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จะเห็นว่ารัฐบาลก็ได้ทำมาโดยตลอด เพียงแต่ระยะเวลาที่ดำเนินการมาได้ทำหลายอย่างด้วยกัน โดยเฉพาะกฎหมายแรงงาน คือปัญหาหลักของเรา และเป็นกฎหมายของเราในประเทศของเรา ถ้าเราทำตามเขามากๆ เราจะมีปัญหาอะไรหรือเปล่ากับเราเอง เพราะฉะนั้น เราต้องลดทั้งปัญหาภายใน และภายนอกไปด้วยกัน

"เท่าที่ได้ฟังตัวเลขต่างๆ ก็เป็นจำนวนไม่มากนัก ทั้งหมด 500 กว่ารายการ เราใช้ไปประมาณ 300 กว่ารายการ อีก 100 กว่ารายการ เราก็ไม่ได้ใช้ของเขา สิ่งสำคัญที่สุด วันนี้เราต้องตื่นตัว แต่รัฐบาลตื่นอยู่แล้ว ภาคเอกชนก็ต้องตื่นตัวไปด้วย ในการพัฒนาเรื่องเหล่านี้ รวมถึงการดูแลแรงงานในประเทศไทยด้วย เพราะถือเป็นสถานประกอบการ รัฐบาลไม่ได้ลงไปข้างล่าง แต่ก็จะใช้กฎหมายในการตรวจตรา บังคับ จับกุม ก็เป็นเรื่องของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน มหาดไทย และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ก็เดินหน้าปรึกษากันในเรื่องนี้ ทุกคนต้องมาแก้ปัญหาร่วมกัน และมีการส่งผู้แทนไปเจรจามาโดยตลอดในทุกเรื่อง ช่วงที่ผ่านมาเราเจรจามาก ในหลายเรื่องที่เป็นปัญหาในอดีต เขาคุยกันหมดแล้ว แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าประเทศเขาจะยินยอมแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีเวลาอีก 6 เดือน เราก็ต้องหาวิธีการพูดคุยกันต่อไป ถ้าไม่ได้ ก็คือไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายของเขา กฎหมายใครก็ต้องกฎหมายใคร แล้วก็อย่าไปคาดเดาว่า เกี่ยวกับเรื่องนั้น เรื่องนี้ มันคนละเรื่อง อย่าให้เป็นปัญหาทางการเมืองอีกแล้วกัน และอย่าพูดให้ทุกอย่างมันเลวร้ายไปกว่าเดิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็ต้องมีอยู่ คู่ค้าสำคัญของเราเหมือนกัน จะบอกว่าอย่างนู้น อย่างนี้ไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายของเขา นโยบายของเราก็คนละอันกัน แต่จะทำอย่างไรให้ร่วมมือกันได้ หยุดเถอะเรื่องพวกนี้ ไม่เกิดประโยชน์หรอก มันจะเสียหายมากกว่าเดิม" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า ถึงอย่างไรเราก็จะยึดกฎหมายเรา ไม่โอนอ่อนผ่อนตาม ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กฎหมายเรา โอนอ่อนผ่อนตามใคร ตรงนั้นเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ หรือกฎหมายกับประเทศมหาอำนาจ เราก็ต้องดีลกันว่าจะทำอย่างไร บางอันเป็นกฎหมายพหุภาคี เกี่ยวข้องกับหลายประเทศด้วยกัน บางอันเป็นกฎหมายทวิภาคี กฎหมายเขา กฎหมายเรา จะเชื่อมโยงกันได้อย่างไร แต่ถ้าเขาตั้งกฎเกณฑ์ไว้สูง เราก็ลำบากหน่อย เพราะเรากำลังพัฒนาเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งเรื่องนี้โดนกันหลายประเทศ อย่างอินโดนีเซีย ก็ต้องดูว่าเราเสียประโยชน์เท่าไร เราเสียภาษีเพิ่มขึ้นมาประมาณ 50 ล้านเหรียญ

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หากพบกับผู้นำสหรัฐฯ หรือผู้แทน ตนต้องหยิบยกเรื่องนี้มาคุยกันอยู่แล้ว อาจจะในเวทีด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มัน 9 ปีมาแล้ว ซึ่งสิทธิประโยชน์ทุกอย่างเราก็ต้องมาดู เอามาทบทวนหมด เพราะทุกอย่างเรากำลังโตขึ้น เมื่อโตขึ้น ก็มีตัดสิทธิพิเศษเหล่านี้ เช่นประเทศกำลังพัฒนา ประเทศที่ยังไม่ได้พัฒนา เขาให้สิทธิตรงนั้นมา 9 ปีแล้ว ถ้าเขาตัดสิทธิอย่างนี้ แสดงว่าเราโตเกินไปหรือไม่ โตเร็วแล้วใช่ไหม รายได้ต่อหัวของประชากรสูงขึ้น ใช่หรือไม่ และต้องดูจีดีพี ของเราด้วย เพราะเขาดูตรงนี้

"ผมคิดว่าเราคุยกันได้ อะไรที่เป็นสิทธิประโยชน์ วันนี้เขาคืนมา 7 อย่างไม่ใช่หรือ ของเก่ามีตั้ง 500 กว่ารายการ เราใช้ไปแค่ 300 กว่ารายการ ส่วนที่เหลือไม่ได้ใช้ แล้วมูลค่าเหล่านี้ก็ไม่มากนัก แต่ข้อสำคัญต้องไปดูว่าสินค้ามีความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงปานกลาง ความเสี่ยงน้อย จะไปแก้กันอย่างไร" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

"อนุทิน"ยันไม่ทบทวนแบนสารพิษ

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีสหรัฐฯ ตัดจีเอสพี เกี่ยวพันกับการแบน 3 สารพิษ หรือไม่ว่า กระทรวงสาธารณสุข ยังคงยืนยันที่จะไม่มีมติทบทวนในสิ่งที่ยกเลิกไปแล้ว และยืนยันว่าสารพิษ 3 ชนิด ไม่มีประโยชน์ใดๆ เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร การที่สหรัฐฯระงับจีเอสพี มันเป็นสิทธิของเขา ซึ่งในคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขียนชัดเจนว่า ยังไม่พอใจในเรื่องแรงงานของไทยที่ยังไม่มีมาตรฐาน ต้องไปดูว่า จริงหรือไม่ หากไม่จริง ก็ต้องโต้แย้งไป ส่วนผลกระทบต้องมาดูว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน เราเห็นจำนวนตัวเลขที่ออกมา อย่าเพิ่งไปตื่นเต้นตกใจว่า ตายแล้วประเทศไทยตายแน่ แต่ต้องมีความเชื่อมั่นในสินค้าไทย เชื่อมั่นในความต้องการของตลาดโลก ขณะเดียวกัน หากกลัวว่าจะขาดดุลการค้า เราก็ลดการนำเข้าสินค้านั้น จากประเทศนั้นๆ จะทำให้ไม่ขาดดุลการค้า

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้มีการบิดเบือนว่า สาเหตุที่สหรัฐฯระงับ จีเอสพี เพราะไทยยกเลิกสารพิษ 3 ชนิด นายอนุทิน กล่าวว่า แน่นอน คนที่เสียหาย จะบิดเบือนทุกเรื่อง โกหกทุกเรื่อง พาลทุกเรื่อง เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ก็เอามารวมกัน แต่เราต้องนิ่ง และต้องมั่นใจว่าสิ่งที่ทำถูกต้องแล้ว ต้องเดินไปบนถนนของเรา ให้รู้ไปสิว่าสินค้าไทยไม่ดี

"จริงๆ การระงับสิทธิจีเอสพี นี้ สุดท้ายคนที่จะได้รับผลกระทบ ตัวคนตัดเอง ก็ไม่พ้น เพราะเขาต้องซื้อของเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากภาษีเพิ่มขึ้น เดี๋ยวเขาคงโวยวายกันเองในบ้านของเขาน่ะแหละ เราส่งของดีไปให้เขา ถ้าเขาจะตัดสิทธิ ก็เท่ากับว่าการบริโภคอาหาร หรือต้นทุนของสินค้าที่ถูกตัดสิทธิไป มันจะเพิ่มมากขึ้นด้วย ของเราดีหรือเปล่าล่ะ ถ้าของดีก็ไม่ต้องไปกลัว" นายอนุทิน กล่าว

ฉวยจังหวะอาเซียนซัมมิตถกสหรัฐฯ

นายกีรติ รัชโน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทยชั่วคราว มีผลในอีก 6 เดือนข้างหน้าว่า กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอคืนสิทธิโดยเร็วที่สุด และไทยจะไม่ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ากลับคืน โดยคาดว่าจะหารือกับสหรัฐฯ ในช่วงไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียน ซัมมิต ในเดือนพ.ย.2562 เพราะสหรัฐฯ จะเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมกับอาเซียน รวมทั้งจะใช้เวทีเจรจาภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (ทิฟา) ด้วย

"ไทยจะไม่ตอบโต้ทางการค้า ต้องคุยกันด้วยเหตุด้วยผล เพื่อให้ได้มาซึ่งผลบวกของประเทศ โดยในช่วงประชุมอาเซียนซัมมิต อาจพอมีเวทีคุยกันได้เบื้องต้น ซึ่งสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แจ้งมาแล้วว่าจะให้ไทยจัดคณะไปคุยกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ก็ได้ หรือจะให้เขามาคุยที่ไทยก็ได้ ซึ่งจะเจรจาทำความเข้าใจให้ดีที่สุด เพราะเรื่องนี้มีหลายมิติที่ต้องดู ไม่ใช่เรื่องการค้าอย่างเดียว มีประเด็นแรงงานด้วย"

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือน ของปี 2562 (ม.ค.-ส.ค.) ไทยใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ มูลค่า 3,234.38 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นการใช้สิทธิ 66.68% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่สหรัฐฯ ให้สิทธิไทย ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 2561 มีมูลค่าการใช้สิทธิ 2,858.82 ล้านเหรียญสหรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตัดจีเอสพีครั้งนี้ เป็นเรื่องของสิทธิแรงงานเพียงอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมา ในช่วงที่ไทยแก้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ยูเอสทีอาร์ได้พยายามกดดันให้ไทยแก้ไขกฎหมายตามประเด็นที่สหรัฐฯเรียกร้อง 7 ข้อ แต่ไทยดำเนินการตามได้ 5 ข้อ ส่วนที่ 2 ข้อ เช่น ขอให้แรงงานต่างด้าวในไทยตั้งสหภาพแรงงานนั้น ไทยไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะหากมีการประท้วง จะส่งผลกระทบต่อนายจ้าง และเศรษฐกิจของไทย โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงให้ยูเอสทีอาร์ทราบอย่างต่อเนื่องว่า ไทยดำเนินการไม่ได้ เพราะสหรัฐฯเองก็ยังดำเนินการไม่ได้เช่นกัน แล้วเหตุใดจึงกดดันไทยเพื่อแลกกับการให้จีเอสพี

เล็งหาตลาดใหม่ให้สินค้าถูกหั่นจีเอสพี

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การตัดสิทธิจีเอสพีจะยังคงไม่กระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยที่ส่งไปสหรัฐฯ ในปี 2562 เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่มีคำสั่งซื้อไว้ล่วงหน้าและทยอยส่งมอบไปแล้ว และคาดว่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ที่ผู้นำเข้าสหรัฐฯ จะมีการเร่งนำเข้าเพิ่มมากขึ้น ก่อนมาตรการตัดสิทธิจะมีผลบังคับใช้ โดยสินค้าที่จะได้รับผลดี เช่น กลุ่มสินค้าอาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฐานการผลิตในไทย

ขณะเดียวกัน จะได้เตรียมแผนกระจายความเสี่ยง โดยหาตลาดส่งออกให้หลากหลายและแสวงหาตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่โดนผลกระทบ โดยกรมฯ ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ทำหน้าที่เป็นเซลล์แมน เร่งหาตลาดและสำรวจความต้องการของตลาดแล้ว และยังมีแผนตั้งแต่ขณะนี้จนถึงช่วงกลางปี 2563 ที่จะบุกตลาดและกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้าไทยในประเทศเป้าหมายทั่วโลก เช่น อินเดีย บาห์เรนและกาตาร์ แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น จีน สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป ตุรกี รัสเซีย CLMV ศรีลังกา บังคลาเทศ และอินโดนีเซีย เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น