รมว.สธ.ย้ำใช้เงินงบฯ ต้องให้ ปชช.มีส่วนร่วมมากที่สุด ดัน 2 โครงการแรก เพิ่มค่าตอบแทน อสม.500 บาท เพิ่มศักยภาพ รพ.สต.ให้งบ 2 แสนอัพ ขอให้มั่นใจเงินกู้ใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งการแพทย์ เพื่อสุขภาพที่ดีคนไทย
วันนี้ (1 มิ.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการบริหารงบประมาณ 45,000 ล้านบาท ในส่วนที่จะต้องนำไปสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสาธารณสุขไทย ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมประชุมหารือกับทุกหน่วยงาน ทุกองค์กรที่ทำงานด้านสาธารณสุข และการแพทย์ เพื่อให้การใช้งบประมาณจำนวนนี้ เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด และจะมีกระบวนการตรวจสอบการใช้งบประมาณทุกรายการที่มีการใช้จ่ายว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่ ทุกคนตระหนักดีว่าเงินที่จะนำไปใช้นี้ เป็นเงินกู้ที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ดังนั้น การจะใช้เงินทุกบาท ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมนำเสนอมากที่สุด เพื่อให้การใช้เงินเป็นไปตามความต้องการของประชาชน และประชาชนเป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
“2 โครงการแรกที่ผมได้ให้นโยบายแก่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คือ 1. เพิ่มค่าตอบแทนการทำงานให้แก่ อสม.ท่านละ 500 บาทต่อคนต่อเดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จนถึงกันยายน 2564 เพื่อเป็นกำลังใจและช่วยเหลือค่าเดินทาง ค่าปฏิบัติงานให้ อสม.ทุกคนซึ่งเป็นจิตอาสาอยู่แล้ว สามารถทำงานป้องกันและควบคุมโรคได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 2. เพิ่มศักยภาพ ขีดความสามารถของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. ด้วยการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ และเวชภัณฑ์ สำหรับให้บริการประชาชน เพื่อที่ประชาชนจะใช้บริการรพ.สต.ได้มากขึ้น และลดความแออัดที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ลดความเสี่ยงทั้งการแพร่เชื้อ และการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้ เพราะโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ซึ่งจะให้ รพ.สต.ทุกแห่ง โดย สสจ. หมออนามัย และ อสม. ร่วมกันพิจารณาว่า รพ.สต.แต่ละแห่งมีความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์อะไรบ้างที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่มากที่สุด เป็นการกำหนดความต้องการของพื้นที่เอง ซึ่งจะให้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท ต่อ 1 รพ.สต.ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้บริการของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของ รพ.สต.แต่ละแห่ง”
นายอนุทิน กล่าวว่า 3-4 เดือนที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีกว่าที่มีการประเมินสถานการณ์กันไว้ นอกเหนือจากความร่วมมือของประชาชนส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเพราะการทำงานแบบเอาใจใส่และติดตามผู้มีความเสี่ยงให้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรค และกักตัวอย่างเข้มแข็งของ อสม. และหมออนามัย ที่ประจำอยู่ที่ รพ.สต.ซึ่งการควบคุมได้ดีในระดับหมู่บ้าน ตำบล ส่งผลให้ลดภาระของโรงพยาบาล และลดจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยหนัก ได้มาก ดังนั้น การสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขในชุมชนจึงเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่องและทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นซึ่งจะเป็นการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากโรคระบาดโควิด-19 และโรคระบาดอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
สำหรับการใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาศักยภาพทางด้านการแพทย์ ยา และวัคซีน เพื่อให้บริการรักษาผู้ป่วยนั้น ระบบการแพทย์ของประเทศไทยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเราทำได้ดีมาก จากผู้ป่วยมากกว่า 1,000 คนลดลงเหลือไม่เกิน 100 คนภายในเวลา 2 เดือน และยังตรึงสถานการณ์ไว้ได้ แต่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา ประมาทไม่ได้ การจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ ในจำนวนที่เพียงพอต่อความต้องการของแพทย์ เป็นเรื่องที่จำเป็น การสร้างความมั่นคงทางเวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย และยา เป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ สำคัญที่สุดคือ การพัฒนาวัคซีน สิ่งต่างๆ เหล่านี้คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองของกระทรวงสาธารณสุข กำลังดำเนินการกันอยู่
การใช้งบประมาณจำนวนนี้จะต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดพฤติกรรมใหม่ หรือ New Normal ของการใช้บริการของสถานพยาบาล ของประชาชนด้วย จะต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา และสร้างบริการใหม่ๆ ให้ประชาชนเข้าถึงการแพทย์ และเข้าถึงยาได้โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อย หรือเพียงแค่ติดตามอาการ ซึ่งจะมีการประสานงานกับกระทรวงดีอี ร่วมกันพัฒนางานบริการประชาชน มีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ การติดเชื้อที่โรงพยาบาลให้ได้มากที่สุด
“กระทรวงสาธารณสุขจะรายงานการพิจารณางบประมาณ และการใช้เงินจำนวนนี้ให้ประชาชนทราบ พร้อมใทั้งรายงานความคืบหน้าการทำงาน และประโยชน์ที่ประชาชนได้รับทราบเป็นระยะๆ โดยจะให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ร่วมตรวจสอบและร่วมประเมินผลการทำงานอีกทางหนึ่งด้วย ขอให้มั่นใจว่าเงินกู้ 45,000 ล้านบาทจะถูกใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งของการแพทย์ และระบบสาธารณสุขประเทศไทยให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคน” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าว