xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแบบฟอร์มโครงการขอเงินกู้ 4 แสนล้าน ฟื้น ศก.จากโควิด-19 อัดเงื่อนไขท้องถิ่นอธิบายละเอียดยิบ หลัง มท.1 กำชับต้องโปร่งใสไร้ทุจริต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดแบบฟอร์ม “โครงการเงินกู้ 4 แสนล้าน” ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากไวรัสโควิด-19 ทั่วประเทศ แจงขั้นตอนเสนอสารพัดโครงการ เผยแบบฟอร์มให้อธิบายละเอียดยิบทุกขั้นตอน หลัง มท.1 กำชับต้องโปร่งใสไร้ทุจริตทุกรูปแบบ ทุกโครงการต้องผ่านบอร์ด ก.บ.จ.(ระดับจังหวัด) ก่อนชงทีมกลั่นกรองฯ ด้าน “ปลัดฉิ่ง” เวียนเงื่อนไขโครงการระดับ อบต.ให้ผู้ว่าฯ พิจารณาข้อเสนอจากสภา อบต.เพิ่มเติมในแผนพัฒนาท้องถิ่นก่อน ส่วนระดับอำเภอชงเข้า ก.บ.จ.ให้สอดคล้องวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก. ก่อนกำหนดหน่วยรับงบตามภารกิจ

วันนี้ (1 มิ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า จากวานนี้ (31 พ.ค.) กระทรวงมหาดไทยจัดประชุมแนวทางการเสนอโครงการภายใต้กรอบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) วงเงิน 4 แสนล้านบาท ผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และส่วนราชการในสังกัดทั่วประเทศ โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้กำชับว่าต้องมีกระบวนการทำงานที่โปร่งใส ตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอโครงการ ผู้รับผิดชอบโครงการ และหน่วยงานกำกับ ไม่ให้เกิดการทุจริตทุกรูปแบบ

โดยทุกหน่วยงานในพื้นที่ที่มีแผนงานโครงการสร้างผลิตภาพ (Productivities) ต้องเสนอโครงการฯ ผ่านกลไกคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) เพื่อไม่ให้เกิดการหาประโยชน์ และมีขั้นตอนที่โปร่งใส เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถตรวจสอบได้ง่าย ก่อนเสนอเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ตามกรอบที่กำหนด

“ทุกโครงการที่เสนอขอรับงบประมาณต้องเป็นโครงการที่เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยต้องจัดทำเป็นสรุปโครงการ (Project brief) ผ่านที่ประชุม ก.บ.จ. และเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองตามขั้นตอน”

ล่าสุด นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เวียนหนังสือแนวทางการเสนอโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยเฉพาะแผนงาน/โครงการ กลุ่มที่ 3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังผู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หลังจากได้รับการสอบถามการเสนอโครงการฯ กรณีการเสนอโครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และอำเภอ ดังนี้

กรณี อปท.เสนอโครงการ จะต้องเป็นโครงการที่อยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่นแล้วหรือไม่ โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้แจ้งการเสนอโครงการเบื้องต้น (Project Brief) ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่เป็นโครงการที่ยังไม่ได้อยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) รับพิจารณาข้อเสนอโครงการฯ ของ อบต.ที่อยู่ระหว่างการ พิจารณาของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

“โดยมีเงื่อนไขว่า โครงการดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา อบต.ให้เพิ่มเติมในแผนพัฒนาท้องถิ่นก่อน และเมื่อผ่านสภาแล้วให้แจ้ง ก.บ.จ.ทราบด้วย หากปรากฏว่าโครงการใดที่คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา อบต. ก็ให้นำรายการนั้นออกจากบัญชีโครงการ”

ส่วนกรณี “อำเภอ” เป็นหน่วยเสนอโครงการ การจัดทำข้อเสนอโครงการของอำเภอให้ ก.บ.จ.พิจารณาว่าโครงการของอำเภอ มีความสอดคล้องตรงตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก.หรือไม่ หาก ก.บ.จ.เห็นว่าถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ให้พิจารณากำหนดหน่วยรับงบประมาณภายในจังหวัดที่มีภารกิจ อำนาจหน้าที่ตรงกับกิจกรรมที่เสนอเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การขอตั้งงบประมาณ และตามภารกิจ อำนาจหน้าที่ของหน่วยรับงบประมาณต่อไป

ในคราวเดียวกับกระทรวงมหาดไทยยังจัดส่งรูปแบบข้อเสนอโครงการที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯจัดทำขึ้น ประกอบด้วย รูปแบบข้อเสนอโครงการ กลุ่มที่ 1 (ข้อเสนอโครงการ ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข) ,รูปแบบข้อเสนอโครงการ กลุ่มที่ 1 โครงการย่อย (ข้อเสนอระดับโครงการย่อยภายใต้ข้อเสนอโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการบัญชีแนบตามบัญชีท้าย พ.ร.ก.)

รูปแบบข้อเสนอโครงการ กลุ่มที่ 2 (ข้อเสนอโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการฯ ตามบัญชีท้าย พ.ร.ก.)

รูปแบบข้อเสนอโครงการ กลุ่มที่ 3 (ข้อเสนอโครงการ ภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมตามบัญชีท้าย พ.ร.ก.) และรูปแบบข้อเสนอโครงการ กลุ่มที่ 3 โครงการย่อย (ข้อเสนอระดับโครงการย่อยภายใต้ข้อเสนอโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการบัญชีแนบตามบัญชีท้าย พ.ร.ก.)

ขณะที่รายละเอียดแบบฟอร์มทั้ง 5 รูปแบบ คล้ายคลึงกันที่จะต้องเริ่มส่งโครงการมายังจังหวัดและคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ภายในวันที่ 5 มิ.ย. ตัวอย่างรูปแบบข้อเสนอโครงการ กลุ่มที่ 3

ข้อ 1-8 ให้แจ้งรายชื่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบ (หน่วยรับงบประมาณ) (กรม/จังหวัด/หน่วยงานรัฐ), ชื่อ (แผนงาน/โครงการ) พื้นที่ดำเนินการ

ให้อธิบายหลักการและเหตุผล โดยอาจระบุที่มา (มติ ครม. นโยบายรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจ แผนพัฒนาจังหวัด) สภาพปัญหา ความต้องการและความจำเป็นเร่งด่วนที่ทำให้ต้องเร่งดำเนินการและไม่สามารถใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ รวมถึงวัตถุประสงค์

ผลที่คาดว่าจะได้รับ (ควรมีความเกี่ยวข้องหรือเป็นเหตุเป็นผลโดยตรงต่อวัตถุประสงค์โครงการ สามารถวัดค่าในเชิงปริมาณหรือคุณภาพได้ มีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและมีการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง) ผลผลิตของโครงการและตัวชี้วัด ผลผลิตของโครงการ และตัวชี้วัด

นอกจากนี้ยังต้องมีผลลัพธ์ของโครงการและตัวชี้วัด เช่น เป้าหมายและตัวชี้วัด ต่อปีงบประมาณ 63 ปีงบประมาณ 64 ปีงบประมาณ 65 เช่น การเพิ่มรายได้ การลดรายจ่าย การลดต้นทุน การเพิ่มการจ้างงาน/รักษาการจ้างงาน และยังให้อธิบายผลสัมฤทธิ์/ผลประโยชน์และความคุ้มค่าของโครงการ ยังให้แจ้งระยะเวลาดำเนินงาน ความสอดคล้องกับเป้าหมาย/วัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก.ความสอดคล้องกับเป้าหมาย/วัตถุประสงค์ของแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้ พ.ร.ก. ความสอดคล้องกับเป้าหมาย/วัตถุประสงค์ของแผนงานภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ โดยในข้อ 9.นี้ ให้หน่วยงานของบฯ อธิบายให้เห็นว่า โครงการที่เสนอสามารถตอบสนองวัตถุประสงค์แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้ พ.ร.ก.อย่างไร

แบบฟอร์มในข้อ 10-15 ยังให้กำหนดวงเงินงบประมาณและรายละเอียดประมาณการค่าใช้จ่ายรวมของแผนงาน/โครงการ (หน่วย : ล้านบาท) กรณีที่การดำเนินแผนงาน/โครงการจำเป็นต้องใช้จ่ายจากแหล่งเงินอื่นๆ ที่นอกเหนือเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนด โดยให้ ระบุแหล่งที่มาและความพร้อมของแหล่งเงินดังกล่าวให้ชัดเจนด้วย เช่น เงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว ค่าตอบแทนพนักงานราชการ ค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าสาธารณูปโภค ค่าวัสดุ ค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง เงินอุดหนุน และรายจ่ายอื่น ซึ่งยังให้อธิบายสมมติฐานและวิธีการที่ใช้ในการประมาณการค่าใช้จ่าย

“หากมีความจำเป็นต้องใช้วัสดุจากต่างประเทศ โปรดระบุเหตุผลความจำเป็น พร้อมทั้งระบุประมาณการค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ และคาดการณ์ช่วงเวลาการนำเข้า” แบบฟอร์มฉบับนี้ระบุไว้

แบบฟอร์ม ยังให้แจ้ง สถานะของโครงการ ความพร้อมของแบบรูปรายการ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งรายงาน EIA / รายงาน IEE ผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนแล้วหรือไม่ หรือ อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานฯ และ/หรือ อยู่ระหว่างเสนอตามขั้น ยังรวมถึงขอบเขตการดำเนินงาน กลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการดำเนินแผนงาน/โครงการโดยตรง โดยให้ระบุกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน อาทิ ประชาชนผู้ตกงาน ผู้ประกอบการกลุ่มท่องเที่ยว

ยังให้กรอกแผนการดำเนินงาน แผนการใช้จ่ายเงิน (รายเดือน) (หน่วย : ล้านบาท) ที่แสดงให้เห็นถึงแผนการเบิกจ่ายตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดการดำเนินแผนงาน/โครงการ โดยในกรณีที่การดำเนินแผนงาน/โครงการจำเป็นต้องใช้จ่ายจากแหล่งเงินอื่นๆ ที่นอกเหนือเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนด ให้แยกแผนการใช้จ่ายเงินระหว่างเงินกู้ภายใต้ พระราชกำหนดและแหล่งเงินอื่นๆ ให้ชัดเจนด้วย ซึ่งให้ประมาณการแผนการใช้จ่ายโครงการ/แผนงาน เป็นรายเดือน เมื่อโครงการ/แผนงาน ได้รับอนุมัติจาก ครม. ให้หน่วยงานรับผิดชอบจัดส่งแผนการใช้จ่ายตามรูปแบบที่กำหนด

ขณะที่ในข้อ 17 การดำเนินโครงการจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้ภาครัฐยังคงขีดความสามารถในการชำระหนี้ อาทิ ภาษีเงินได้ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นประมาณ xxx ล้านบาท อันเป็นผลการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นตามที่กำหนดไว้ในผลประโยชน์โครงการ

ส่วนข้อ 18 และ ข้อ 19 เป็นแนวทางการสร้างความโปร่งใสและป้องกันการทุจริตในการดำเนินโครงการ โดยให้อธิบายให้เห็นถึงกลไกการสร้างความโปร่งใสและป้องกันการทุจริต และเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของโครงการและแผนบริหารจัดการความเสี่ยงของโครงการ โดยตรงนี้ให้ “ระบุความเสี่ยงที่ชัดเจน”

ขณะที่ท้ายสุดของแบบฟอร์มให้หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่า ลงนาม “รับรอง” ว่าข้อมูลของโครงการถูกต้องและได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองของหน่วยงาน รวมทั้ง ขอยืนยันว่าสามารถดำเนินโครงการได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

โดยให้ลงนาม “ผู้รับผิดชอบแผนงาน/โครงการ” จำนวน 2 ราย เป็นอย่างต่ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น